xs
xsm
sm
md
lg

โลกหวังการประชุม G20-APEC เสริมความเป็นปึกแผ่นในห้วงวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


โลโก้การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม จี20 ครั้งที่ 17 ณ สถานที่จัดงานหลักในจังหวัดบาหลีของอินโดนีเซีย วันที่ 12 พ.ย. 2565 (แฟ้มภาพซินหัว)
ซินหัว - ห้วงยามบรรดาผู้นำโลกรวมตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อเข้าร่วม 2 การประชุมระดับโลกในสัปดาห์นี้ ประชาคมระหว่างประเทศต่างคาดหวังว่าผู้นำเหล่านี้จะผนึกรวมองค์ความรู้ และยกระดับการดำเนินงาน เพื่อรับมือสารพัดความท้าทายเร่งด่วนร่วมกัน และแสวงหาวิถีทางสู่การฟื้นฟูทั่วโลกและการพัฒนาร่วมกัน การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม จี20 (G20) ครั้งที่ 17 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 พ.ย. ในจังหวัดบาหลีของอินโดนีเซีย ตามด้วยการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders' Meeting) ครั้งที่ 29 ณ กรุงเทพมหานครของประเทศไทย

การสร้างฉันทมติและขยายการประสานงานของนานาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เพื่อชี้นำความพยายามระดับโลก ถือเป็นหัวใจสำคัญของการประชุมทั้งสอง ท่ามกลางการเผชิญหลายวิกฤตทับซ้อน ทั้งการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรง เศรษฐกิจโลกอันเปราะบาง และปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน มีการเรียกร้องการร่วมรับมือความท้าทายด้วยความแข็งแกร่ง การจัดการที่ดี และความสมดุล โดยคณะผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า กลุ่มสมาชิก จี20 และเอเปกต้องทำงานร่วมกันเพื่อหาแนวทางอันมีประสิทธิภาพและร่วมลงมือปฏิบัติเพื่อเกื้อหนุนความร่วมมือ พร้อมหวังว่าจีนจะมีบทบาทเชิงบวกเพิ่มเติมในการบรรลุการพัฒนาระดับโลกที่เข้มแข็ง ยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล

โลกปรารถนาความสามัคคีมากกว่าที่เคย

ปัจจุบัน โรคโควิด-19 ยังคงระบาดทั่วโลก ขณะเศรษฐกิจโลกอาจก้าวสู่ภาวะถดถอยรุนแรง มิหนำซ้ำยังมีความพยายามจัดตั้งกลุ่มกองพิเศษเพิ่มขึ้น การกู่ร้องสนับสนุนการแบ่งขั้ว และการยุยงปลุกปั่นให้เกิดการเผชิญหน้า ซึ่งบั่นทอนความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วโลกอย่างรุนแรงและขัดขวางความร่วมมือระหว่างประเทศ

พนักงานเคลื่อนย้ายตู้สินค้าของไชน่า เรลเวย์ เอกซ์เพรส ในเมืองมาลาเชวิเซของโปแลนด์ วันที่ 15 ต.ค. 2564 (แฟ้มภาพซินหัว)
เมื่อไม่นานนี้ ยูกิโอะ ฮาโตยามะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหัวว่าโลกทุกวันนี้เผชิญความยากลำบากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และชะตากรรมของนานาประเทศล้วนยึดโยงกันไว้ ซึ่งทำให้วิกฤตในประเทศหนึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ

สมาชิกกลุ่ม จี20 และเอเปก ซึ่งเป็นเวทีหลักสำหรับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำต้องใช้การรวมตัวทั้ง 2 ครั้งเป็นสะพานเชื่อมความแตกต่าง ขยับขยายการสื่อสาร สร้างฉันทมติระดับโลก และทำงานอย่างเป็นเอกภาพ ณ ห้วงยามแห่งวิกฤตนี้ เหล่าผู้นำได้รับการเรียกร้องให้ร่วมกันลงมือปฏิบัติเพื่อปรับปรุงธรรมาภิบาลโลก เสริมสร้างการประสานงานกับอีกฝ่ายในด้านต่างๆ เช่น การต่อสู้กับโรคระบาดใหญ่ นโยบายเศรษฐกิจมหภาค การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจโลก

