xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์จีนพบฟอสซิล ‘กุ้ง’ สายพันธุ์ใหม่ อายุ 518 ล้านปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง : ฟอสซิลกุ้ง “อินโนเวทิโอคาริส เหมาเทียนซานเนนซิน”)
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ผ่านวารสารจีโอโลจิคอล โซไซตี (Geological Society) เมื่อเดือนธันวาคม 2022 เปิดเผยว่า คณะนักบรรพชีวินวิทยาชาวจีนได้กำหนดสายพันธุ์ใหม่ของฟอสซิลกุ้งที่ขุดพบในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งมีอายุย้อนไป 518 ล้านปี

สถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ระบุว่ากุ้งสายพันธุ์ “อินโนเวทิโอคาริส เหมาเทียนซานเนนซิส” (Innovatiocaris maotianshanensis) เคยถูกเรียกว่า “อโนมาโลคาริส” (Anomalocaris) ซึ่งแปลว่ากุ้งผิดปกติ เนื่องจากมีลักษณะคล้ายเรดิโอดอนต์ (Radiodont) หรือกลุ่มสัตว์ขาปล้องดึกดำบรรพ์ชนิดหนึ่ง โดยฟอสซิลชิ้นนี้ถูกรวบรวมจากสัตว์ยุคแคมเบรียนตอนต้นของชั้นตะกอนเฉิงเจียง ในภูเขาเหมาเทียนซาน

เจิงฮั่น นักวิจัยร่วมจากสถาบันธรณีวิทยาฯ ระบุว่า กุ้งดังกล่าวมีลำตัวเพรียวยาว พร้อมขาและปีกเหงือกคล้ายใบพายสำหรับว่ายน้ำและหายใจ ก้ามหนามหนึ่งคู่ ตารวม (compound eye) ขนาดใหญ่บนหัว และมีปากเป็นแฉกอยู่ใต้หัว ซึ่งล้วนเป็นลักษณะที่เหมือนกับอโนมาโลคาริส ทว่ามันมีหางสองแฉกยาวเป็นพิเศษคู่หนึ่ง และรายละเอียดทางสัณฐานวิทยาของกรงเล็บหน้าที่แตกต่างจากอโนมาโลคาริสอย่างชัดเจน

เจิงซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยเผยว่าทีมวิจัยยังทำการวิเคราะห์วิวัฒนาการของสกุล ซึ่งบ่งชี้ว่ากุ้งสายพันธุ์นี้อยู่ใกล้กับจุดเริ่มต้นทางวิวัฒนาการของอโนมาโลคาริส พร้อมเสริมว่าการค้นพบดังกล่าวยังให้เบาะแสสำคัญในการทำความเข้าใจวิวัฒนาการและนิเวศวิทยาของสัตว์จำพวกยูอาร์โทรพอด (euarthropod) ในยุคแคมเบรียนตอนต้นอีกด้วย

(ภาพจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง : ภาพจำลองสามมิติของกุ้ง “อินโนเวทิโอคาริส เหมาเทียนซานเนนซิน”)





กำลังโหลดความคิดเห็น