xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : อาร์เซ็ป (RCEP) ประโยชน์ที่จีนรอคอยและการนำพาการค้าจีน-อาเซียนเข้าสู่ยุค 3.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดแสดงสินค้าจากไทยเข้าร่วมมหกรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18 ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน วันที่ 11 ก.ย.2021 (แฟ้มภาพซินหัว)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล นักวิชาการอิสระ

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) เริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ในปีนี้ ซึ่งอีกไม่นานการร่วมมือของกลุ่มความร่วมมืออาร์เซ็ปจะครบรอบ 1 ปีแล้ว ผู้เขียนสังเกตว่าจีนให้ความสำคัญกับการร่วมมือในกรอบอาร์เซ็ปเป็นอย่างมากทีเดียว เช่น การตื่นตัวของภาครัฐที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญและใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในกรอบความร่วมมือนี้อย่างเต็มที่ การนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการค้าความร่วมมือในกรอบอาร์เซ็ปออกมาสม่ำเสมอ ผู้เขียนมองว่า จีนเริ่มเบนเข็มมาที่อาเซียนอย่างจริงจังเพราะตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา คู่การค้าอันดับหนึ่งของจีนกลายเป็นอาเซียน โอกาสการร่วมมือในกรอบอาร์เซ็ปมีมากขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนในการร่วมมือกับชาติตะวันตกของจีนมีสูงขึ้น

ในงานจีน-อาเซียนเอ็กซ์โปที่มีจัดขึ้นทุกปีที่มณฑลกว่างซี ในปีนี้เป็นครั้งที่ 19 จัดระหว่างวันที่ 16-19 ก.ย.ที่ผ่านมา กรอบความร่วมมืออาร์เซ็ปกลายมาเป็นธีมหลักของการประชุมที่จะอัปเกรดการร่วมมือเขตการค้าเสรีระหว่างจีนและอาเซียนไปสู่ยุค 3.0 (Building A Version 3.0 China-ASEAN Free Trade Area) ในงานนี้มีการหารือเชิงลึกและบรรลุข้อตกลงร่วมกันในวงกว้าง มีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจการค้าทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ มีการอำนวยความสะดวกการจับคู่การค้าและการจับคู่โครงการ (Business matching) มากกว่า 3,500 คู่ และเพราะการเดินทางเข้าจีนที่ยังเป็นอุปสรรคทำให้ผู้ค้าจากหลายประเทศในอาเซียนไม่สามารถเดินทางมาจีนเพื่อเข้าร่วมงานได้ ทางผู้จัดจึงมีแพลตฟอร์มคลาวด์ชื่อว่า CAEXPO เพื่อให้คู่ค้าระหว่างจีนและอาเซียนสามารถประสานพูดคุยกันได้อย่างไร้รอยต่อ ปีนี้เป็นปีแรกที่อาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ ทำให้งานในปีนี้มีพื้นที่จัดบูทของอาเซียนและอาร์เซ็ปเป็นครั้งแรกด้วย มีกลุ่มประเทศอาร์เซ็ปอื่นนอกอาเซียน อย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่นก็จัดบูทเข้าร่วมงานด้วยเช่นกัน

นายอู๋ เจิ้งผิง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาการค้าต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์จีนกล่าวว่า "งานจีน-อาเซียนเอ็กซ์โปในปีนี้จะจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาร์เซ็ปจำนวนหนึ่ง เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างแวดวงธุรกิจระดับภูมิภาคอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น มีสัมมนาความร่วมมือทางกฎหมายทางการค้าจีน-อาเซียน และกิจกรรมอื่นๆ ด้วย” ดังนั้น อาร์เซ็ปจะเป็นแรงผลักดันใหม่สู่ความร่วมมือรอบด้านระหว่างจีนและอาเซียน