กลุ่ม จี20 ซึ่งประกอบด้วยประเทศและภูมิภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และเศรษฐกิจเกิดใหม่ของโลก และครองสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกมากกว่าร้อยละ 80 การค้าระหว่างประเทศมากกว่าร้อยละ 75 และประชากรโลกราว 2 ใน 3 จะต้องทำหน้าที่ผู้นำและแบกรับความรับผิดชอบมากขึ้น เช่นเดียวกับหลังเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008

การประชุมว่าด้วยความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและการเปิดกว้างระดับสูงขึ้นในนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน วันที่ 5 พ.ย. 2565 (แฟ้มภาพซินหัว)
ปีเตอร์ ดรายส์เดล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า เรายังคงขาดแคลนความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน โดยความร่วมมือระหว่างประเทศมีนัยสำคัญยิ่งยวดต่อการก้าวข้ามความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการทำงานร่วมกันในประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ

วิถีทางสู่การพัฒนาเพื่อการฟื้นฟู

เมื่อเดือนตุลาคม เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก เตือนว่าเศรษฐกิจโลกเข้าใกล้ภาวะถดถอยรุนแรง ขณะอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น และภาระหนี้สินพอกพูนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยธนาคารโลกได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกในปี 2023 จากเดิมร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 1.9

เหล่าผู้สังเกตการณ์กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงก่อความสูญเสียด้านประชากรและส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อเศรษฐกิจโลก โดยการแก้ปัญหาระดับโลกแบบองค์รวมควรให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการค้าและการลงทุนแบบเปิด โครงสร้างพื้นฐาน และการเงินอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม จี20 ภายใต้แนวคิด "ฟื้นฟูไปด้วยกัน ฟื้นฟูให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น" จะมุ่งเน้นการเสริมสร้างโครงสร้างสุขภาพระดับโลก เร่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ยั่งยืน และส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล โดยมีจุดมุ่งหมายจัดการช่องโหว่ของการพัฒนาระหว่างกลุ่มประเทศร่ำรวยและยากจนที่ถีบกว้างขึ้น

รีเบกกา สตา มาเรีย ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการเอเปก ระบุว่า หัวข้อดังกล่าวเป็นสิ่งที่สมาชิกเอเปกให้ความสำคัญเช่นกัน โดยบูรณาการทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ความสอดคล้องของกฎระเบียบ และการสร้างความเป็นดิจิทัลล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่เอเปกให้ความสำคัญตลอดหลายปีที่ผ่านมา

โรงงานโฟล์คสวาเกน อันฮุย เอ็มอีบี ระหว่างการก่อสร้างในเขตการค้าเสรีนำร่องเหอเฝย มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน วันที่ 4 ก.ค.2565 (แฟ้มภาพซินหัว)
ช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ร่วมแรงขยับขยายความร่วมมือและส่งเสริมการบูรณาการระดับภูมิภาค ซึ่งทำให้ภูมิภาคแห่งนี้เป็นเขตเศรษฐกิจที่มีพลวัตและแนวโน้มการเติบโตดีที่สุดในโลก โดยมีการจัดตั้งแพลตฟอร์ม ความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง เปิดตัวความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) และเดินหน้าสู่เป้าหมายของเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2022 มอบผลประโยชน์แก่สมาชิกอย่างชัดเจนผ่านการลดหย่อนภาษีศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยข้อมูลทางการระบุว่าการค้าของจีนกับสมาชิกความตกลงฯ ช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม มีมูลค่าสูงราว 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 42.8 ล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 30.5 ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของจีน จีนเข้าร่วมเอเปกตั้งแต่ 31 ปีก่อน และยังคงยึดมั่นการเป็นหุ้นส่วนระดับภูมิภาค รวมถึงการค้าและการลงทุนเสรี ซึ่งมีส่วนส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีและเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้างอย่างมีนัยสำคัญ

