xs
xsm
sm
md
lg

จีนเปิดเครื่อง ‘อุปกรณ์บนดาวเทียม’ เตรียมสังเกตหลากปรากฏการณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพซินหัว : จรวดขนส่งลองมาร์ช-2ดี ซึ่งขนส่งดาวเทียมใหม่ จำนวน 14 ดวง ทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมไท่หยวน มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน วันที่ 15 ม.ค.2023)
มหาวิทยาลัยชิงหัวเปิดเผยว่า อุปกรณ์จำนวน 4 ชิ้น บนดาวเทียม 3 ดวง ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมไท่หยวน มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ถูกเปิดเครื่องเพื่อทำการทดสอบเบื้องต้นแล้ว

อุปกรณ์ทั้ง 4 ชิ้น ได้แก่ จีอาร์ไอดี-05บี (GRID-05B) จีอาร์ไอดี-06บี (GRID-06B) จีอาร์ไอดี-07 (GRID-07) และจีอาร์ไอดี-08บี (GRID-08B) จะร่วมเครือข่ายสังเกตการณ์กับดาวเทียมดังกล่าวในวงโคจร เพื่อวิเคราะห์การเกิดแสงวาบของรังสีแกมมา กิจกรรมของดวงอาทิตย์ และพัลซาร์ในจักรวาลในอีกหลายปีข้างหน้า

อุปกรณ์ข้างต้นซึ่งพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยชิงหัว มหาวิทยาลัยหนานจิง มหาวิทยาลัยซื่อชวน (เสฉวน) และมหาวิทยาลัยครูปักกิ่ง ทำหน้าที่เหมือนกล้องโทรทรรศน์สนามกว้างที่ติดตั้งบนดาวเทียมเพื่อสังเกตปรากฏการณ์ในจักรวาล

เครื่องมือเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครื่องตรวจจับแบบรวมรังสีแกมมา (GRID) ของจีน ซึ่งริเริ่มโดยมหาวิทยาลัยชิงหัว เมื่อปี 2016 และนำโดยทีมงานที่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี โดยมีเป้าหมายตรวจจับการเกิดแสงวาบของรังสีแกมมา และสภาพชั่วคราวของฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่มีพลังงานสูงอื่นๆ

โครงการดังกล่าวดึงดูดมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ เข้าร่วมมากกว่า 20 แห่ง และได้เผยแพร่ความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ชุดแรกในเดือนธันวาคม 2021

ปัจจุบัน มีดาวเทียมถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรสำหรับโครงการเครื่องตรวจจับแบบรวมรังสีแกมมา 8 ดวงแล้ว โดยโครงการจะสร้างเครือข่ายสังเกตการณ์กลุ่มดาว เพื่อรองรับการสังเกตการณ์ที่มีคุณค่ามากขึ้นภายใน 2-3 ปีข้างหน้า




กำลังโหลดความคิดเห็น