เมื่อเดือน ก.ย.65 นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองพันธบัตรสกุลเงินหยวนเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ซึ่งเป็นการลดค่าต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่ปี 2537 ท่ามกลางค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงและเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มย่ำแย่
ข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วโดยธนาคารประชาชนแห่งประเทศจีน (PBOC) สำนักงานใหญ่เซี่ยงไฮ้ระบุว่า ณ สิ้นเดือน ก.ย.65 นักลงทุนต่างประเทศถือพันธบัตรที่ซื้อขายบนตลาดจีนรวมมูลค่า 3.4 ล้านล้านหยวน ลดลงจาก 3.48 ล้านล้านหยวนในเดือน ส.ค.65
ในเดือนดังกล่าว นักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรรัฐบาลจีนมูลค่า 2.29 ล้านล้านหยวน ลดลงจาก 2.33 ล้านล้านหยวนของเดือนก่อนหน้า
จีนประสบปัญหาเงินทุนจำนวนมากไหลออกจากทั้งตลาดตราสารทุนและตลาดตราสารหนี้นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์
ในปีนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นจากมาตรการที่เข้มข้นของธนาคารกลางสหรัฐฯ และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวได้เพิ่มแรงกดดันต่อเงินหยวน ซึ่งสูญเสียมูลค่าไปมากกว่าร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
ไอริส ผัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของแผนก Greater China ของ ING ระบุว่า ธนาคารกลางจีนไม่ต้องการให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าเร็วเกินไป
“เราคาดว่า [หยวนจีน] จะอ่อนค่าลงอีกในระยะสั้น เนื่องจากเศรษฐกิจอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด ... เมื่อรวมกับจำนวนผู้ป่วยโควิดที่มากขึ้นและการล็อกดาวน์ที่คาดการณ์ไว้ ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีกที่จะเพิ่มมูลค่าค่าเงินหยวน”
“เราคาดว่าความต้องการเงินหยวนจะเพิ่มขึ้นเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและหยวนจีนเข้าใกล้ 7.4 ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่หยวนจะยังคงอยู่ในช่วงระหว่าง 7.2 ถึง 7.4”
ในเดือนเมษายน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี แซงหน้าพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของจีน
สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IIF) ระบุว่า ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกกำลังส่งผลกระทบต่อตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากความวิตกกังวลจากเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนในการรับมือกับสถานการณ์
ที่มา เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์