xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ชวนญี่ปุ่น ดัตช์แจกอั่งเปาจีน! จำกัดการส่งออกเทคโนโลยี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรี มาร์ก รึตเตอ ของเนเธอร์แลนด์ หารือกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. - ภาพเอพี
ชาติแหล่งรวมซัปพลายเออร์สำคัญสำหรับอุปกรณ์การผลิตชิปขั้นสูงอย่างเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น เตรียมโดดร่วมวงมาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีไปจีนของรัฐบาลสหรัฐฯ
 
แหล่งข่าววงในเปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า อาจมีการบรรลุข้อตกลงกันได้อย่างเร็วที่สุดในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ หลังจากนายกรัฐมนตรี ฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น และนายกรัฐมนตรี มาร์ก รึตเตอ ของเนเธอร์แลนด์ เคยมีการหารือกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ที่ทำเนียบขาวเมื่อต้นเดือน


“ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเราจะไปถึงตรงนั้นได้” นายกรัฐมตรีเนเธอร์แลนด์ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กนิวส์ นอกรอบการประชุมเวิลด์อิโคโนมิก ฟอรั่ม ในเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันพฤหัสฯ (19 ม.ค.)

แม้มีการคาดการณ์กันว่า ทั้งเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่นคงไม่ไปไกลอย่างสหรัฐฯ ซึ่งไม่เพียงแต่จำกัดการส่งออกเครื่องมือสำหรับการผลิตชิปที่ทำในสหรัฐฯ ไปให้จีนแล้ว ยังขัดขวางพลเมืองของตนไม่ให้ทำงานร่วมกับบริษัทผลิตชิปของจีนอีกด้วย เพื่อไม่ให้จีนมีโอกาสเรียนรู้ทักษะความชำนาญ

อย่างไรก็ตาม หากชาติทั้ง 3 รวมพลังกันเมื่อใด จีนย่อมถูกปิดกั้นจากเทคโนโลยีและโนว์ฮาว ซึ่งจำเป็นสำหรับการผลิตชิปขั้นสูงมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะชาติทั้ง 3 ล้วนมีบริษัทผู้เชี่ยวชาญระดับบิ๊กอยู่ในกำมือ โดยสหรัฐฯ นั้นมีบริษัทผู้สร้างเครื่องมือสำหรับการผลิตชิปมากรายที่สุด ขณะที่เนเธอร์แลนด์มีบริษัท เอเอสเอ็มแอล โฮลดิ้ง เอ็นวี (ASML Holding NV) ผู้ควบคุมตลาดเทคโนโลยีลิโทกราฟี (lithography technology) ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุดหนึ่งในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนบริษัทโตเกียว อิเล็กตรอนจำกัด (Tokyo Electron Ltd.) ของญี่ปุ่นก็เป็นผู้นำด้านเครื่องมือการผลิตชิปไม่แพ้บริษัทของสหรัฐฯ เลย

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ถ้าปราศจากเครื่องมือล้ำสมัยจากบริษัท แอปพลายด์ แมตทีเรียลส์ (Applied Materials Inc.) บริษัทแลม รีเสิร์ช (Lam Research Corp) และเคแอลเอ (KLA Corp) ของสหรัฐฯ รวมทั้งเครื่องมือจากบริษัทของเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่นดังกล่าวแล้ว บริษัทแดนมังกรก็แทบหมดสิทธิสร้างสายการผลิตที่สามารถสร้างชิปขั้นสูง

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้มาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีฉบับใหม่เมื่อเดือน ต.ค.2565 และขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎระเบียบที่ออกมา ซึ่งจะเสร็จสิ้นในวันที่ 31 ม.ค. โดยบริษัทผู้ผลิตชิปของสหรัฐฯ บางรายแสดงการคัดค้านมาตรการ แต่สมาชิกรัฐสภาทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างสนับสนุน อีกทั้งหลายคนยังเสนอให้กดดันจีนหนักหน่วงกว่านี้

มาตรการจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีไปจีนเท่ากับเป็นการสกัดกั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมชิปแดนมังกร ซึ่งรัฐบาลของไบเดน ระบุว่า จีนนำไปใช้เพื่อการทหาร อันเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แม้สหรัฐฯ เป็นชาติผู้ประดิษฐ์และผู้ขายเทคโนโลยีรายใหญ่ แต่ขณะเดียวกันจีนก็เป็นตลาดเดียวรายใหญ่ที่สุดในการนำเข้าเทคโนโลยีนี้ ซึ่งบริษัทของสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่นไม่อยากสูญเสียไป


ข้อมูล - บลูมเบิร์ก 


กำลังโหลดความคิดเห็น