ซีอีโอบริษัทผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่สุดในโลกของไต้หวันเตือนอันตรายจากการคุมเข้มการส่งออก หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำบริษัทไฮเทคของจีนล็อตใหญ่อีกระลอก
นายซี.ซี. เว่ย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ ของบริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริ่ง (Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.) หรือ ทีเอสเอ็มซี (TSMC) กล่าวในการประชุมฟอรัมด้านอุตสาหกรรม ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงไทเปเมื่อวันเสาร์ (17 ธ.ค.) ว่า การควบคุมการส่งออกและการแบนสินค้าต่างชาติที่มากจนเกินไปของภาครัฐ จะทำลายผลผลิตและประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทำให้ผลประโยชน์ที่ได้รับจากระบบตลาดเสรีลดน้อยลง
"แต่สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ ความไว้วางใจและความร่วมมือระหว่างกันในหมู่นานาประเทศกำลังเริ่มอ่อนแอ" นายซี.ซี. เว่ย ระบุ
นอกจากนั้น ตลาดที่ถูกบิดเบือนเพราะการแทรกแซงของรัฐบาลเช่นนี้จะนำไปสู่ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โดยซีอีโอของทีเอสเอ็มซี เรียกร้องให้บรรดานักการเมืองคิดหาทางออกอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหา แทนวิธีการควบคุมการส่งออก
คำเตือนนี้มิได้เอ่ยตรงๆ ถึงมาตรการจำกัดการส่งออกชิปของสหรัฐฯ ไปจีน แต่มีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่เดือดพล่านอีกครั้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หลังจากเมื่อวันพฤหัสฯ (15 ธ.ค.) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ประกาศขึ้นบัญชีดำควบคุมการส่งออก (Entity List) บริษัทไฮเทคของจีนเพิ่มอีก 36 ราย ปิดประตูบริษัทเหล่านี้เกือบสนิทในการหาซื้อชิ้นส่วนจากต่างชาติ
บริษัทชื่อดังสุดที่ถูกเล่นงานก็คือ แยงซี เมมโมรี เทคโนโลยีส์ (Yangtze Memory Technologies) หรือวายเอ็มทีซี ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ และผู้เล่นรายใหญ่สุดในตลาดหน่วยความจำแฟลช ของจีน โดยประเมินกันว่า ครองส่วนแบ่งร้อยละ 5-6 ในตลาดหน่วยความจำแฟลช NAND ทั่วโลก บริษัทสาขาของวายเอ็มทีซีในญี่ปุ่นก็ถูกขึ้นบัญชีดำครั้งล่าสุดนี้ด้วย
การขึ้นบัญชีดำครั้งล่าสุดเป็นการเดินหน้ามาตรการจำกัดการส่งออกชิปไปยังจีน ที่สหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2565 โดยบริษัทของจีนเหล่านี้ถูกขึ้น บัญชีไม่ผ่านการพิสูจน์ยืนยัน (Unverified List) ของสหรัฐฯ มาก่อนแล้ว สหรัฐฯ ให้เวลา 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. ในการพิสูจน์ว่า สินค้าที่บริษัทผลิตโดยอาศัยเทคโนโลยีของสหรัฐฯ นั้นจะไม่ถูกนำไปใช้ด้านการทหารของจีน หากไม่สามารถพิสูจน์ได้จะถูกขึ้นบัญชีดำดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จีนได้ให้ความร่วมมือกับทางการสหรัฐฯ ในการพิสูจน์ยืนยันการดำเนินงานของบริษัท แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
สหรัฐฯ อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติในการประกาศมาตรการจำกัดการส่งออกชิปไปยังจีน เป็นการสกัดไม่ให้จีนเข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ หรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในด้านการทหารได้
จากรายงานของบลูมเบิร์กนิวส์ บรรดาชาติแนวร่วมสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งรวมทั้งเนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่นก็เตรียมร่วมมือบังคับใช้มาตรการดังกล่าว อย่างน้อยที่สุดก็บางมาตรการ
ซีอีโอของทีเอสเอ็มซี ระบุว่า การควบคุมการส่งออกแบบพหุภาคี ที่มีชาติพันธมิตรสหรัฐฯ โดดลงมาเล่นด้วย สร้างปัญหาท้าทายต่ออุตสาหกรรมชิปของจีนนานัปการ
ทีเอสเอ็มซีมีธุรกิจหลักคือ การรับงานว่าจ้างผลิตชิปจากบริษัทอื่นๆ โดยขณะนี้บริษัทกำลังสร้างโรงงานในรัฐแอริโซนา ของสหรัฐฯ และในญี่ปุ่น ท่ามกลางความวิตกกังวลของลูกค้าและรัฐบาลชาติมหาอำนาจที่ว่าการผลิตชิปในโลกกระจุกตัวอยู่ในไต้หวันมากจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม นายซี.ซี. เว่ย ออกตัวว่า การสร้างโรงงานใหม่ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า มากกว่าการทำความประสงค์ของรัฐบาลต่างชาติ โดยโรงงานที่สร้างในจังหวัดคุมาโมโตะ เพื่อช่วยบริษัทโซนี่กรุ๊ป จัดส่งชิปให้บริษัทแอปเปิล ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของทีเอสเอ็มซีได้อย่างเพียงพอ ด้านแอปเปิลระบุว่า จะเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของโรงงานที่สร้างในแอริโซนา
ซีอีโอของทีเอสเอ็มซี ยังยอมรับว่า การสร้างอุตสาหกรรมชิปแบบเดียวกับในไต้หวันเปี๊ยบที่ประเทศอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากความสำเร็จของทีเอสเอ็มซีสร้างสมมานานกว่า 30 ปี ด้วยความช่วยเหลือจากซัปพลายเออร์ของทีเอสเอ็มซีเอง
จากบลูมเบิร์ก/เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์