คี เสรีวัต อธิบดีสถาบันจีนศึกษา ราชบัณฑิตยสถานแห่งกัมพูชา กล่าวว่า จีนเป็นผู้รักษาเสถียรภาพของห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก และคอยแบ่งปันผลลัพธ์การพัฒนากับทั่วโลกมาโดยตลอด ซึ่งจะช่วยเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากโรคระบาดใหญ่

ไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

โรคระบาดใหญ่อันยืดเยื้อนำไปสู่สารพัดวิกฤตทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยรายงานจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนกรกฎาคมระบุว่า จำนวนผู้เผชิญความอดอยากเพิ่มขึ้น 46 ล้านคน เป็น 828 ล้านคนในปี 2021 ส่งผลให้ประชาคมระหว่างประเทศห่างไกลอีกก้าวจากการบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development)

ประชาคมโลกจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น ความมั่นคงทางอาหาร การรับมือและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ตลอดจนการบรรเทาความยากจน ขณะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วควรปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาในการช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เพื่อทำให้การพัฒนาทั่วโลกมีความสมดุลและครอบคลุมยิ่งขึ้น

จีนส่งเสริมการพัฒนาของกลุ่มประเทศยากจนอย่างแข็งขันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งปฏิบัติตามคำมั่นในการช่วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเหล่านี้ แบ่งปันความรู้และเทคโนโลยีแก่ผู้คนท้องถิ่น และสนับสนุนการต่อต้านโรคระบาดใหญ่ เช่น หน้ากากอนามัยและวัคซีน รวมถึงหยิบยกสารพัดข้อเสนอ เช่น แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) และแผนริเริ่มการพัฒนาโลก (GDI) เพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วน ส่งเสริมความเชื่อมโยง และยกระดับการพัฒนาร่วมกัน

ผู้เชี่ยวชาญจีนทำงานที่นาข้าวในพื้นที่สาธิตของหมู่บ้านนารีอูในบูร์กินาฟาโซ วันที่ 13 ก.ค. 2564 (แฟ้มภาพซินหัว)
ธนาคารโลกรายงานว่า แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางช่วยผู้คนทั่วโลกหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง 7.6 ล้านคน และหลุดพ้นจากความยากจนขั้นปานกลางอีก 32 ล้านคน ทั้งช่วยกระตุ้นปริมาณการค้าร้อยละ 2.8-9.7 สำหรับกลุ่มประเทศที่เข้าร่วม และระหว่างร้อยละ 1.7-6.2 สำหรับทั่วโลก

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม จี20 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก จะช่วยบรรลุผลลัพธ์สำคัญซึ่งจะส่งมอบผลประโยชน์อันจับต้องได้แก่กลุ่มประเทศและภูมิภาคที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา และช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความท้าทายที่หลากหลายและสลับซับซ้อน

แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานกิจการเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย กล่าวว่า การเป็นประธานการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม จี20 ของอินโดนีเซียในปีนี้ จะเสริมสร้างระบบพหุภาคีและความเป็นหุ้นส่วนระดับโลกที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรับรองว่าเศรษฐกิจโลกยังคงเปิดกว้าง เท่าเทียม ได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน และไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้เบื้องหลัง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยากจนและเปราะบาง

โก คิง กี ประธานศูนย์วิจัยนิว อินคลูซีฟ เอเชีย (Center for New Inclusive Asia) คลังสมองของมาเลเซีย เผยว่า ทุกคนได้รับบทเรียนจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 แล้วว่า "ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย" พร้อมเรียกร้องกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วช่วยเหลือกลุ่มประเทศเปราะบางเติมเต็มช่องว่างด้านศักยภาพและสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อรับมือความท้าทายด้านสุขภาพในอนาคต

ด้าน บัมบัง ซูร์โยโน ประธานศูนย์วิจัยนวัตกรรมเอเชีย (Asia Innovation Study Center) คลังสมองของอินโดนีเซีย กล่าวว่าอินโดนีเซียมีแผนเดินหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกแบบครอบคลุมมากขึ้น โดยเฉพาะผ่านการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของธุรกิจขนาดเล็ก การขยับขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน และการสนับสนุนความร่วมมือด้านนวัตกรรมและความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเร่งการเข้าถึงเทคโนโลยีสะอาดในราคาจับต้องได้ทั่วโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น