ทั้งนี้ อาร์เซ็ปลงนามโดย 10 ประเทศในอาเซียนและจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ประชากรทั้งหมด ปริมาณทางเศรษฐกิจ และปริมาณการค้ารวมคิดเป็นประมาณ 30% ของยอดรวมทั่วโลก กลุ่มการค้านี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของ "วงกลมแห่งมิตรภาพ" ที่สำคัญ จีนจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

จากข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่าในช่วง 8 เดือนแรกในปีนี้มูลค่าการค้าระหว่างจีนและอาเซียนอยู่ที่ 4.09 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้น 14% การค้าของจีนกับอาเซียนคิดเป็น 15% ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมดของจีน จีนยังคงรักษาสถานะคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนมาเป็นเวลา 13 ปีติดต่อกัน ในขณะเดียวกัน การนำเข้าและส่งออกของจีนไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ยังเพิ่มขึ้น 7.5% ด้วย

สำหรับประเทศไทย ภายใต้กรอบความร่วมมืออาร์เซ็ปตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึง เม.ย.เพียง 4 เดือนเท่านั้น ผู้ส่งออกของไทยได้ยื่นขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศในเขตร่วมมืออาร์เซ็ป มูลค่ารวม 204 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการนำเข้าจากประเทศในเขตการร่วมมืออาร์เซ็ป ไทยมีมูลค่ารวมของสินค้านำเข้าประมาณ 72.34 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว

สำหรับจีนแล้ว “กว่างซี” ได้รับประโยชน์จากกรอบความร่วมมืออาร์เซ็ปไปเต็มๆ เพราะกว่างซีเป็นประตูสำคัญสำหรับจีนที่จะติดตามสัมพันธ์กับอาเซียน โดยข้อมูลที่จัดทำโดยศุลกากรหนานหนิง เมืองเอกของกว่างซีแสดงให้เห็นว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ กรมศุลกากรหนานหนิงได้ออกใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าอาร์เซ็ปทั้งหมด 1,165 ฉบับมูลค่า 541 ล้านหยวน ในเดือน ส.ค.เดือนเดียว การนำเข้าและส่งออกของกว่างซีไปยังประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป เพิ่มขึ้น 22.7% การนำเข้า และส่งออกไปยังเกาหลีใต้ก็เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 68.6%

สำหรับการร่วมมือทางการค้ากับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ผู้เขียนมองว่าอาร์เซ็ปทำให้จีนบรรลุความพยายามสร้างเขตการค้าเสรีกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งจีนพยายามมายาวนานและได้มาคุยกันลงตัวในกรอบความร่วมมืออาร์เซ็ปโดยมีอาเซียนเป็นตัวกลางและเจ้าภาพเชิญทุกฝ่าย

สำหรับโอกาสและความท้าทายของจีนในกรอบความร่วมมืออาร์เซ็ปนี้ ผู้เขียนได้ติดตามและอ่านการวิเคราะห์จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจีน ได้สรุปเป็นประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

ที่มาข้อมูลตาราง Waimao Blog
- อาร์เซ็ปเป็นข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคฉบับแรกและใหญ่ที่สุดในโลกที่จีนส่งเสริม ไม่เพียงแต่เอื้อต่อการแสดงออกถึงเสียงของจีนในเวทีโลกเท่านั้น แต่ยังเอื้อต่อการบังคับใช้การปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศอีกด้วย

- พิสูจน์ให้โลกเห็นว่าจีนไม่ได้เก็บตัวและพยายามใช้ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศมาพัฒนาเชิงลึกกับนานาประเทศด้วย

- ในฝั่งผู้บริโภคในอาร์เซ็ปมีค่อนข้างน้อย ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เช่นกัน ในระยะยาวอาจจะทำให้การนำเข้าและส่งออกในอาร์เซ็ปไม่สมดุล กล่าวคือแข่งกันส่งออกในภูมิภาคแต่การบริโภคในภูมิภาคมีน้อยกว่า

