ในโอกาสร่วมฉลอง "เทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ" ที่เรียกว่า ชุนเจี๋ย (春节) หรือ ตรุษจีนที่จะมาถึงนี้ "มุมจีน" ขออำนวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่าน รวมถึงครอบครัว สุข สมปรารถนา และมั่งมีศรีสุขตลอดปีและตลอดไป …
"ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้" (新正如意, 新年发财)
พร้อมกันนี้ ขอถือโอกาสนำเกร็ดความรู้ประเพณีของเทศกาลปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของจีน กลับมาบอกเล่าความหมายอีกครั้ง
'มาฉลองตรุษจีนกันเถอะ'
'ตรุษจีน' ในจีนมีชื่อเรียกว่า ชุนเจี๋ย (春节) หมายถึง เทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ ถือเป็นประเพณีเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของชนชาวฮั่น และยังถือเป็นการเริ่มต้นฤดูเพาะปลูกด้วย โดยกำหนดให้ วันที่ 1 เดือน 1 ในปฏิทินจันทรคติ เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่
ตามประเพณีดั้งเดิม การฉลองตรุษจีนเริ่มใน วันที่ 23 หรือ 24 ของเดือน 12 ( 腊月 二十三 ) ซึ่งจีนเรียกเดือน 12 ในปฏิทินจันทรคติ ว่า “ล่าเย่ว์” (腊月) ในวันที่ 23 ของเดือนล่าเย่ว์นี้ ถือเป็นเทศกาล“ตรุษจีนเล็ก” หรือ “เสี่ยวเหนียน” (小年)
ในประเทศจีน ชาวจีนในภาคเหนือส่วนใหญ่มักฉลองตรุษจีนเล็กกันในวันที่ 23 เดือน 12 ส่วนชาวจีนภาคใต้มักฉลองวันแรกของตรุษจีนเล็กในวันที่ 24 เดือน 12 ...ทำไมจีนภาคเหนือกับจีนภาคใต้ฉลองตรุษจีนเล็กไม่ตรงกัน
ในบันทึกราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1127) ระบุวันเทศกาลตรุษจีนเล็ก คือ วันที่ 24 เดือน 12 บันทึกนี้เป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวันตรุษจีนเล็กฉบับเก่าแก่ที่สุด
ต่อมา วันเริ่มต้นเทศกาลตรุษจีนเล็กเปลี่ยนแปลงไปในรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิง เนื่องจากในวันที่ 23 เดือน 12 เป็นวันที่จักรพรรดิต้องไปทำพิธีสักการะที่พระตำหนักคุนหนิงกง หรือพระที่นั่งโลกาสันติสุข (坤宁宫) เพื่อประหยัดงบประมาณ ฮ่องเต้หย่งเจิ้งจึงทำพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้าเตาซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติใน เทศกาลตรุษจีนเล็กไปเสียเลย ในยุคต่อๆ มาก็กลายเป็นธรรมปฏิบัติของประชาชนทั่วไปในที่สุด
ชาวจีนที่ยึดถือประเพณีดั้งเดิมจะสาละวนกับธรรมเนียมปฏิบัติตามปฏิทินจันทรคติในแต่ละวันเพื่อเตรียมฉลองตรุษจีน ดังนี้
‘วันที่ 23 เดือน 12’ (腊月二十三, 糖瓜粘, 祭灶王 ) วันเซ่นไหว้ส่งเทพเจ้าเตา (灶王爷) กลับสวรรค์... ชาวจีนทำหรือจัดหาขนมแป้งเหนียวรสหวานคล้ายขนมตังเมมาเซ่นไหว้เทพเจ้าเตา ผู้ลงมาประจำอยู่ในโลกมนุษย์หนึ่งปีเพื่อเคยสอดส่องพฤติกรรมผู้คนตามครัวเรือน โดยมีความเชื่อว่าขนมหวานจะติดปากเทพเจ้า กลายเป็นเทพเจ้าปากหวานกลับสู่สวรรค์ไปรายงานแต่เรื่องดีๆ ของสมาชิก
