สหรัฐฯ - จีนเปิดศึกปะทะคารมกันอีกยก คราวนี้ “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเริ่มต้นด้วยข้อกล่าวหาฉกรรจ์ระหว่างเยือนแซมเบียว่า รัฐบาลปักกิ่งคืออุปสรรคใหญ่สุดของการลดภาระหนี้สินชาติกำลังพัฒนา แต่ถูกสถานทูตจีนประจำกรุงลูซากา ย้อนให้กลับไปแก้ปัญหาเพดานหนี้ของรัฐบาลวอชิงตันเสียก่อน
หลังจากเพิ่งเจรจาหารือฉันมิตรกับรองนายกรัฐมนตรีหลิว เฮ่อ แห่งแดนมังกรที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ไม่กี่วัน นางเยลเลน ก็ออกเดินสายเยือน 3 ชาติในทวีปแอฟริกานาน 10 วัน เพื่อส่งเสริมการลงทุนและความสัมพันธ์ในทันที
ชาติหนึ่งในการเยือนคือแซมเบีย ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นถิ่นอิทธิพลเงินตราของจีน เนื่องจากที่ผ่านมา จีนให้กู้ยืมเงินจำนวนหลายสิบล้านดอลลาร์สำหรับการพัฒนาประเทศ โดยหนี้ต่างชาติของแซมเบียกว่า 1 ใน 3 มาจากจีน ภาระหนี้สินที่หนักอึ้งทำให้แซมเบียกลายเป็นชาติแรกในยุคโควิด-19 ระบาดของแอฟริกา ที่ผิดนัดชำระหนี้พันธบัตร จำนวน 42.5 ล้านดอลลาร์ในเดือน พ.ย.2563
นางเยลเลน กล่าวกับนายซิตุมเบโก มูโซโกตวาเน (Situmbeko Musokotwane) รัฐมนตรีคลังของแซมเบีย ที่กรุงลูซากา เมื่อวันจันทร์ (23 ม.ค.) ว่า การสรุปข้อตกลงการปรับโครงสร้างหนี้ของแซมเบียได้ทันเวลาร่วมกับบรรดาเจ้าหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีนนั้นคือภารกิจสำคัญอันดับแรกของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และเธอเชื่อว่า จะมีความคืบหน้าในไม่ช้า เพราะเธอเป็นผู้หยิบยกเรื่องนี้มาหารือเป็นพิเศษกับเจ้าหน้าที่จีนในเมืองซูริค เมื่อสัปดาห์ก่อนด้วยตนเอง โดยขอให้อีกฝ่ายร่วมมือเพื่อเร่งหาทางออก
อย่างไรก็ตาม การเจรจากับจีนที่นางเยลเลน กล่าวว่า ดำเนินไปอย่างสร้างสรรค์นั้น ก็เกิดรอยด่างขึ้นจนได้ เมื่อเธอยังคงวิพากษ์วิจารณ์ปักกิ่งไม่ยั้งระหว่างการเยือนครั้งนี้ว่า เป็นอุปสรรคใหญ่สุดที่ขัดขวางความคืบหน้า โดยนางเยลเลน กล่าวหาจีนอย่างไม่ลดละเช่นนี้มาหลายครั้งหลายหนแล้ว
ทั้งนี้ จีนเป็นชาติผู้ปล่อยเงินกู้ให้แก่ชาติกำลังพัฒนารายใหญ่สุดในโลก หนี้สินที่พอกพูนกลายเป็นกับดักหนี้สำหรับบางชาติ ดังนั้น ชาติจี-20 จึงจัดตั้งกรอบการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติเจ้าหนี้ร่ำรวย หรือปารีสคลับ กับจีน เพื่อพยายามปรับโครงสร้างหนี้ของชาติรายได้น้อย และจีนถูกมองว่าไม่ยอมให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลปักกิ่งยืนกรานว่า จะให้จีนรับผิดชอบคนเดียวไม่ได้ แต่ต้องให้นักลงทุนต่างชาติซึ่งเป็นเจ้าหนี้เข้าร่วม และธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคีต้องตัดลดหนี้ด้วย ข้อเสนอของจีนถูกสหรัฐฯ แซมเบีย และชาติอื่นๆ ปฏิเสธ
แน่นอนว่า สถานทูตจีนประจำกรุงลูซากา ไม่ยอมให้นางเยลเลน ตีหัวแล้วหนีเข้าบ้านไปเฉยๆ จึงออกมาตอบโต้ทันควัน โดยพูดถึงเรื่องที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เริ่มงัดมาตรการพิเศษออกมาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาเพดานหนี้ที่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ หลังจากมีการกู้ยืมจนชนเพดานที่กำหนด
สถานทูตจีนตอกกลับว่า หากสมมตินะว่า นางเยลเลน พูดเกี่ยวกับเรื่องหนี้สินได้อย่างถูกต้อง ฉะนั้นการแก้ปัญหาหนี้ในประเทศของสหรัฐฯ เองก็ย่อมเป็นความหวังที่ดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาหนี้นอกสหรัฐฯ เพราะนางเยลเลน รู้เรื่องดี ซึ่งรวมทั้งรู้เรื่องความสามารถอย่างมืออาชีพของเธอและความสามารถของทีมงาน
นอกจากนั้น ยังระบุอีกว่า คุณูปการที่ยิ่งใหญ่สุดที่สหรัฐฯ สามารถทำให้กับปัญหาหนี้นอกสหรัฐฯ ได้คือการดำเนินนโยบายการเงินอย่างรับผิดชอบ และหยุดบ่อนทำลายความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้ของชาติอธิปไตยอื่นๆ
ทั้งนี้ การใช้มาตรการพิเศษของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เพื่อให้ได้มีเวลาหายใจหายคอต่อไปอีกสัก 2-3 เดือน ก่อนที่เงินสดจะหมดลง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า ในที่สุดแล้วสภาคองเกรสจะยินยอมอนุมัติให้ขยายเพดานเงินกู้ เพื่อไม่ให้รัฐบาลต้องผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะก่อความเสียหายต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และระบบการเงินโลก
ปัจจุบัน จีนเป็นเจ้าหนี้สหรัฐฯ ในรูปของการถือครองพันธบัตรราว 8 แสน 7 หมื่น 7 ล้านดอลลาร์ จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือน พ.ย.2565 โดยเป็นรองญี่ปุ่น ซึ่งถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มากที่สุด
การปะทะคารมดุเดือดครั้งนี้สวนทางกับบรรยากาศความตึงเครียดที่เริ่มผ่อนคลายระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งสอง จากการพบปะตัวต่อตัวกันครั้งแรกในรอบหลายปีระหว่างประธานาธิบดี โจ ไบเดน และประธานาธิบดี สี จิ้นผิง บนเวทีซัมมิตจี-20 ที่บาหลีเมื่อเดือน พ.ย.ปีก่อน
ข้อมูล - รอยเตอร์/บลูมเบิร์ก