พญามังกรหันไปพึ่งดับเบิลยูทีโอ หวังพลิกคว่ำมาตรการจำกัดการส่งออกชิปสุดโหดของสหรัฐฯ โดยงัดประเด็นการกีดกันทางการค้าขึ้นมาต่อสู้ จับตาอีกฝ่ายจะยอมเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือภายใน 60 วันหรือไม่
ในที่สุดกระทรวงพาณิชย์ของจีนก็ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก หรือดับเบิลยูทีโอเมื่อวันจันทร์ (12 ธ.ค.) หลังจากถูกสหรัฐฯ ประกาศบังคับใช้มาตรการคุมเข้มการส่งออกชิปไปยังจีนเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมชิปกลายเป็นตัวจุดชนวนให้ความขัดแย้งด้านการค้า ซึ่งตึงเครียดกันอยู่แล้วระหว่างชาติมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจทั้งสอง ลุกเป็นไฟ โดยรัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน อ้างเหตุผลความจำเป็นว่า เพื่อจำกัดไม่ให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของสหรัฐฯ ซึ่งจีนจะนำไปใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมชิปและเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหาร อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของเมกา
การประกาศมาตรการกร้าวดังกล่าวย่อมเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 580,000 ล้านดอลลาร์ ที่กำลังวางรากฐานมั่นคงของจีน เพราะถึงแม้พญามังกรเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์รายใหญ่สุดในโลกก็จริง แต่เทคโนโลยีชิปพื้นฐานส่วนใหญ่ยังอยู่ในกำมือของบริษัทสหรัฐฯ
จีนระบุในแถลงการณ์ยื่นฟ้องว่า จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายภายในกรอบการทำงานของดับเบิลยูทีโอ เพื่อจัดการแก้ไขข้อวิตกกังวล และปกป้องผลประโยชน์อันชอบด้วยกฎหมายของจีน โดยโต้แย้งว่า สหรัฐฯ กำลังนำเหตุผลด้านความมั่นคง ซึ่งสหรัฐฯ กล่าวอ้างอย่างคลุมเครือมาเป็นเครื่องมือสกัดกั้นคู่แข่งอย่างไม่ยุติธรรม เป็นการดำเนินโยบายกีดกันทางการค้า ซึ่งบ่อนทำลายกฎระเบียบการค้าของโลก พฤติกรรมนี้ยังเป็นการคุกคามต่อห่วงโซ่อุปทานในโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม งานนี้จีนอาจต้องเหนื่อยชนิดหืดขึ้นคอ เนื่องจากถึงแม้ว่าจะเป็นฝ่ายชนะในการต่อสู้บนเวทีดับเบิลยูทีโอ ทว่า องค์กรเพื่อการระงับข้อพิพาทด้านการค้าแห่งนี้ก็ไร้ความสามารถที่จะไปบีบบังคับให้สหรัฐฯ ยอมล้มเลิกมาตรการพิฆาตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแดนมังกรได้
ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าเพื่อกดดันให้จีนพ้นไปจากห่วงโซ่อุปทานเทคโนโลยีในหมู่นานาประเทศ โดยขอให้ชาติพันธมิตรร่วมมือกันบังคับใช้มาตรการจำกัดการส่งออกชิปของสหรัฐฯ ด้วย อีกทั้งยังส่งเสริมให้บริษัทผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของไต้หวัน ซึ่งไม่ถือว่าตนเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน เข้าไปขยายการลงทุนในสหรัฐฯมากขึ้น กระนั้นก็ตามมาตรการนี้ส่งผลกระทบต่อบริษัทของสหรัฐฯ จำนวนหนึ่งด้วยเช่นกัน เพราะจีนเป็นตลาดเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่สุด จึงคาดกันว่า บริษัทผู้ผลิตชิปขายให้จีนจะสูญเสียรายได้หลายพันล้านดอลลาร์อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ กระบวนการระงับข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอกินเวลาเนิ่นนาน การเคลื่อนไหวของจีนครั้งนี้เป็นแค่เริ่มขั้นตอนแรก สหรัฐฯ มีเวลา 60 วัน ในการเข้าสู่การปรึกษาหารือกับจีน ถ้ายังตกลงกันไม่ได้ ปักกิ่งสามารถยื่นคำร้องขอตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อพิพาทขึ้นมา แต่อาจต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีกว่าจะปรากฏผลตัดสิน เนื่องจากกลไกระงับข้อพิพาทของดับเบิลยูทีโอ มีงานคั่งค้างอยู่อีกมาก
และถึงแม้จีนจะชนะ แต่สหรัฐฯ ยังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คำตัดสิน ซึ่งการทำงานของคณะกรรมการในชั้นนี้ก็ดำเนินไปอย่างเชี่องช้าเช่นกัน
การยื่นฟ้องของจีนมีขึ้นไม่กี่วัน หลังจากดับเบิลยูทีโอเพิ่งตัดสินชี้ขาดให้สหรัฐฯ เป็นฝ่ายแพ้ ในคดีที่รัฐบาลทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าโลหะร้อยละ 25 และอะลูมิเนียมร้อยละ 10 ในปี 2561 โดยอ้างเหตุผลเพื่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งจีนและอีก 3 ชาติคือ นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ และตุรกีร่วมกันยื่นฟ้อง แต่สหรัฐฯ ได้ปฏิเสธคำตัดสิน
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ มักวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการอนุญาโตตุลาการของดับเบิลยูทีโอ และเคยมีประวัติขัดขวางการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทการค้า ซึ่งเป็นคณะทำงานสูงสุดของดับเบิลยูทีโอมาแล้วในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
ในเมื่อจุดยืนของสหรัฐฯ เป็นเช่นนี้ย่อมหมายความว่า ข้อพิพาทกับสหรัฐฯ บางเรื่องก็ไม่มีวันหาข้อยุติลงเอยกันได้
ข้อมูลจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก/อัลจาซีรา