วันที่ 24 เดือน 12(腊月二十四, 扫房子 ) ทำความสะอาดบ้านเรือน...ปัดกวาดชำระล้างสิ่งสกปรกที่เปรียบเสมือนสิ่งไม่ดีไม่งามเรื่องเก่ามัวหมองออกจากบ้าน เตรียมบ้านเรือนสะอาดๆ ไว้ต้อนรับสิ่งดีๆ เข้ามาในบ้าน และเปิดทางโชคลาภเงินทองไหลมาเทมาสะดวก
วันที่ 25 เดือน 12 (腊月二十五,磨豆腐) โม่ถั่วทำเต้าหู้ ...ชาวจีนโม่ถั่วทำเต้าหู้สำหรับกินในวันตรุษจีน เป็นอาหารประจำเทศกาล เนื่องจากเต้าหู้ ในภาษาจีนกลาง ออกเสียง โต้วฝู่ (豆腐/doufu) เสียง ‘ฝู่’ คล้ายเสียง ‘ฝู’ (福) ที่หมายถึง โชคดีมีสุข
วันที่ 26 เดือน 12 (腊月二十六,去买肉) ไปซื้อเนื้อ...เมื่อใกล้วันตรุษจีน ชาวจีนจะเริ่มไปตลาดซื้อเนื้อสัตว์และวัถตุดิบต่างๆ สำหรับปรุงอาหารกินในวันตรุษจีน
วันที่ 27 เดือน 12 (腊月二十七, 宰年鸡) เชือดไก่...ตามประเพณีดั้งเดิมเชือดไก่ตัวผู้ เตรียมไว้ เพราะช่วงวันปีใหม่ห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
วันที่ 28 เดือน 12 (腊月二十八, 把面发) นวดหรือหมักแป้ง... ชาวจีนตระเตรียมพวกแป้งและข้าวสำหรับปรุงอาหารกินฉลองในช่วงตรุษจีน
วันที่ 29 เดือน 12 (腊月二十九,蒸馒头) นึ่งหมั่นโถว... วันก่อนวันสิ้นปีนี้จีนเรียก “เสี่ยวฉูซี” (小除夕) ในวันนี้ชาวจีนนำแป้งที่เตรียมไว้มาทำอาหาร ชาวจีนในภาคเหนือจะทำหมั่นโถว ซาลาเปา เกี๊ยว เป็นต้น ส่วนชาวจีนภาคใต้ทำขนมเข่ง สำหรับกินในครอบครัว ในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
วันที่ 30 เดือน 12 (腊月三十,熬一宿) วันสิ้นปี ..จีนเรียก ฉูซี (除夕) หรือที่ไทยเรียกกันว่า วันไหว้ สมาชิกครอบครัวจะมากินอาหารร่วมกันพร้อมหน้าที่จีนเรียกอาหารมื้อนี้ว่า “เหนียนเย่ฟั่น”(年夜饭)และกิจกรรมสำคัญที่สุดของคืนส่งท้ายปีคือ “เฝ้าปี” ในภาษาจีนเรียกว่า “โส่วซุ่ย (守岁)” โดยจะอดนอนกันทั้งคืนเฝ้าดูปีเก่าล่วงไปจนกระทั่งวันแรกของปีใหม่ย่างเข้ามา
ในวันสิ้นปีชาวจีนมักสวมเสื้อผ้าสีแดง นำสิ่งของที่มีสีแดงมาประดับตกแต่งบ้านเรือน และจุดประทัด ซึ่งมาจากความเชื่อพื้นบ้านว่าเสียงดังของประทัดจะขับไล่ “เหนียน” สัตว์ประหลาดตัวร้ายในตำนานที่ออกมาอาละวาดในชุมชนในวันสิ้นปี
‘เหนียนเยี่ยฟ่าน (年夜饭)’ มื้อส่งท้ายปีเก่า
อาหารมื้อส่งท้ายปี มีความพิเศษ ตรงที่เป็นมื้อใหญ่ที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกวัยและทุกเพศจะพร้อมหน้าพร้อมตาล้อมวงร่วมรับประทานอาหารกัน สมาชิกที่แยกไปอยู่ที่อื่นจะพยายามกลับมาให้ทันวันส่งท้ายปี แต่หากกลับมาไม่ได้จริงๆ ครอบครัวจะเว้นที่ว่างพร้อมวางชามและตะเกียบไว้เสมือนหนึ่งว่ามากันครบ หลังจากทาน ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ เสร็จแล้ว ผู้ใหญ่จะให้ ‘ยาซุ่ยเฉียน (压岁钱)’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘อั่งเปา’ แก่เด็กๆ
ความพิเศษของ ‘อาหารมื้อส่งท้ายปี' ยังอยู่ที่อาหารหลากหลาย ให้สมาชิกที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งปี ได้ผ่อนคลายร่วมทานอาหารอย่างมีความสุขอยู่กับครอบครัวในคืนสุดท้ายของปี
