xs
xsm
sm
md
lg

สีจิ้นผิงพูดถึงเหตุการณ์ “เทียนอันเหมิน” ในพิธีไว้อาลัยเจียงเจ๋อหมิน อดีตผู้นำ “หูจิ่นเทา” ปรากฏตัวด้วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในพิธีไว้อาลัยอดีตประธานาธิบดี “เจียงเจ๋อหมิน” มีนัยทางการเมืองหลายอย่าง ทั้งการกล่าวของเหตุการณ์ประท้วงที่จัตุรัสเทียนอันเหมินของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง การเข้าร่วมพิธีของอดีตประธานาธิบดี “หูจิ่นเทา” ที่เคยมีภาพต้องออกจากที่ประชุมสมัชชา 20 กลางคัน

สีจิ้นผิงกล่าวคำไว้อาลัยแด่อดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ณ พิธีที่จัดขึ้น ณ มหาศาลาประชาชาชน ในเช้าวันที่ 6 ธันวาคม นอกจากกล่าวถึงชีวประวัติและผลงานของอดีตผู้นำที่ล่วงลับแล้ว ในช่วงหนึ่ง สีจิ้นผิงยังได้กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อมี 1989 ว่า

“ในช่วงฤดูใบไม้ผลิย่างเข้าฤดูร้อนปี 1989 ประเทศของเราได้เจอมรสุมทางการเมืองอย่างรุนแรง สหายเจียงเจ๋อหมินได้ยึดมั่นในการนำของศูนย์กลางพรรคฯ อย่างแน่วแน่เพื่อต่อต้านความวุ่นวาย ปกป้องการปกครองระบอบสังคมนิยม ตัดสินใจอย่างถูกต้องที่จะพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชน นำพาสมาชิกพรรค ข้าราชการ และประชาชน รักษาความเรียบร้อยในเซี่ยงไฮ้”

คำกล่าวของสีจิ้นผิงสะท้อนจุดยืนที่ไม่เปลี่ยนแปลงของรัฐบาลจีน ที่มองว่า เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตย “จัตุรัสเทียนอันเหมิน” เป็น “มรสุมทางการเมือง” (政治风波) และเป็น “ความวุ่นวาย” (动乱)

ในครั้งนั้น เจียงเจ๋อหมินเป็นเลขาธิการพรรคประจำนครเซี่ยงไฮ้ ยังไม่มีบทบาทในศูนย์กลางการปกครองที่กรุงปักกิ่ง แต่หลังจากนั้นเพียงไม่ถึงเดือน เขาได้รับเลือกให้ผู้นำสูงสุดของจีน


สีจิ้นผิงยังกล่าวว่า ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990 ระบอบสังคมนิยมของโลกเกิดการพลิกผันอย่างรุนแรง ชาติตะวันตกได้ใช้มาตรการ “คว่ำบาตร” จีน การพัฒนาตามระบบสังคมนิยมของจีนเผชิญความยากลำบากและแรงกดดันอย่างใหญ่หลวง ในช่วงเวลาสำคัญที่จะชี้ชะตาพรรคและอนาคตของประเทศ สหายเจียงเจ๋อหมินได้นำพาคณะผู้นำ กองทัพ และประชาชนสร้างเศรษฐกิจ จัดระเบียบทางการเมือง และต่อสู้ในเวทีระหว่างประเทศ จนประสบความสำเร็จในการพิทักษ์การปฏิรูปและเปิดประเทศ

การกล่าวถึงการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกในยุคของเจียงเจ๋อหมิน สะท้อนสถานการณ์ในขณะนี้ที่สีจิ้นผิงกำลังเผชิญอยู่เช่นเดียวกัน และแสดงถึงความมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จแบบเดียวกัน

สีจิ้นผิงยังยกย่องเจียงเจ๋อหมินในเรื่องการปกครองฮ่องกงและมาเก๊าหลังจากคืนสู่การปกครองของจีน รวมทั้งการเจรจากับไต้หวันจนบรรลุ “ฉันทมติ 1992” ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน


“หูจิ่นเทา” ปรากฏตัว ดับข่าวลือความขัดแย้ง

ในวันที่ 5 ธันวาคม สีจิ้นผิง และคณะผู้นำจีนได้เดินทางไปคารวะศพของอดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ณ โรงพยาบาลทหาร 301 ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งอดีตประธานาธิบดีหูจิ่นเทาก็ได้ไปร่วมพิธีด้วย

สื่อของทางการจีนได้เผยแพร่ภาพหูจิ่นเทายืนทางซ้ายมือของสีจิ้นผิง ซึ่งตามธรรมเนียมของจีนแล้ว เป็นตำแหน่งที่สูงกว่านายกฯ หลี่เค่อเฉียง ที่ยืนทางขวามือ

หูจิ่นเทามีท่าทางอิดโรย ต้องมีเจ้าหน้าที่เดินประกบตามหลัง แต่ก็สามารถร่วมพิธีขึ้นเสร็จสิ้นราว 15 นาที


นี่เป็นครั้งแรกที่หูจิ่นเทาปรากฏตัวต่อสาธารณะ หลังจากมีภาพเขาถูก “เชิญตัว” ออกจากพิธีปิดการประชุมใหญ่สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 จนเกิดเสียงร่ำลือต่างๆ นานา

นอกจากนี้ การจัดลำดับความสำคัญของคณะผู้นำจีนในพิธีศพและพิธีไว้อาลัยของอดีตประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ยังคงให้ความสำคัญกับคณะผู้นำชุดปัจจุบัน โดยนายหลี่เค่อเฉียง อยู่ในลำดับที่ 2 ต่อจากสีจิ้นผิง ตามมาด้วยนายลี่จ้านซู นายวังหยาง แล้วจึงเป็นนายหลี่เฉียง ที่เป็นผู้นำลำดับ 2 คนใหม่จากการประชุม “สมัชชา 20” เมื่อเดือนตุลาคม

การจัดลำดับผสมผสานระหว่างผู้นำชุดเก่าและชุดใหม่เช่นนี้อาจสะท้อนการประนอมอำนาจ หลังจากสีจิ้นผิงสามารถผลักดันคนสนิทของตนเข้าไปยึดกุมโปลิตบูโรได้ทุกตำแหน่ง กลุ่มของหลี่เค่อเฉียง และหูจิ่นเทาจะพ้นจากตำแหน่งในเดือนมีนาคมปีหน้า ขณะที่ขั้วอำนาจของเจียงเจ๋อหมินก็ได้สิ้นสุดลงตามการอสัญกรรมของเขา.


กำลังโหลดความคิดเห็น