xs
xsm
sm
md
lg

เยอรมนี-จีนย่างก้าวที่เปราะบาง บิ๊กบริษัทเมืองเบียร์ปรามถอนตัวจากแดนมังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ณ มหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 4 พ.ย.2565 - ภาพเอเอฟพี
ในขณะที่เยอรมนียังไม่ตกผลึกว่าจะดำเนินความสัมพันธ์ด้านการเมืองและธุรกิจกับจีนในอนาคตอย่างไรดี หลังจากการผลัดเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีผ่านมานานเกือบ 1 ปีแล้วนั้น

ล่าสุด ผู้บริหารระดับสูงสุด 8 คนของบริษัทชั้นนำเมืองเบียร์ ได้ร่วมกันเขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์รายวัน ฟรังค์ฟูร์เทอร์ อัลเกอไมเนอ ไซทุง (Frankfurter Allgemeine Zeitung) ฉบับวันพฤหัสฯ (10 พ.ย.) เป็นการเตือนถึงผลเสียหากเยอรมนีตีตัวออกห่างจากจีน

ผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นเหล่านี้ มีอาทิ ซีอีโอของกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมซีเมนส์ (Siemens) บีเอเอสเอฟ (BASF) บริษัทผู้ผลิตสารเคมียักษ์ใหญ่ของโลก บ๊อช (Bosch) บริษัทด้านเทคโนโลยี แชฟฟ์เลอร์ (Schaeffler) ผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ และการท่าเรือเมืองฮัมบวร์ก

บรรดาบิ๊กผู้บริหารเหล่านี้หยิบยกเหตุผลว่า จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และมีพลวัตมากที่สุด การมีทำเลที่ตั้งบริษัทบนแดนมังกรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลประโยชน์ความแข็งแกร่งด้านเศรษฐกิจของเยอรมนี นอกจากนั้น ศักยภาพของตลาดจีนยังทำให้บริษัทมีโอกาสขยายธุรกิจได้รวดเร็วขึ้น และประสบความสำเร็จมากขึ้นในตลาดอื่นๆ อีกด้วย ขณะที่การสร้างงานในประเทศก็มีความมั่นคง


ในบทความยอมรับว่า เมื่อคำนึงถึงพฤติกรรมของจีน ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตนมากขึ้น และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคซินเจียง การกำหนดความสัมพันธ์ของเยอรมนีกับจีนกันใหม่ในลักษณะที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง ใน 3 มิติ คือ การแข่งขัน ความร่วมมือ และการเป็นคู่แข่งทั่วทั้งระบบ (systemic rivalry) จึงเป็นสิ่งถูกต้อง อย่างไรก็ตาม บทความยังแสดงความเชื่อมั่นว่า แม้มีการกำหนดนโยบายกันใหม่ แต่พลังขับเคลื่อนสำหรับการเติบโตขั้นพื้นฐานของเศรษฐกิจเยอรมนีจะยังคงอยู่ต่อไป และการถอนตัวจากจีนจะเป็นการตัดโอกาสของบริษัทเยอรมนี

การออกมาเตือนครั้งนี้มีขึ้น หลังจากการลงทุนของจีนในเยอรมนีกลายเป็นจุดสนใจในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีของคอสโค (COSCO) บริษัทขนส่งสินค้าของรัฐบาลจีน ซึ่งเมื่อเดือน ต.ค. รัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ มีการหารือกันเกี่ยวกับการอนุมัติให้เข้าถือหุ้นร้อยละ 35 ในกิจการท่าเทียบเรือสินค้าเมืองฮัมบวร์ก แต่สุดท้ายคณะรัฐมนตรีไฟเขียวให้คอสโคถือหุ้นไม่ถึงร้อยละ 25 เพื่อป้องกันไม่ให้คอสโคมีสิทธิคัดค้านการตัดสินใจใดๆ ของการท่าเรือได้

นอกจากนั้น เมื่อวันพุธ (9 พ.ย.) ครม.เมืองเบียร์ยังสั่งห้าม เอลมอส เซมิคอนดักเตอร์ (Elmos Semiconductor) บริษัทผู้ผลิตชิปสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของเยอรมนี ขายโรงงานให้บริษัทไซเล็กซ์ (Silex) ของสวีเดน ซึ่งอยู่ในเครือของไซไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Sai Microelectronics) บริษัทเทคโนโลยีแดนมังกร โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของเยอรมนีก็กำลังหาทางประคับประคองสายสัมพันธ์ด้านธุรกิจที่แข็งแกร่งกับจีน ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยอดีตรัฐบาลนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล ด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องการหลีกเลี่ยงการเกิดความผิดพลาดซ้ำรอยอย่างที่เคยเกิดขึ้นในการดำเนินความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้ป้อนก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของเยอรมนี โดยจัดส่งให้มากกว่าครึ่งหนึ่งของก๊าซที่เยอรมนีใช้กันอยู่ทั้งหมด ทว่าตอนนี้รัสเซียไม่ส่งมาให้อีกแล้ว อันเป็นผลจากมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป เพื่อลงโทษที่รัสเซียโจมตียูเครน


ระหว่างการเยือนกรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน นายกรัฐมนตรีชอลซ์ เรียกร้องให้บริษัทของเยอรมนีกระจายการลงทุน แต่ยังคงสนับสนุนการทำธุรกิจกับจีนอยู่ โดยนายชอลซ์ ระบุก่อนมาเยือนจีนว่า เยอรมนีไม่ต้องการแยกตัวจากจีน แต่จะลดการเป็นฝ่ายพึ่งพา ด้วยการกระจายธุรกิจอย่างชาญฉลาดแทน

ในบทความชิ้นนี้ บรรดาซีอีโอล้วนเห็นด้วยว่า “เราต้องกระจายความเสี่ยง” เช่น ความเสี่ยงด้านชิป แบตเตอรี่ และวัตถุดิบ อันเป็นความเห็นที่สอดคล้องกับแนวทางของผู้นำรัฐบาล

ข้อมูลจาก “German business leaders warn against pulling out of China” ในเอพี



กำลังโหลดความคิดเห็น