- อาร์เซ็ปก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากในการควบรวมห่วงโซ่อุตสาหกรรมในจีน แต่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมก็เผชิญกับความท้าทายแบบ "แซนด์วิชที่มีจีนเป็นไส้อยู่ตรงกลาง" คือญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ได้ออกแรงกดดันอย่างมากต่ออุตสาหกรรมการผลิตระดับสูงของจีน ในขณะที่อินโดนีเซีย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ยังไล่ตามอุตสาหกรรมการผลิตระดับล่างของจีน ทำให้ความกดดันและท้าทายด้านอุตสาหกรรมของจีนมีอยู่ไม่น้อย

- โดยทั่วไปข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาคขนาดใหญ่จะต้องกำหนดสกุลเงินหลักในการชำระบัญชีระหว่างสมาชิก อย่างเช่น สกุลเงินหลักของข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือคือดอลลาร์สหรัฐ สหภาพยุโรปส่วนใหญ่ใช้เงินยูโร ทำให้ในการร่วมมือเศรษฐกิจระดับภูมิภาคได้ก่อตัวเป็นเขตดอลลาร์สหรัฐและเขตเงินยูโร แต่เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังไม่มีสกุลเงินหลักในภูมิภาค เพราะเหตุนี้ทำให้จีนพยายามดันเงินสกุลหยวนขึ้นมาเป็นสกุลเงินหลักในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งก็คือความท้าทายของจีน

- การแทรกแซงจากประเทศนอกภูมิภาคจะส่งผลเสียต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศจีนกับสมาชิกอาร์เซ็ป
ปัจจุบันในแง่ของการยกเว้นภาษีสินค้าระหว่างกันโดยรวมแล้ว ประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปเปิดรับจีนอย่างมาก โดยประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป ได้ยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ดังตารางต่อไปนี้

ในกรอบอาร์เซ็ปการร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเคมีและสิ่งทอมีระดับการเปิดเสรีสูงสุด ในแง่ของผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้า ประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปเปิดรับจีนมากกว่า 94% กลับกันผลิตภัณฑ์เครื่องกลและไฟฟ้าจากประเทศอาร์เซ็ปจีนยกเว้นการเก็บภาษีอยู่ที่ประมาณ 86% แต่ในแง่ของสินค้าเกษตร ระดับการเปิดเสรีของจีนคือ 83% ถือว่าค่อนข้างต่ำ แต่ในฐานะจีนเป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตร ระดับการเปิดเสรีสินค้าเกษตรขนาดนี้ก็ถือว่ามีมากกว่าแต่ก่อน

สำหรับประเทศไทยเองได้รับประโยชน์จากกรอบความร่วมมืออาร์เซ็ปเป็นอย่างมาก สินค้าที่ส่งออกจากประเทศไทยรวม 29,000 รายการ จะได้รับการยกเว้นภาษีจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สินค้าที่เน่าเสียง่ายอย่างพวกสินค้าเกษตรจากไทย จีนลดเวลาพิธีการทางศุลกากรจาก 48 ชั่วโมง เหลือ 6 ชั่วโมง จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรหลักเป็นเวลา 9 ปีติดต่อกัน มันสำปะหลังของไทย 98% ผลไม้เมืองร้อนของไทย 70% ยางพารา 30% ของไทย และข้าวหอมมะลิของไทย 10% ในแต่ละปีถูกส่งออกไปขายที่จีน

สรุป นอกจากความร่วมมือของจีนกับกลุ่มเอเปกแล้ว ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบอาร์เซ็ปมีความสำคัญต่อจีนและประเทศสมาชิกเป็นอย่างมาก การเริ่มมีผลบังคับใช้ยังไม่ถึง 1 ปีมีสัญญาณที่สดใส มีการเข้ามาร่วมมือจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาส สร้างสีสันของการร่วมมือมากขึ้น และทั้งหมดคือเหตุผลที่ว่าทำไมจีนถึงให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมืออาร์เซ็ปมากถึงเพียงนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น