ชื่อของอาหารที่นำมาตั้งโต๊ะยังแฝงไว้ด้วยความหมายสิริมงคล จานบังคับที่ทุกโต๊ะต้องมีคือ ไก่ ภาษาจีนออกเสียง ‘จี’ (鸡 ) และ ปลา ภาษาจีนออกเสียง ‘อี๋ว์’ (鱼 ) ไก่ (จี) แทนความหมาย ‘จี๋เสียงหยูอี้ (吉祥如意 หมายถึง สิริมงคล สมดังปรารถนา)’ ส่วน ปลา (อี๋ว์) แทนความหมาย ‘เหนียนเหนียนโหยวอี๋ว์ (年年有余 มีเงินทองเหลือใช้ทุกปี)’
ที่ไต้หวันยังนิยมทานลูกชิ้น หมายถึงการกลับมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา นอกจากนี้ ยังมี ‘จิ่วไช่ (韭菜 ผักกุ้ยช่าย)’ ที่หมายถึงอายุมั่นขวัญยืน (年寿长久)
สำหรับชาวหมิ่นหนัน (闽南) ชนกลุ่มน้อยในมณฑลฝูเจี้ยนทางตอนใต้ของจีน เรียกแครอทในภาษาถิ่นว่า ‘ไช่โถว’ (菜头)แฝงความหมาย การเริ่มต้นปีที่ดี (好彩头)
และในบางพื้นที่จะกินเกี๊ยว หรือเรียกในภาษาจีนว่า ‘เจี่ยวจือ’ (饺子)ที่มีรูปร่างคล้ายกับเงินแท่งสมัยโบราณที่ปลายสองด้านงอนขึ้น บางครั้งก็ใส่เหรียญเงินไว้ในเกี้ยวด้วย เพื่อบันดาล ‘โชคลาภเงินทอง’ เป็นต้น
วันที่ 1 วันที่ 2 เดือน 1 (22-23 ม.ค.)(正月初一 初二, 满街走) เดินเที่ยวเต็มท้องถนน... วันที่ 1 เดือน 1 คือวันตรุษจีน ชาวจีนจะพักผ่อน เที่ยว และนิยมไปเยี่ยมญาติกัน
สำหรับวันสุดท้ายของเทศกาลตรุษจีน คือเทศกาลหยวนเซียว (元宵节)หรือเทศกาลโคมไฟ (แรม 15 ค่ำเดือนอ้าย) ซึ่งในปี 2023 ตรงกับวันที่ 5 ก.พ.
ในเทศกาลตรุษจีนจะตกแต่งบ้านเรือนด้วยการติดอักษร หรือภาพมงคล การติดอักษร “ฝู” (福)กลับหัว อันหมายถึง โชคดีความสุขได้มาถึงบ้าน คำอวยพรกลอนคู่ “ชุนเหลียน” (春联) การติดภาพเทพผู้คุ้มครองที่ประตู ‘เหมินเสิน (门神)’ เป็นต้น
คำ “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” เริ่มใช้แต่ใดมา
ชาวจีนเรียก ตรุษจีน หรือวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ ว่าชุนเจี๋ย (春节) หมายถึง “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” คำว่า “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” เป็นคำที่ถูกใช้มาตั้งแต่เมื่อไหร่?
ในอดีตที่ผ่านมา เทศกาลตรุษจีนถูกขนานนามต่างๆ กันไปในแต่ละยุคสมัย หรือแต่ละราชวงศ์ในอดีต เช่น ถูกเรียกว่าไก่ซุ่ย (改歲) หรือ “วันเปลี่ยนปี” หยวนโส่ว (元首) หยวนรื่อ (元日) ที่หมายถึงวันเริ่มต้นแห่งปี
เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เป็นชื่อที่ถูกใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.1911 โดยรัฐบาลทหารของหูเป่ยเป็นผู้ประกาศ ให้เรียกปีใหม่ของจีนว่า “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ” จนกระทั่งวันที่ 27 ก.ย.1949 ในขณะที่มีการตัดสินใจจะสถาปนาชื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ก็ได้มีการระบุให้เรียกวันที่ 1 ม.ค.ของทุกปี ที่ถือเป็นวันปีใหม่สากลว่า “หยวนตั้น” (元旦) หรือวันเริ่มต้นปี ส่วนวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติจีน หรือวันตรุษจีนนั้นให้เรียกว่า “เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ”