xs
xsm
sm
md
lg

อาจเสียมากกว่าได้ อังกฤษส่งรัฐมนตรีการค้าไปเยือนไต้หวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายเกร็ก แฮนส์ รัฐมนตรีด้านนโยบายการค้าของอังกฤษ - ภาพรอยเตอร์
เดอะเทเลกราฟ/โกลบอลไทมส์ - รัฐบาลอังกฤษส่งรัฐมนตรีด้านนโยบายการค้าไปเยือนไต้หวัน โดยอ้างถึงความสัมพันธ์ด้านการค้าที่มีต่อกันมายาวนาน แต่นักวิเคราะห์จีนเตือนว่า รัฐมนตรีการค้าเมืองผู้ดีกำลังทำเรื่องที่เป็นการ “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” 

นายเกร็ก แฮนส์ รัฐมนตรีด้านนโยบายการค้าของอังกฤษเดินทางถึงไต้หวันเมื่อวันจันทร์ (7 พ.ย.) และเริ่มการเยือนเกาะมังกรน้อยเป็นเวลา 2 วัน จุดประสงค์เพื่อมาเจรจาส่งเสริมการค้า และขายความเชี่ยวชาญของอังกฤษในด้านพลังงานลมนอกชายฝั่ง โดยเขาจะเข้าพบกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน และร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาการค้าประจำปีระหว่างอังกฤษกับไต้หวันครั้งที่ 25

นายแฮนส์ นับเป็นเจ้าหน้าที่จากต่างชาติคนล่าสุดซึ่งเพิกเฉยคำเตือนของรัฐบาลจีน ที่ห้ามการติดต่ออย่างเป็นทางการกับไต้หวัน ซึ่งเป็นเพียงดินแดนส่วนหนึ่งของจีนและมีรัฐบาลบริหารในระดับเขตปกครองตนเองเท่านั้น

นายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีน แถลงข่าวประจำวัน โดยประณามการกระทำของรัฐบาลอังกฤษครั้งนี้ เขากล่าวว่า อังกฤษควรให้การเคารพต่ออธิปไตยของจีนอย่างจริงจัง และยึดมั่นต่อ “หลักการประเทศจีนเดียว” รวมทั้งยุติการติดต่ออย่างเป็นทางการทุกรูปแบบกับรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดๆ ให้กองกำลังแบ่งแยกดินแดนในไต้หวัน

ทว่า โฆษกทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ออกมาปกป้องการเยือนของนายแฮนส์ โดยอ้างว่า อังกฤษสถาปนาความสัมพันธ์ด้านการค้ากับไต้หวันมาอย่างยาวนาน ด้วยมูลค่าการค้า 8 พันล้านปอนด์ต่อปี และการไปเยือนครั้งนี้เป็นเพียงการไปหารือด้านเศรษฐกิจการค้าประจำปีเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติให้การรับรองหลักการประเทศจีนเดียว ไต้หวันจึงถูกตัดสิทธิในการเข้าเป็นสมาชิก และปัจจุบันไต้หวันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเพียงแค่ 14 ประเทศในโลก

อย่างไรก็ตาม ช่วงไม่นานมานี้กลับปรากฏว่า มีการออกมาเคลื่อนไหวของชาติรายใหญ่ๆ ที่แสดงถึงการสนับสนุนไต้หวันเพิ่มขึ้น โดยไม่สนใจเสียงท้วงติงของจีน เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐฯ และอีกหลายชาติในยุโรป การเยือนของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา สร้างความโกรธเกรี้ยวแก่จีนถึงขั้นจัดการซ้อมรบใหญ่รอบเกาะไต้หวัน และสถานการณ์ช่องแคบไต้หวันร้อนระอุ

ประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันหารือกับนายเกร็ก แฮนส์ เมื่อปี 2559 - แฟ้มภาพเอเอฟพี
นักวิเคราะห์แดนมังกรมองการเคลื่อนไหว ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ยั่วยุของรัฐบาลอังกฤษครั้งนี้ว่า จะไม่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากเรื่องปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง วิกฤตพลังงานและความวุ่นวายทางการเมืองในอังกฤษ ซึ่งรัฐนาวาของนายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก กำลังเผชิญไปได้

นอกจากนั้น ยังถือเป็นการกระทำที่โง่เขลาเข้าทำนอง “เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย” อีกด้วย เพราะจากข้อมูลของรัฐบาลอังกฤษในปีที่แล้ว จนถึงสิ้นสุดไตรมาสแรกของปี 2565 ระบุเองว่า จีนเป็นชาติคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของอังกฤษ โดยมีสัดส่วนร้อยละ 6.9 ของการค้าทั้งหมดของอังกฤษ  แต่หากเปรียบเทียบกับไต้หวันกลับพบว่า อังกฤษมีการค้าขายระหว่างกันน้อยกว่ามาก เมื่อดูจากความเป็นหุ้นส่วนทางการค้าระหว่างอังกฤษกับไต้หวันที่เติบโตร้อยละ 14 ในช่วง 2 ปีที่แล้ว 

และนี่ยังไม่นับรวมเรื่องที่ตลาดบนจีนแผ่นดินใหญ่สามารถดึงดูดใจบริษัทต่างชาติได้มากกว่าตลาดบนเกาะมังกรน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทของอังกฤษในอุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์ (creative industries) อีกทั้งนักเรียนนักศึกษาต่างชาติจากประเทศจีน ตลอดจนโครงการความร่วมมือกับบริษัทรายใหญ่ของจีน ก็นับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่อังกฤษไม่อาจมองข้ามด้วยเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น