xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : เศรษฐกิจที่ถดถอยกับชีวิตชาวจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การล้มของภาคอสังหาฯ จีนจะส่งแรงกระเพื่อมมหาศาลต่อเศรษฐกิจ ในภาพสำนักงานยักษ์ใหญ่อสังหาฯ จีน เอเวอร์แกรนด์ ในเซี่ยงไฮ้ ที่กำลังเผชิญวิกฤตหนี้มหาศาล (แฟ้มภาพรอยเตอร์)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล นักวิชาการอิสระ

ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาเล่าสู่กันฟังถึงชีวิตของชาวจีนภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจถดถอยภายในประเทศ โดยจะมองและวิเคราะห์จากหลายมิติ เหตุที่มาและผลที่ตามมา

หากจะถามว่าเมื่อใดกันที่เศรษฐกิจจีนเริ่มถดถอย? ก็อาจจะต้องย้อนไปถึงปี 2018-2019 ที่ถึงแม้ว่าจีนจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอันดับต้นๆ ของโลก แต่การเติบโตของ GDP จีนเริ่มลดลงมาจากเลขสองหลักเป็นหนึ่งหลัก (เหลือเป้าหมายการเติบโต GDP รายปีไม่ถึง 10%) และต่อมานายกรัฐมนตรีจีน นายหลี่ เค่อเฉียง ออกมาประกาศนโยบายและแนวทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีน “จะเติบโตช้าอย่างมั่นคง” หมายถึงเปลี่ยนจุดเป้าหมายจากการเติบโตที่เร็วพุ่งกระฉูด มาเป็นเติบโตช้าหน่อยแต่มั่นคงกว่า แนวทางเศรษฐกิจของจีนที่เปลี่ยนไปในทุกครั้งเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก โดยในขณะนั้นภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณถดถอย จีนจึงจำเป็นต้องปรับตัว

การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงของจีนในช่วง 10 ปีนี้มานี้มีมาก โดยในส่วนของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมีความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดมากที่สุด ภาคอุตสาหกรรมจีนมีการอัปเกรดและผนวกรวมเทคโนโลยีมากขึ้น ชาวจีนมีทักษะสูงขึ้น ค่าแรงสูงขึ้น ภาคเกษตรจีนก็พยายามนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อทุ่นแรงและให้มีการจัดระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น เศรษฐกิจจีนในช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตของ GDP จะเริ่มลดต่ำลงแต่การเติบโตในเชิงคุณภาพมีมากขึ้น ประชาชนจีนเองมีการปรับตัวมากขึ้นกับโครงสร้างเศรษฐกิจและการพัฒนาที่เปลี่ยนไป แรงงานและคนรุ่นใหม่จีนเฮโลกันไปทำงานในภาคเศรษฐกิจบริการไอทีมากขึ้น การเติบโตแบบมาแรงโกยรายได้กันเป็นกอบเป็นกำ แต่การเมื่อไต่สูงขึ้นไปเท่าไหร่ก็ยิ่งหนาว (ขณะนี้ภาคที่มีการปลดพนักงานเร็วและมากที่สุดคือกลุ่มธุรกิจไอที)

หนุ่มจีนเดินผ่านป้ายรับสมัครงาน การว่างงานในเขตเมืองของจีนกำลังพุ่งสูง ประชากรวัย 16-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงถึง 15-20% (ภาพจากซินหัว)
การเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ผ่านมามี “ระเบิดเวลาลูกใหญ่” อยู่ลูกหนึ่งที่ฝังอยู่และเป็นความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์แบบไร้ทิศทาง ไร้การควบคุมมาหลายสิบปี รัฐบาลออกประมูลที่ดินมากมายเพื่อให้บริษัทอสังหาฯ เอาไปพัฒนาและขายให้ประชาชน จนปัจจุบันจำนวนที่อยู่อาศัยในจีนล้นเกินความต้องการ การปั่นราคาของกลุ่มทุนและประชาชนที่เก็งกำไรบ้านจนราคาบ้านพุ่งขึ้นไปสูงจนทำให้คนรุ่นใหม่แทบไม่มีปัญญาจะซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ การเติบโตแบบไร้ทิศทางของภาคอสังหาฯ จีน ทำให้ในช่วงปี 2018-2019 ทางรัฐบาลจีนเริ่มดำเนินนโยบายควบคุมการซื้อและเก็งกำไรอสังหาฯ อย่างจริงจัง ทำให้ในชั่วพริบตาภาคอสังหาฯ จีนทั่วประเทศเริ่มลดความร้อนแรงและถดถอยลง ราคาบ้านในหลายพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มเมืองชั้น 2 เมืองชั้น 3 ลดลงๆ บางพื้นที่ลดลงถึง 50-60% บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ได้รับผลกระทบทันที โดยจำนวนการขายบ้านมือหนึ่งลดฮวบลงอย่างรวดเร็ว บริษัทพัฒนาอสังหาฯ เงินหมุนเวียนไม่เพียงพออีกต่อไป

ธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้ง่ายๆ บริษัทพัฒนาอสังหาฯ เริ่มล้ม สุดท้ายกระทบมาถึงประชาชนที่ซื้อบ้าน หลายโครงการไม่สามารถส่งมอบบ้านให้ลูกค้าได้ตามสัญญา ประชาชนผู้รับกรรมก็ต้องดิ้นรนเรียกร้องสิทธิของตนเองไปและปัจจุบันถึงแม้ว่ารัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นต่างๆ จะพยายามเป็นตัวกลางเข้าช่วยเหลือแก้ปัญหา แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ราบคาบในทุกพื้นที่และทันที และเนื่องจากภาคธุรกิจอสังหาฯ เป็นภาคธุรกิจที่ใหญ่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำหลายประเภท ทั้งด้านวัสดุอุปกรณ์การก่อสร้าง การจัดซื้อ แรงงาน การบริการตกแต่งภายใน เกิดธุรกิจคนกลางซื้อขาย ธุรกิจบริการนิติบุคคล เป็นต้น ดังนั้น หากภาคอสังหาฯ ล้มลงจะส่งแรงกระเพื่อมมหาศาล นักเศรษฐศาสตร์จีนได้เคยบอกไว้ว่า “อยากจะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ? ก็ลงทุนก่อสร้างสิ สร้างมากเท่าไหร่ยิ่งกระตุ้นได้มากเท่านั้น” ที่ผ่านมา การก่อสร้างช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตเร็ว เกิดการพึ่งพามากและหากว่าภาคอสังหาฯ พังทลายลง เศรษฐกิจคงจะเจ็บหนักแบบแทบจะดิ่งเหว

ต่อมาคือการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ลากยาวนานมาพอๆ กับวิกฤตอสังหาฯ ในจีน ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก จีนเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่ยังใช้มาตรการการควบคุมการระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวดอยู่ ผลกระทบโดยตรงที่เกิดกับประชาชนคือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก การเดินทางไม่สะดวกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเดินทาระหว่างประเทศมีมาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มข้น

ผู้เขียนมองว่าเรื่องของการระบาดของโควิด-19 และมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดมายาวนานเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจจีนยิ่งซบเซาลงไปอีก ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนมีปัญหาเรื้อรังแก้ไม่จบไม่สิ้นอยู่แล้ว เช่น ฟองสบู่ราคาอสังหาฯ ความเหลื่อมล้ำในสังคม การเติบโตไม่สมดุลของกลุ่มเมือง ‘สังคมแห่งคอนเน็กชัน’ หรือที่เรียกว่า กวนซี่ (关系) และทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น ทำให้ปัญหาใหม่ + ปัญหาเรื้อรังประทุขึ้นในช่วงเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว

ในภาคประชาชนจีนเริ่มรับรู้ถึงเศรษฐกิจในประเทศเริ่มจะไม่ค่อยดีตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 เพราะเริ่มมีสัญญาณต่างๆ เกิดขึ้น โดยผู้เขียนขอแยกเป็นประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

- ข่าวการปลดพนักงานของบริษัทต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่าง อาลีบาบา เทนเซนต์ JD.com และไป๋ตู้ เป็นต้น บิ๊กเทคเหล่านี้มีข่าวปลดพนักงานออกมาเรื่อยๆ โดยทางบริษัทต่างให้เหตุผลว่า “เพราะต้องการจะอัปเกรดโครงสร้างพนักงาน” ส่วนบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมอื่นๆ ก็มีการลดขนาดกันมากมายโดยไม่ได้เป็นข่าว

- การที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเริ่มเกิดปัญหาและล้มละลาย เช่น บริษัทอสังหาฯ อันดับหนึ่งของประเทศอย่างเอเวอร์แกรนด์ ที่ประสบวิกฤตหนี้ร่อแร่ หลังจากนั้นยังมีบริษัทอสังหาฯ อีกมากมายที่ออกประกาศล้มละลายอย่างเป็นทางการ ทำให้ประชาชนแตกตื่นและรู้สึกไม่ปลอดภัยต่อเศรษฐกิจในประเทศ

