xs
xsm
sm
md
lg

รวมสารพัดเทคโนฯ! จีนสร้าง ‘โครงข่ายไฟฟ้าดิจิทัลโฮโลแกรม’ แห่งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(ภาพจากการไฟฟ้าแห่งประเทศจีน สาขาเจียงซู : อากาศยานไร้คนขับที่มีความสามารถในการระบุตำแหน่งด้วยความแม่นยำสูงระดับเซนติเมตร ตรวจสอบสายส่งอัตโนมัติของเสาสายส่งไฟฟ้าในมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน วันที่ 29 ธ.ค. 2022)
บริษัท การไฟฟ้าแห่งประเทศจีน จำกัด เปิดเผยว่า จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีโฮโลแกรมแห่งแรกในมณฑลเจียงซู ทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะช่วยปรับปรุงการดำเนินงานและการตรวจสอบอย่างชาญฉลาดสำหรับโครงข่ายไฟฟ้าอย่างมาก

โครงข่ายไฟฟ้าเสมือนจริงดังกล่าวได้ผสานรวมสารพัดเทคโนโลยี เช่น ดาวเทียมเป่ยโต่ว การประมวลผลระบบคลาวด์ และปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งนำไปสู่การฟื้นฟูโครงข่ายไฟฟ้าในท้องถิ่นแบบสามมิติ อันรวมถึงสายส่งไฟฟ้าเหนือหัวความยาว 100,000 กิโลเมตร และเสาสายส่งไฟฟ้า 280,000 ต้น

เจียงไห่โป รองผู้จัดการทั่วไปของบริษัท เจียงซู ฟางเทียน พาวเวอร์ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการข้างต้น กล่าวว่าโครงการได้ประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนในการตรวจสอบสายส่งอัตโนมัติของเสาสายส่งไฟฟ้า ซึ่งสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้หลากหลาย เช่น การกำหนดเส้นทางอัตโนมัติและการเฝ้าสังเกตการณ์แบบเรียลไทม์

เจียงเสริมว่า โดรนเหล่านี้มีความสามารถในการระบุตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูงในระดับเซนติเมตร และมีประสิทธิภาพการตรวจสอบมากกว่าการตรวจสอบด้วยแรงงานคนราว 6 เท่า

อู๋เฉียง รองผู้อำนวยการฝ่ายอุปกรณ์ของการไฟฟ้าแห่งประเทศจีน สาขาเจียงซู กล่าวว่าโครงข่ายไฟฟ้าดิจิทัลดังกล่าวสามารถจำลองและพยากรณ์สภาพแวดล้อมการทำงานของโครงข่ายไฟฟ้าจริงภายใต้สภาวะที่รุนแรงอย่างพายุไต้ฝุ่น และสภาพอากาศเยือกแข็ง พร้อมส่งมอบข้อมูลอ้างอิงสำหรับแนวทางป้องกันภัยพิบัติต่างๆ

อู๋คาดการณ์ว่าภาระทางไฟฟ้าสูงสุดของโครงข่ายไฟฟ้าเจียงซูจะสูงถึง 112 ล้านกิโลวัตต์ในช่วงฤดูหนาวสุดที่กำลังจะมาถึง โดยโครงข่ายไฟฟ้าดิจิทัลจะช่วยลดระยะเวลาการแก้ไขปัญหาราวร้อยละ 10 และปรับปรุงความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของโครงข่ายไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีการใช้งานสูงสุดได้อย่างมาก เพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในฤดูหนาวนี้

ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว




กำลังโหลดความคิดเห็น