การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 หรือ ‘สมัชชา 20’ ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดทุกๆ 5 ปี ปิดฉากลงในวันเสาร์ (22 ต.ค.) พร้อมกับประกาศรายชื่อคณะกรรมการกลางพรรคชุดที่ 20 ในวันถัดมาการประชุมเต็มครั้งที่ 1 ของคณะกรรมการกลางพรรคชุดใหม่ก็เปิดประชุมสรรหาและรับรองกรมการเมือง (Politburo) จำนวน 24 คน และคณะกรรมการประจำของกรมการเมือง จำนวน 7 คน
คณะกรรมการประจำของกรมการเมือง 7 คน ได้แก่ สี จิ้นผิง (习近平), หลี่ เฉียง(李强), เจ้า เล่อจี้(赵乐际), หวัง ฮู่หนิง(王沪宁), ไช่ ฉี(蔡奇), ติง เซวียเสียง(丁薛祥), และหลี่ ซี(李希) ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้นำระดับสูงสุดที่จะปกครองประเทศร่วมกันในแบบที่เรียกว่า การนำร่วมกัน (Collective Leadership) เสมือนมังกรเจ็ดเศียรที่จะนำนาวารัฐจีนบรรลุถึงเป้าหมาย “ความฝันจีน”
สื่อของทางการจีน สำนักข่าวซินหัวยืนยันชัดเจนว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นผู้เลือกเฟ้นบุคคลที่จะมานั่งอยู่ในคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ด้วยตนเอง เป็นผู้คัดกรองสมาชิกโดยมีหลักเกณฑ์สำคัญอันดับแรก คือ ความซื่อสัตย์ และภักดีต่ออุดมการณ์ของเขา ซึ่งแตกต่างจากการเตรียมการประชุมสมัชชาพรรค ครั้งที่ 19 เมื่อ 5 ปีก่อน ที่สีเพียงแต่ให้คำแนะนำ
สำหรับคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองชุดใหม่นี้ เป็นสมาชิกเดิม 3 คน ได้แก่ สีจิ้นผิง วัย 69 ปี เจ้า เล่อจี้ วัย 65 ปี และหวัง ฮู่หนิง วัย 67 ปี
ที่ประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อวันอาทิตย์ (23 ต.ค.) รับรอง สี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการใหญ่พรรค และประธานคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางเป็นสมัยที่ 3
ขอย้อนรอยประวัติ สี จิ้นผิง แบบย่นย่อ สี เกิดที่เมืองฝูผิง มณฑลส่านซี บิดาคือ สี จ้งซุน (习仲勋) หนึ่งในวีรบุรุษการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ สีถูกจัดอยู่ในกลุ่มลูกท่านหลานเธอ (Princeling) ของกลุ่มผู้นำรุ่นที่ 5 แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทว่า ในวัยหนุ่มได้ผ่านชีวิตตรากตรำงานหนัก โดยช่วงที่สีอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นยุคปฏิวัติวัฒนธรรม เขาถูกส่งไปทำงานหนักยังเขตทุรกันดารในมณฑลส่านซี
สี จิ้นผิง ไต่เต้าการเมืองช่วงแรกๆ ในมณฑลฝูเจี้ยน เริ่มจากตำแหน่งรองนายกเทศมนตรีเมืองเซียะเหมิน (ปี 1985) เลขาธิการพรรคในอำเภอหนิงเต๋อ (ปี 1988) เป็นเลขาธิการพรรคประจำเมืองฝูโจว (ปี 1990) รองเลขาธิการพรรคประจำมณฑลฝูเจี้ยน (ปี 1996) และผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยน (ปี 2000) ขณะเดียวกัน สีก็ไปลงทะเบียนเรียนปริญญาโท-เอกภาคพิเศษ ที่มหาวิทยาลัยชิงหวาในปักกิ่ง จนจบปริญญาเอกทางกฎหมาย ในปี 2002 ช่วงปลายปี 2002 ย้ายไปเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ้อเจียงแห่งชายฝั่งตะวันออกจีน ต่อมา ในเดือนมีนาคม 2007 ขึ้นนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ และเป็นเลขาธิการพรรคสมัยแรกในปี 2012
เจ้า เล่อจี้ ในชุดการนำของสมัชชา 19 เป็นนายใหญ่คณะกรรมการตรวจสอบวินัยของพรรค มือขวาปราบปรามคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นแกนในการกระชับอำนาจและสร้างความชอบธรรมของสีจิ้นผิง และยังโดดเด่นในเรื่องปลูกฝังความจงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน
หวัง ฮู่หนิง วัย 67 ปี ฉายา “ซาร์สแห่งภาคอุดมการณ์” ในสมัชชา 19 เป็นเลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการพรรค ซึ่งดูแลงานประจำวันของประธานาธิบดี หวังเป็น “มันสมองเบื้องหลังบัลลังก์อำนาจ” ในการเมืองจีนทั้งเป็นตัวหลักในการร่าง “ทฤษฎีสามตัวแทน” (Three Represents) ของอดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และ “มุมมองการพัฒนาวิทยาศาสตร์” (Scientific Development Perspective) ของอดีตประธานาธิบดีหูจิ่นเทา หวังเป็นนักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญสุดของสี เป็นหนึ่งในสถาปนิกผู้สร้างแนวคิด “ความฝันจีน” (Chinese Dream) อีกทั้งเป็นผู้ติดตามสีในทริปเยือนต่างประเทศ และทริปตรวจการณ์ที่สำคัญๆ และยังเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายธรรมาภิบาลทางอินเทอร์เน็ตของจีน กลุ่มนักวิเคราะห์เก็งว่า หวัง จะขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนประชาชนแห่งจีน หรือสภานิติบัญญัติ ที่จะรับรองตำแหน่งกันในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้
มาดูกลุ่มสมาชิกหน้าใหม่ 4 คน ในคณะกรรมการประจำของกรมการเมืองคือ หลี่ เฉียง วัย 63 ปี ไช่ ฉี วัย 66 ปี ติง เซวียเสียง วัย 60 ปี และหลี่ ซี วัย 66 ปี เกือบทั้งหมดเป็นคนใกล้ชิดและทำงานกับสีจิ้นผิง มานาน พวกเขาเติบโตมาจาก ‘แนวร่วมการเมืองของสีจิ้นผิง’ ที่เรียกขานว่า “ขุนศึกแห่งจือเจียง” (之江新军) หรือาจเรียกเป็น“ขุนศึกแห่งเจ้อเจียง” (จือเจียงหมายถึงเจ้อเจียง)
หลี่ เฉียง ปัจจุบัน (ชุดการนำของสมัชชา 19) เป็นเลขาธิการพรรคประจำเซี่ยงไฮ้ เป็นสมาชิกกรมการเมืองในชุดการนำของสมัชชา 19 เขาทำงานใกล้ชิดกับสีมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 2000 ในปี 2004 หลี่เป็นเลขาธิการทั่วไป (secretary general) ของคณะกรรมการพรรคในมณฑลเจ้อเจียง ทำงานใต้บังคับบัญชาของสี จนกระทั่งปี 2007
นับจากปีที่สีขึ้นกุมอำนาจใหญ่สุดของพรรคในปี 2012 หลี่ได้รับมอบหมายบทบาทใหญ่ๆ ในเมืองศูนย์กลางการเงินชายฝั่งตะวันออก
จนกระทั่งในปี 2017 ขึ้นมานั่งเก้าอี้เลขาธิการใหญ่พรรคประจำมหานครเซี่ยงไฮ้ ในต้นปีนี้หลี่ถูกวิจารณ์ระงมเรื่องใช้มาตรการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้นาน 2 เดือน
