ผู้อพยพเชื้อสายจีนตกเป็นเหยื่อสังเวยความเกลียดชัง ฆาตกรไร้เงาในสังคมอเมริกา
นายหม่า พานเหยา พ่อครัวทำติ่มซำระดับมืออาชีพจากประเทศจีน ตัดสินใจเมื่อวัยใกล้เกษียณ ทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน อพยพย้ายมาตั้งถิ่นฐานในอเมริกา พร้อมภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากเมื่อเดือน ต.ค.2561 หวังแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในประเทศ ซึ่งได้ชื่อว่าดินแดนแห่งเสรีภาพ โดยมิอาจหยั่งรู้โชคชะตาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าได้เลย
เมื่อวันพฤหัสฯ (12 ม.ค.) หลังจากการต่อสู้คดีความในศาลมานานเกือบ 1 ปี ในที่สุดนายจาร์ร็อด พาวเวลล์ ชายอเมริกันผิวดำชาวนครนิวยอร์ก วัย 51 ปี ก็ยอมรับสารผิดแล้วในข้อหาเจตนาฆ่านายหม่า ด้วยความเกลียดชัง ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ลงมือก่อเหตุเพียงเพราะว่า นายหม่า เป็นคนเชื้อสายเอเชีย
คดีสะเทือนขวัญเกิดขึ้นบนถนนสายหนึ่งในย่านอีสต์ฮาร์เลม นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2564 ชีวิตของนายหม่า ตอนนั้นอยู่ในสภาพตกงาน พิษโควิด-19 ระบาดทำให้เขาถูกเลิกจ้างงานเป็นคนครัว ส่วนอาชีพรับจ้างดูแลผู้สูงอายุของภรรยาก็จบลงด้วย ทั้งคู่จึงหันมาเก็บเศษขวดเศษกระป๋อง เพื่อนำไปขายเลี้ยงชีพ
วันเกิดเหตุ นายหม่า กำลังเดินเก็บขวด จู่ๆ ก็ถูกเตะข้างหลังจนล้มลงไปกองกับพื้น จากนั้นถูกเตะและถูกกระทืบซ้ำที่ศีรษะอีกหลายครั้งจนสลบเหมือด คนขับรถโดยสารในละแวกนั้นเห็นเหตุการณ์จึงช่วยเรียกรถพยาบาล ส่วนคนร้ายวิ่งหลบหนีไป แต่ถูกตำรวจจับกุมได้อีก 4 วันต่อมา โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาเสียงแข็ง
นายหม่า วัย 61 ปี มีภาวะบาดเจ็บที่สมอง และไม่ฟื้นคืนสติอีกเลย นับตั้งแต่ถูกกระทืบจนสลบวันนั้น อีก 8 เดือนต่อมาก็เสียชีวิต
นายพาวเวลล์ ยอมรับสารภาพว่า เขาเล็งทำร้ายนายหม่า เพราะอีกฝ่ายเป็นคนเอเชีย
อัลวิน แบรคค์ อัยการเขตแมนฮัตตันแถลงว่า การทำร้ายโดยที่ปราศจากเหตุยั่วยุใดๆ ครั้งนี้ ส่งผลให้นายหม่า ถึงแก่ชีวิต และทำให้ผู้คนมากมายในชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย และชาวหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกรู้สึกไม่ปลอดภัย
ด้านครอบครัวของนายหม่า แสดงความพอใจที่มีการยอมรับสารภาพผิดในครั้งนี้ และมีการคาดการณ์กันว่า จำเลยจะถูกศาลตัดสินโทษจำคุกเป็นเวลา 22 ปี
คดีทำร้ายนายหม่า ถึงแก่ชีวิตได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วสหรัฐฯ เนื่องจากเกิดเหตุอาชญากรรมจากความเกลียดชังเชื้อชาติ ซึ่งมุ่งเป้าหมายชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียในนิวยอร์ก และทั่วประเทศบ่อยขึ้น จุดชนวนให้ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงเรียกร้องความเป็นธรรมและการสร้างความปรองดองขึ้นในสังคมอเมริกา
ข้อมูล - เอพี