โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล
วิกฤตราคาพลังงานทำให้ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นรถยนต์พลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากอย่างล้นหลาม ความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้ามีขึ้นทั่วโลก และในไทยเราเองก็เช่นเดียวกัน นับตั้งแต่รัฐบาลไทยมีนโยบายสนับสนุนโดยให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า BEV 18,000-150,000 ต่อคัน ทำให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้าในตลาดโดยเฉลี่ยมีราคาลดลง คนไทยจึงเริ่มหันมาให้ความสนใจกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น อย่างเช่นงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2022 ที่เพิ่งผ่านไป ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าสร้างปรากฏการณ์ใหม่ได้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะรถยนต์พลังงานไฟฟ้าสามารถกวาดยอดจองสูงถึง 15% ของยอดจองรถยนต์ในงานทั้งหมด หรือมีตัวเลขจองราวๆ 5,800 คัน จากยอดรวม 36,679 คัน โดยแบ่งเป็นแบรนด์ต่างๆ ได้แก่ BYD 2,714 คัน ORA 1,212 คัน MG 600 คัน Neta 827 คัน Mine 32 คัน Volt 210 คัน Pocco 30 คัน Porsche 70 คัน Mercedes-Benz 30 คัน และอื่นๆ 75 คัน
โดยรถยนต์ไฟฟ้าจากค่าย BYD แบรนด์จากจีนมาแรงนำโด่งเป็นอันดับหนึ่ง ตรงนี้ผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจเพราะรถยนต์ไฟฟ้าจากค่าย BYD เข้าไปทำตลาดในไทยจริงจังช้ากว่าแบรนด์ ORA และ MG แต่ยอดขายกลับพลิกทำสถิติเป็นอันดับหนึ่งในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปของปีนี้ ทำให้การเติบโตและอนาคตของรถยนต์ไฟฟ้าจีนค่ายนี้ในไทยน่าเป็นที่จับตายิ่ง
ในจีนหากพูดถึงแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ BYD ถูกยกเป็นแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าอันดับหนึ่ง ที่มียอดขายสูงสุด และได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ผู้บริโภคจีน ถึงแม้ว่าจะเพิ่งเริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 1995 และไม่มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้าอย่าง Tesla แต่จากยุทธศาสตร์การพัฒนาและแนวคิดที่ก้าวหน้าของผู้ก่อตั้งบริษัท ทำให้รถยนต์ไฟฟ้า BYD นั่งแท่นอันดับหนึ่งรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีนในปัจจุบัน การพัฒนาและเติบโตขึ้นมาของ BYD มีการให้คำนิยามไว้ว่า “ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและท้าทายจากศูนย์ถึงหนึ่ง”
นายหวางฉวนฝู เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท BYD โดยตัวเขาได้มีประสบการณ์และคร่ำหวอดอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มายาวนาน ปี 1993 นายหวางฉวนฝู ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทั่วไปของ Big Battery Co.,Ltd. บริษัทภายใต้สถาบันวิจัยแร่ปักกิ่ง ประสบการณ์ของนายหวางฉวนฝู เป็นรากฐานที่สำคัญให้บริษัท BYD ในปี 1995 นายหวางฉวนฝู ออกจากงานประจำเพื่อทําธุรกิจ โดยในขณะนั้นเขาได้รับการลงทุนแรกเริ่ม 2.5 ล้านหยวน และได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษั BYD ในเมืองเซินเจิ้น
นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 1995 BYD ได้รับออเดอร์สำคัญจากการสั่งซื้อแบตเตอรี่ โดยผู้ผลิตโทรศัพท์ไร้สายรายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน แบตเตอรี่ของ BYD มีราคาต่ำและคุณภาพดี ทำให้บริษัทได้รับออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากนั้น BYD ได้เติบโตอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นธุรกิจ SMEs ที่มียอดขายเกือบ 100 ล้านหยวนต่อปีในปี 1997
ในปี 2002 BYD ขึ้นตลาดในฮ่องกงได้สำเร็จ และแบตเตอรี่ลิเธียม BYD มีคุณภาพดีได้เปรียบคู่แข่ง ทำให้การชนะประมูลของบริษัทโนเกีย ได้ออเดอร์ใหญ่จากบริษัทโนเกียแบรนด์มือถือชั้นนำของโลกในขณะนั้น ด้วยฐานด้านเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ที่ดี ทำให้ BYD มีเทคโนโลยี "แบตเตอรี่ใบมีด" ของตัวเอง ซึ่งตรงนี้เป็นกุญแจสำคัญของ BYD ในการพัฒนาด้านรถยนต์ไฟฟ้า
ผู้บริหาร BYD เริ่มสังเกตเห็นโอกาสการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าและมีการตัดสินใจที่เฉียบขาด ทำให้ BYD ตัดสินใจเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อย่างเป็นทางการในช่วงปลายปี 2002 และเข้าซื้อกิจการโรงงานแม่พิมพ์ขึ้นรูปรถยนต์ Jichi ในปักกิ่ง ทีมงาน BYD สำรวจตลาดและวางแผนทางเทคนิคในด้านรถยนต์ไฟฟ้า ในเวลาเพียง 1 ปีของการวิจัยและพัฒนา BYD ก็นำพาตลาดรถยนต์จีนไปสู่ "การเปลี่ยนแปลงใหม่" ขณะนั้น BYD ได้ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ Qinchuan Automobile ทำให้ BYD กลายเป็นบริษัทผลิตรถยนต์อันดับที่ 2 ของจีนรองจาก Geely
ในปี 2005 BYD รุ่น F3 รถยนต์รุ่นแรกของ BYD ถือกำเนิดขึ้น รถรุ่นแรกของ BYD นี้เป็นรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน เพราะรูปลักษณ์ที่ทันสมัยและสวยงาม พื้นที่กว้างขวาง ฟังก์ชันที่ให้มาหลากหลายคุ้มราคา ทำให้รถยนต์ BYD รุ่น F3 ได้รับความนิยมในตลาดจีนอย่างรวดเร็ว เพราะการตอบรับจากตลาดที่ดีทําให้ BYD มีความมั่นใจเพียงพอว่าก้าวแรกของ BYD ที่เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
จนถึงปี 2006 ยอดขาย BYD รุ่น F3 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและแซงหน้ายอดขายแบรนด์รถยนต์ทุกประเภทในตลาดจีนขณะนั้น ต่อมา BYD ได้พัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกชื่อว่า F3E เป็นรถยนต์ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ลิเธียมฟอสเฟต แต่ในขณะนั้นจีนยังไม่มีนโยบายระดับชาติที่สนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและยังไม่มีสถานีชาร์จไฟ ทําให้ BYD รุ่น F3E ต้องพับแผนไปก่อน แต่อย่างไรก็ตาม BYD ก็ไม่ได้ล้มแผน และตระหนักถึงแนวโน้มในอนาคตว่ารถยนต์พลังงานไฟฟ้าต้องมาแน่นอน ดังนั้น BYD จึงเริ่มลงทุนในโครงการวิจัยและเทคโนโลยีไฮบริดซึ่งตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของรถยนต์พลังงานทางเลือกในตระกูล "หวางเฉา" ของ BYD ทำให้รถยนต์ไฟ้ฟ้าของ BYD ในโมเดล Qin, Song และ Tang ได้รับการยอมรับอย่างมากจากผู้บริโภคในตลาดจีน ทําให้ BYD สามารถคว้าแชมป์รถยนต์พลังงานสะอาดระดับโลกเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2015 ถึง 2017 ภาพลักษณ์ของแบรนด์ของ BYD ได้ค่อยๆ เป็นรูปเป็นร่างและมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคจีนมากขึ้น