ตามการวิเคราะห์อย่างกว้างขวางระบุว่า หลี่ เฉียงจะขึ้นนั่งเก้านายกรัฐมนตรีแทนที่หลี่เค่อเฉียง ในเดือนมีนาคมปีหน้าในการประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ นอกจากนี้ เป็นที่จับตากันอย่างกว้างขวางอีกว่า หลี่เป็นหนึ่งในตัวเก็งแถวหน้าที่จะเป็นทายาทผู้นำของสี
ไช่ ฉี ในที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อวันอาทิตย์ (23 ต.ค.) รับรอง ไช่ ฉี เป็นเลขาธิการสำนักเลขาธิการคณะกรรมการพรรค (Secretariat) ไช่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำที่ดื้อรั้น ระหว่างที่เป็นเลขาธิการพรรคประจำกรุงปักกิ่ง หลังจากที่ไช่นั่งเก้าอี้นายใหญ่พรรคประจำกรุงปักกิ่งในปี 2017 ก็ลุยแคมเปญปรับโครงสร้างเขตความร่วมมือเศรษฐกิจปักกิ่ง-เหอเป่ย-เทียนจิน ขณะเดียวกัน ก็เริ่มปราบปราม ‘โครงสร้างที่ผิดกฎหมาย’ ที่เป็นบ้านที่อยู่อาศัยของคนงานต่างถิ่นนับล้านๆ ในเมือง การไล่ที่จุดชนวนการประท้วงทั่วเมือง ไช่ถูกโจมตีว่า “ยึดถือการสร้างผลงานทางการเมืองมาก่อนประชาชน” ต่อมา เขาจึงลดความแข็งกร้าวในการไล่ที่ โดยออกมาบอกว่าจะให้เวลามากขึ้นกับคนที่ต้องย้ายออกจากบ้าน
ไช่ มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสีจิ้นผิง เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสผู้เคยทำงานใต้บังคับบัญชาของสี ในช่วงที่สีนั่งตำแหน่งผู้นำใหญ่ทั้งในมณฑลฝูเจี้ยน และมณฑลเจ้อเจียง
ไช่ เกิดในฝูเจี้ยน เป็นผู้ว่าเมืองเล็กๆ ซันหมิงในปี 1997 ตอนนั้นสีเป็นรองเลขาธิการพรรคของมณฑลฝูเจี้ยน
ไช่ ถูกย้ายมากินตำแหน่งในมณฑลเจ้อเจียงในปี 1999 และคร่ำหวอดในมณฑลยักษ์ใหญ่แห่งชายฝั่งตะวันออกจีนนาน 15 ปี จนไต่ขึ้นมาเป็นรองผู้ว่ามณฑล ซึ่งเป็นช่วงที่สีเป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลเจ้อเจียง
ราศีดาวรุ่งการเมืองของไช่ฉายชัดเจนในปี 2014 เมื่อถูกดันขึ้นมาเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานทั่วไปของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Commission) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สีเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นประธาน ต่อมา ไช่ได้เลื่อนขั้นมาถึงระดับรัฐมนตรี และเป็นผู้ว่าปักกิ่งในปี 2016 ปีถัดมาก็ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคประจำกรุงปักกิ่ง และได้เข้ากรมเมืองในปีนั้น
ติง เซวียเสียง เป็นที่กล่าวขานกันว่า “ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง อยู่ที่ไหน ติงผู้ช่วยคนสำคัญของสี ก็อยู่ที่นั่นด้วย” สาธารณชนอาจไม่ได้ยินชื่อของติง เซวียเสียง บ่อยนัก เขานั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสำนักงานทั่วไปกลางของพรรค (General Office) จากปี 2017 เป็นผู้ดูแลการประชุม เอกสารงาน และการเยี่ยมเยือนที่ต่างๆ ของประธานาธิบดี
