ผู้นำชาติยุโรปไม่ขอร่วมวงกับสหรัฐฯ ในการแยกตัวออกมาจากเศรษฐกิจของจีน หรือสนับสนุนมาตรการจำกัดการส่งออกชิปไปแดนมังกร
การแสดงออกอย่างชัดเจนนี้ปรากฏขึ้นในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจี 20 ที่อินโดนีเซีย และการประชุมสุดยอดเอเปกที่กรุงเทพฯ ภายหลังจากที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้มีการหารือทวิภาคีเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่บาหลี ก่อนซัมมิตจี 20 จะเปิดฉาก 1 วัน
โดยเมื่อวันศุกร์ (18 พ.ย.) ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เรียกร้องการมีส่วนร่วมกับจีน และต่อต้านการพยายามแบ่งแยกเศรษฐกิจในโลกออกเป็นกลุ่มการแข่งขันต่างๆ ในการกล่าวปาฐกถาต่อที่ประชุมผู้นำภาคเอกชนเอเปกที่กรุงเทพฯ โดยมาครง ระบุว่า เราต้องการให้โลกมีระเบียบอันเดียวกัน การแบ่งแยกจะเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง แม้แต่กับสหรัฐฯ และจีนเอง
ข้อเรียกร้องของมาครง คล้ายคลึงกับที่นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนีกล่าวระหว่างการเยือนจีนเมื่อต้นเดือนนี้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับนายกรัฐมนตรีมาร์ก รึตเตอ ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งกำลังหาทางร่วมมือกับชาติผู้ผลิตชิปรายสำคัญอื่นๆ เช่นเกาหลีใต้ ในการต่อต้านแรงกดดันจากสหรัฐฯ
ปาฐกถาของผู้นำฝรั่งเศส สะท้อนให้เห็นว่า ยุโรปกำลังพยายามเดินสายกลางกับจีน โดยถึงแม้ว่าบางชาติเรียกร้องให้แข็งกร้าวกับปักกิ่งในเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่มาตรการจำกัดการส่งออกชิป ซึ่งสหรัฐฯ ประกาศเพื่อหวังสกัดกั้นการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนเมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกับขอให้ชาติพันธมิตรร่วมมือด้วยนั้น ทำให้ยุโรปหันมาวิตกในเรื่องการกระทำที่มากเกินไปของสหรัฐฯ แทน อีกทั้งมาตรการนี้ยังก่อให้เกิดความกลัวกันว่า เศรษฐกิจโลกจะเกิดการแตกแยก
นายโนอาห์ บาร์คิน บรรณาธิการบริหารฝ่ายรายงานการวิจัยเกี่ยวกับจีนของสถาบันโรเดียมกรุ๊ป ยังมองว่า สภาพการณ์ ที่เกิดขึ้นกับยุโรปในขณะนี้ เช่น เศรษฐกิจของเยอรมนีที่กำลังบ่ายหน้าสู่ภาวะถดถอย หรือยุโรปกำลังเผชิญกับฤดูหนาวอันทารุณโดยไร้น้ำมันและก๊าซราคาถูกจากรัสเซีย ทำให้ความกระหายเผชิญหน้ากับจีนเหลืออยู่นิดเดียว
การเปลี่ยนแปลงท่าทีของผู้นำชาติยุโรปจึงเท่ากับเป็นชัยชนะของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หลังจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรถดถอยย่ำแย่มาตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด โดยช่วงเวลา 6 วันในการเยือนต่างประเทศเพื่อเข้าร่วมซัมมิต 2 เวที ผู้นำจีนได้พบปะกับผู้นำราว 20 ชาติ และใช้โอกาสนี้โน้มน้าวไม่ให้มีการแยกขาดเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานจากจีน
"เราต้องคัดค้านการนำประเด็นเศรษฐกิจและการค้ามาเป็นเรื่องการเมือง และรักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานด้านอุตสาหกรรมในโลกเอาไว้" ผู้นำจีนกล่าวระหว่างการหารือกับนายกรัฐมนตรีรึตเตอ
ขณะนี้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์กำลังถูกสหรัฐฯ กดดันอย่างหนักเพื่อให้บริษัทอาเอสเอ็มเอล โฮลดิง เอ็นวี ผู้ผลิตชิปชั้นนำของโลกสัญชาติดัตช์ ยอมร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการจำกัดการส่งออกชิปและเครื่องมือผลิตชิปขั้นสูงแก่จีน โดยหลังจากซัมมิตจี20 นายกรัฐมนตรีรึตเตอ ได้ไปเยือนกรุงโซลและหารือกับประธานาธิบดียุน ซ็อก ย็อล ของเกาหลีใต้ ซึ่งมีบริษัทผู้ผลิตชิปยักษ์ใหญ่คือบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ และบริษัทเอสเค ไฮนิกซ์
จากนั้นอีก 1 วันต่อมา รัฐมนตรีกระทรวงการค้าต่างประเทศดัตช์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เอ็นอาร์ซีว่า รัฐบาลจะไม่ก๊อบปี้มาตรการของสหรัฐฯ ไปเสียทุกอย่าง และสหรัฐฯ ไม่ควรคาดหวังว่า เนเธอร์แลนด์จะยอมรับมาตรการจำกัดการส่งออกไปยังจีนโดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ
ข้อมูลจาก "Europe Reasserts Middle Path on China, Pushing Back on Biden" ในบลูมเบิร์ก