โดยปัจจุบันค่าย BYD ยังออกรถยนต์โมเดลใหม่ๆ พร้อมนวัตกรรมใหม่ออกมาเรื่อยๆ โดยในอนาคตรถยนต์ทุกรุ่นจะใช้จะแบตเตอรี่ใบมีดซึ่งเป็น “Core Tech” ของ BYD ความสําเร็จของ BYD เป็นสัญลักษณ์ความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานทางเลือกของจีน และปัจจุบัน BYD ได้ประกาศยุติการผลิตรถยนต์รุ่นเชื้อเพลิงอย่างเป็นทางการแล้ว อนาคตจะโฟกัสกับการผลิตรถยนต์พลังงานทางเลือกเท่านั้น BYD สัญญาจะสร้างผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น
คำขวัญของ BYD คือ “TECHNOLOGY, GREEN, FUTURE” แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนของ BYD ที่จะพัฒนามุ่งเน้นด้านพลังงานสะอาดแห่งอนาคต ในปี 2021 BYD มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีน 593,700 คัน และจนถึงเดือน ธ.ค. ปี 2021 BYD มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสะสมมากกว่า 1.5 ล้านคันไปแล้ว ในมุมของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการขายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของ BYD ทะลุยอด 1.5 ล้านคันนี้ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 8.92 ล้านตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 750 ล้านต้น
การออกเดินทางใหม่ของ BYD คือการบุกตลาดต่างประเทศ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา BYD ได้เริ่มเข้าสู่ตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งเปิดโชว์รูมและสร้างโรงงานในต่างประเทศ ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้า BYD ได้ออกขายแล้วใน 70 กว่าประเทศทั่วโลก BYD ได้ตั้งโรงงานผลิตในอเมริกา ฝรั่งเศส และบัลแกเรียไปแล้ว ปัจจุบันบริษัทพยายามที่จะตีตลาดในประเทศแถบเอเชีย และละตินอเมริกา
ในเดือน ก.ย.ปีนี้ BYD ได้ลงนามในสัญญาอย่างเป็นทางการกับนิคมอุตสาหกรรม Weihua ในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุนประมาณ 1.9 พันล้านหยวน และคาดว่าจะเริ่มไลน์การผลิตอย่างเป็นทางการในปี 2024 และในเดือน ต.ค. BYD ร่วมกับ Saga ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนจําหน่ายรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของบราซิล เปิดโชว์รูมแห่งแรกในบราซิลและวางแผนที่จะเปิดโชว์รูม 100 แห่งภายในสิ้นปี 2023 ในเดือน ธ.ค. BYD เริ่มบุกอินเดีย โดยได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น PLUS (ATTO 3) เป็นรถ SUV ไฟฟ้าระดับไฮเอนด์คันแรกของ BYD ในตลาดอินเดีย และตลาดญี่ปุ่นถือเป็นตลาดปราบเซียน BYD เองก็เริ่มเข้าไปทำตลาดแล้ว ในเดือน ก.ค.ปีนี้ BYD จัดตั้งบริษัทย่อยในโยโกฮามา และมีแผนว่าต้นปี 2023 จะเริ่มวางขายรถยนต์ในตลาดญี่ปุ่น
รถยนต์พลังงานทางเลือกแบรนด์ BYD กำลังเป็นที่จับตา ยอดขายรถยนต์ของ BYD ในปลายปีนี้ติดต่อกัน 3 เดือน (ก.ย.-ต.ค.-พ.ย.) มียอดขายมากกว่า 200,000 คันต่อเดือน ทุบสถิติยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจีนทุกแบรนด์ และการเติบโตของ BYD ในไทยก็เปรียบเสมือนม้ามืด โดยสรุปบริษัท BYD เติบโตมาจนเป็นบริษัทรถยนต์ระดับโลกนี้ได้ก็มาจากความพยายามใน 2 สิ่งสำคัญคือ 1.วิสัยทัศน์ และ 2.ความทุ่มเทกับการวิจัยและพัฒนา