ร้านค้าแห่งหนึ่งในจีนปิดประกาศยกเลิกกิจการ (ภาพจากโซเชียลมีเดียจีน เวยปั๋ว)
- อัตราการว่างงานของประชาชนในเมืองพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะประชากรวัยรุ่นช่วง 16-24 ปี มีอัตราการว่างงานสูงถึง 15-20% นักศึกษาปริญญาตรีจบใหม่ทะลุ 10 ล้านคนในปีนี้ทำให้ตลาดงานแข่งขันสูง นักศึกษาจบใหม่หางานยาก

- ธุรกิจจีนเปลี่ยนจากการพยายามสร้างนวัตกรรม สร้างโอกาสแข่งขันเพื่อสร้างรายได้มากๆ กลายเป็นประคองธุรกิจเพื่ออยู่รอด ธุรกิจจีนขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนมากต้องประคองตัวเองให้อยู่รอด การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นทำให้กำไรน้อยลง ความกดดันมีมากขึ้น การชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจทำให้เศรษฐกิจและการสร้างงานได้รับผลกระทบ

- ประชาชนชะลอการใช้จ่าย รัดเข็มขัดมากขึ้น ในกลุ่มคนจีนรุ่นใหม่เกิดปรากฏการณ์ “ลดเกรดการใช้จ่าย” ที่ชัดเจน อย่างเทศกาลชอปแหลกวันคนโสด 1111 (วันที่ 11 พ.ย.) ในปีนี้เงียบเหงามาก ถึงขนาดเถาเป่า Tmall และ JD.com ไม่ออกประกาศระบุยอดขายช่วงเทศกาล

ชีวิตชาวจีนในช่วงนี้มีความกดดันหลากหลายด้าน ในสังคมเหลื่อมล้ำที่แต่ละคนมีภูมิต้านทานต่อวิกฤตเศรษฐกิจที่ต่างกัน แน่นอนว่าคนที่มีต้นทุนดีหน่อย การงานมั่นคงอาจจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักแต่จะต้องใช้จ่ายและใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น คนที่รวยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย ส่วนแรงงานภาคบริการและแรงงานทั่วไปในสังคมเป็นกลุ่มเปราะบางที่สุด เป็นกลุ่มที่มักจะได้รับโอกาสและสวัสดิการในสังคมเป็นลำดับท้ายๆ ช่วงโควิด-19 ระบาดอยู่นี้ คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการล็อกดาวน์ เพราะการต้องหยุดงานหมายถึงรายได้ก็ต้องขาดไปด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ทาง JD.com ได้ออกประกาศฉบับใหม่ถึงพนักงานทุกคน ประเด็นสำคัญมีสองเรื่อง หนึ่งคือการกลับมาบริหารงานอีกครั้งของนายหลิว เฉียงตง ผู้ก่อตั้ง JD.com กล่าวกันว่าเขากำลังกลับมาเพื่อกอบกู้บริษัทให้ฝ่าวิกฤตจากที่ผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันมาหลายไตรมาส สองคือการประกาศลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูงลง 10-20% ยิ่งตำแหน่งสูงเงินเดือนเยอะจะถูกลดเยอะ เงินที่ลดนี้จะเอาไปจ่ายประกันสังคมให้พนักงานชั้นแรงงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยการตัดสินใจครั้งนี้นายหลิว เฉียงตง ให้เหตุผลว่า กลุ่มเปราะบางนี้เป็นกำลังสำคัญของบริษัท ต้องดูแลพวกเขาให้ดีเพื่อลดการลาออกและโยกย้าย หากฐานแข็งแกร่งแล้วจะทำให้บริษัทเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยืนยาว ชาวจีนจำนวนมากออกมาสนับสนุนการตัดสินใจของ JD.com ในครั้งนี้

สรุป สถานการณ์ชีวิตชาวจีนในประเทศจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจไม่มากก็น้อย และจากการล็อกดาวน์บ่อยครั้งและยาวนานทำให้ชนชั้นกลางและชนชั้นล่างจีนซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับผลกระทบที่มากที่สุด สุดท้ายปัญหาทางเศรษฐกิจที่ลากยาวอาจจะเป็นการจุดชนวนไปสู่ปัญหาด้านอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น