เส้นทางรถไฟลาว-จีน เป็น “เส้นทองคำใหม่” ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการเปิดประเทศของจีน ประเทศไทยเสียโอกาสจากการเชื่อมต่อเส้นทางยุทธศาสตร์ที่ใช้เวลาหลายปีก็ยังไม่คืบหน้า
หลายปีก่อน ภาพยนตร์เรื่อง “แก๊งม่วนป่วนไทยแลนด์” สร้างรายได้ถล่มทลายในประวัติศาสตร์จีนกว่า 6,000 ล้านบาท และทำให้ชาวจีนตื่นเต้นที่จะมาท่องเที่ยวในเมืองไทย หากแต่นักท่องเที่ยวจีนกลับต้องอึ้งเมื่อพบว่า รถไฟในประเทศไทยมีสภาพเก่าแก่มากกว่า 100 ปี และเดินรถด้วยความเร็วไม่ถึง 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
รัฐบาลจีนวางยุทธศาสตร์ไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระหว่างจีนกับทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนให้ได้ภายในปี 2022 จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อผลักดันโครงการนี้ในประเทศไทยให้จงได้ เพราะเส้นทางรถไฟตลอดโครงการถึงสิงคโปร์ที่มีความยาวรวม 1,400 กิโลเมตรนั้น เป็นเส้นทางที่อยู่ในประเทศไทยถึง 734 กิโลเมตร
ในเวลาเดียวกัน จีนได้สร้างรถไฟในประเทศลาว เชื่อมโยงไปมณฑลยูนนานของจีน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ยากลำบากจากภูมิประเทศ ต้องเจาะอุโมงค์ลอดผ่านภูเขาจำนวนมาก แต่ฝ่ายจีนใช้เวลาเพียง 5 ปีในการสร้างเส้นทางจนสำเร็จ
ผู้สื่อข่าว MGR Online ในกรุงปักกิ่ง เคยร่วมสนทนากับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศจีนที่ได้เล่าถึงเส้นทางรถไฟจีน-ลาวว่า เส้นทางสายนี้ขาดทุนแน่นอน ถึงแม้ลาวจะขายสินค้าทุกอย่างให้จีนก็จะยังขาดทุนอีกหลายสิบปี แต่ฝ่ายจีนยินดีที่จะสร้างเส้นทางสายนี้เพื่อแสดงถึงมิตรภาพและความจริงใจ เพื่อให้จีนกับลาวเติบโตไปพร้อมกัน
เจ้าหน้าที่ของจีนบอกว่า ฝ่ายจีนเล็งเห็นโอกาสจาก “อุปทาน” (Supply) ที่จะเกิดขึ้นจากทางรถไฟสายนี้ ด้วยแนวคิดที่ว่า “อยากมั่งคั่งต้องสร้างถนน” 要想富先修路 เมื่อเส้นทางสะดวก การไปมาหาสู่และค้าขายก็จะคล่องตัว สินค้าเช่น ผลไม้จากอาเซียน เมื่อขึ้นรถไฟมาขายในประเทศจีนอาจได้ราคาสูงถึง 3 เท่าตัว
แม้ว่าขณะนี้เส้นทางส่วนที่เชื่อมจากลาวเข้าสู่ประเทศจีนยังไม่เปิดให้บริการ เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 แต่หลังจากเปิดให้บริการมานานกว่า 1 ปี เส้นทางรถไฟสายนี้กลายเป็น “เส้นทางสายทองคำ” ประชาชนทั้งชาวลาวและนักท่องเที่ยวแห่ซื้อตั๋วรถไฟจนต้องจองล่วงหน้าหลายวัน แม้แต่คนไทยก็ยังข้ามฝั่งโขงไปยังลาวเพื่อนั่งรถไฟสายนี้
ขณะนี้จีนเปิดประเทศอีกครั้ง แน่นอนว่าเส้นทางรถไฟจีน-ลาว จะยิ่งได้รับความนิยม ทั้งการเดินทางและขนส่งสินค้าลดเวลาลงได้หลายเท่าตัว ลาวได้เปลี่ยนโฉมจากประเทศที่ถูกปิดล้อม ไม่มีทางออกทะเล มาเป็นศูนย์การคมนาคมสำคัญในอาเซียน
เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกเท่าไหร่?
ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ฝ่ายจีนเชิญให้เข้าร่วมในโครงการเส้นทางรถไฟจีน-อาเซียน แต่ชะตากรรมของเส้นทางรถไฟสายนี้พลิกผันหลายครั้ง และจนถึงขณะนี้เห็นกันแล้วว่ามีความคืบหน้ามากแค่ไหน
เส้นทางรถไฟจีน-ไทยริเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา นายกฯ หลี่เค่อเฉียงเดินทางมาเยือนประเทศไทยในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่ได้ปราศรัยในรัฐสภาไทย
ในครั้งนั้น นายกฯ หลี่เค่อเฉียง ได้กล่าวเป็นการภายในกับเจ้าหน้าที่สถานทูตจีนประจำประเทศไทยว่า รัฐบาลจีนมุ่งมั่นจะสร้างทางรถไฟในประเทศไทย เพราะไม่เพียงเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าและนักท่องเที่ยว แต่โครงการนี้มีความจำเป็นทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง ดังนั้น รัฐบาลจีนจะยอมรับ “ทุกข้อเสนอ” ของรัฐบาลไทย แม้แต่การใช้ข้าวและยางพาราเพื่อแลกกับการสร้างทางรถไฟ จนฝ่ายจีนถูกครหาว่าพัวพันในโครงการจำนำข้าว ที่มีการทุจริตอย่างกว้างขวาง
แต่หลังเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คสช. เห็นว่าการสร้างรถไฟความเร็วสูงอาจไม่คุ้มค่าสำหรับประเทศไทยจึงได้ระงับโครงการไว้ แต่ฝ่ายจีนยังไม่ลดละที่จะให้ประเทศไทยรื้อฟื้นโครงการรถไฟเชื่อมระหว่างจีนกับอาเซียน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พบกับนายหลี่เค่อเฉียงเป็นครั้งแรกในการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ที่ประเทศอิตาลี เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ผู้นำจีนได้เน้นย้ำกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “โครงการความร่วมมือทางรถไฟระหว่างไทยจีนเป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลสองประเทศ ไม่ใช่ว่าจะบอกเลิกก็ยกเลิกได้”
สำนักข่าวของจีนยังสรุปว่า “ชายชาติทหารที่เคร่งครัดในกฎเกณฑ์อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจสิ่งที่ผู้นำจีนต้องการสื่อสารได้ในทันที”
หนึ่งเดือนต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางไปกรุงปักกิ่งเพื่อร่วมการประชุมเอเปก ผู้นำสองประเทศได้พบกันเป็นครั้งที่ 2 และครั้งนี้คณะผู้แทนของไทยและจีนได้ตกลงกันว่าจะสานต่อโครงการความร่วมมือทางรถไฟระหว่างไทย-จีน
แต่ต่อมา ฝ่ายจีนต้องงเป็นไก่ตาแตก เมื่อรัฐบาล คสช. ประกาศว่าจะไม่สร้างรถไฟความเร็วสูง แต่จะสร้างรถไฟรางคู่ตั้งแต่หนองคาย เชื่อมสระบุรี กรุงเทพฯ และระยองแทน นอกจากนี้ ไทยจะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเอง โดยว่าจ้างฝ่ายจีนเป็นผู้ก่อสร้าง ไม่มีการให้สัมปทานหรือร่วมทุนใดกับประเทศจีน
การรถไฟแห่งประเทศไทยตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดให้บริการเฟสแรก กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ปี 2569 แต่เมื่อดูภาพรวมการก่อสร้างเดือน มี.ค.2565 มีความคืบหน้าเพียง 4.62% เป็นไปไม่ได้เลยที่จะเปิดบริการ “เส้นทางสั้นๆ” นี้ได้ตามเป้าหมาย
จีนตอบทำไมล่าช้า : “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง”
เส้นทางรถไฟจีน-ไทยไม่เพียงแค่ล่าช้า แต่ยัง “ผิดแผน” อย่างมาก ทั้งถูกหั่นเส้นทางให้สั้นลง และเปลี่ยนเส้นทางจากเดิมที่วางแผนเชื่อมจากจีน-ลาว-ไทยไปมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่กลับเป็นเส้นทางสั้นๆ ที่ยังสร้างมานานกว่า 8 ปีก็ยังไม่คืบหน้า จนฝ่ายจีนรู้สึกเหมือนว่าถูกฝ่ายไทย “บิดพลิ้ว”
ผู้สื่อข่าวในกรุงปักกิ่ง เคยสอบถามกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนว่า ทำไมเส้นทางรถไฟจีน-ไทยถึงล่าช้า?
คำตอบที่ได้รับจากฝ่ายจีน คือ “เราตบมือข้างเดียวไม่ดัง”! เจ้าหน้าที่ของจีนยังกล่าวว่า การสร้างทางรถไฟในลาวมีอุปสรรคมากมายทั้งจากภูมิประเทศและเงินลงทุน ฝ่ายจีนไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะมีอุปสรรคมากกว่าลาว พร้อมย้ำว่าฝ่ายจีนรอได้ และพร้อมจะปรับเปลี่ยนรูปแบบจนทั้ง 2 ประเทศพอใจ แต่ผู้ที่จะเสียประโยชน์จากการรอคอยก็คือ ประเทศไทยเอง.