โกลบอลไทมส์ - กระทรวงกลาโหมของจีนเรียกร้องญี่ปุ่นให้ความเคารพต่อคำมั่นสัญญาทางการเมือง หลังจากอีกฝ่ายเล็งบรรจุประเด็นปัญหาไต้หวันไว้ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ
พ.อ.พิเศษ ถาน เค่อเฟย (Tan Kefei) โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีน ระบุในการแถลงข่าวตามปกติเมื่อวันพฤหัสฯ (27 ต.ค.) กรณีรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า บางครั้งญี่ปุ่นก็จงใจทำให้ประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีน เช่น ปัญหาไต้หวัน กลายเป็นเรื่องตื่นเต้นน่าวิตกกังวลมากจนเกินไป ญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างเห็นอยู่โต้งๆ และสร้างเรื่องว่ามีภัยคุกคามทางทหารจากจีน นับเป็นการกระทำที่ปราศจากความรับผิดชอบและมีเจตนาเคลือบแฝง
ทั้งนี้ จากรายงานของสำนักข่าวเกียวโด รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติภายในสิ้นปี 2565 โดยจะมีการใส่ถ้อยความที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของไต้หวันที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ด้วยการใช้กำลังแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งหมายถึงการที่จีนอาจใช้กำลังทหารผนวกไต้หวัน นอกจากนั้น ยังอาจมีการเสนอนโยบายที่เน้นเกี่ยวกับแนวคิดการสร้างภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ที่เสรีและเปิดกว้าง รวมทั้งกรอบการทำงานของชาติภาคี 4 ฝ่าย หรือ “กลุ่มควอด” (Quad) ซึ่งประกอบด้วย ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และอินเดีย ในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติที่มีการปรับปรุงแกัไขอีกดัวย
โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีนกล่าวย้ำว่า ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เคยยึดมั่นและยอมรับอย่างแข็งขันมาโดยตลอดว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนคือรัฐบาลของชาติจีนที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงหนึ่งเดียว ทั้งในแถลงการณ์ร่วมการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติระหว่างจีน-ญี่ปุ่น เมื่อ 50 ปีก่อน และในมาตรา 8 ของปฏิญญาพ็อทซ์ดัม หรือคำประกาศข้อกำหนด เมื่อญี่ปุ่นยอมรับความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยโฆษกกระทรวงกลาโหมของจีนยังขอให้ญี่ปุ่นนำประวัติศาสตร์มาเป็นกระจกสะท้อนเพื่อดำเนินการใดๆ ก็ตามอย่างระมัดระวัง แทนการคล้อยตามนโยบายของชาติอื่น
ด้านนายต้า จื่อกัง (Da Zhigang) ผู้อำนวยการสถาบันเอชียตะวันออกเฉียงเหนือศึกษา ของสถาบันสังคมศาสตร์แห่งมณฑลเฮยหลงเจียง มองว่า ความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในเรื่องปัญหาไต้หวันและประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับจีนในช่วงไม่นานมานี้ ทำให้เกิดเงาดำบนความสัมพันธ์ระหว่างชาติทั้งสอง ซึ่งดำเนินมาครบ 50 ปีในปีนี้ และอาจส่งผลเสียต่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอนาคต ตลอดจนเสถียรภาพในภูมิภาคได้