ติง เป็นผู้หนึ่งที่สีไว้วางใจที่สุด และได้ร่วมเดินทางไปกับสีในทริปอย่างเป็นทางการบ่อยที่สุด ติงมีภูมิหลังในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีประสบการณ์ในหน่วยงานทั้งหมดของพรรค
ในไม่กี่ปีมานี้ ติงจับตามองกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ไม่จงรักภักดีต่อสีอย่างเพียงพอ และเรียกร้องให้เหล่าสหายในพรรคพิทักษ์สถานะ “แกน” ของสี และอำนาจรวมศูนย์ของพรรค
ติง จบการศึกษาเอกวิชาวิศวกรรมเครื่องกลจาก Northeast Heavy Machinery Institute และจบปริญญาโท เอกวิชาการบริหารรัฐกิจ (public administration) จากมหาวิทยาลัยฟู่ตัน นครเซี่ยงไฮ้
ติง คร่ำหวอดในสถาบันวิจัยในเซี่ยงไฮ้ Shanghai Research Institute of Materials นาน 14 ปี ในปี 1999 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งทำให้เขาได้เข้าสู่เส้นทางดาวรุ่งการเมือง
ปี 2007 ติง มาคุมสำนักเลขาธิการทั่วไปของเซี่ยงไฮ้ ทำงานร่วมกับสีจิ้นผิงในปีนั้น 5 ปีต่อมาเขาก็ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคของคณะกรรมาธิการกฎหมายและการเมืองประจำเซี่ยงไฮ้
เมื่อสี กุมอำนาจสูงสุดของพรรคในปี 2012 ติงก็ถูกย้ายเข้ามายังปักกิ่ง เป็นรองหัวหน้าสำนักงานกลางพรรค (General Office) และหัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดี เขารับตำแหน่งต่อจาก ลี่ จ้านซู ซึ่งเป็นบิ๊กหมายเลข 3 โดยได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานกลางพรรคในปี 2017
ทั้งนี้ สำนักงานกลางพรรค คือ ศูนย์รวม หรือ ปมประสาท (nerve centre) ของพรรค ซึ่งหมายความว่า ติงมีบทบาทสำคัญหลังฉากในการจัดการกิจธุระต่างๆ ให้สี และเหล่าผู้นำระดับสูงสุด
หลี่ ซี ที่ประชุมเต็มคณะคณะกรรมการกลางพรรคเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้รับรองตำแหน่งสำคัญคือ เลขาธิการคณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยพรรคให้แก่ หลี่ ซี ไปเรียบร้อยแล้ว
หลี่ เป็นเลขาธิการพรรคประจำมณฑลกวางตุ้ง เป็นที่กล่าวขานอย่างกว้างขวางว่าหลี่จงรักภักดีต่อสีอย่างเหนียวเหนียวที่สุดผู้หนึ่ง แม้ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายงานอาชีพการงานโดยตรง
หลี่ บ้านเกิดอยู่ที่มณฑลกันซู่ แห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือจีน สั่งสมประสบการณ์งานปกครองบริหารทั่วแผ่นดินใหญ่ จากมณฑลกันซู่ มณฑลส่านซี ไปยันศูนย์กลางการเงินเซี่ยงไฮ้ ทั้งยังได้ฝังตัวในเขตอุตสาหกรรมเก่าขึ้นสนิม (rust-belt province) ในมณฑลเหลียวหนิงแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และขุมพลังเศรษฐกิจแห่งภาคใต้ในกวางตุ้ง
หลี่ไม่ได้ทำงานกับสีโดยตรง แต่มีความเชื่อมโยงในบางด้านที่ได้ใจสีสุดๆ กล่าวคือ ในปี 2007 หลี่ เป็นเลขาธิการพรรคประจำเมืองเหยียนอันในมณฑลส่านซี ซึ่งเป็นฐานปฏิวัติสำคัญของเหมาเจ๋อตง ที่นั่นเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเหลียงจยาเหอ (梁家河村) เป็นถิ่นทุรกันดารที่สีในวัยหนุ่มน้อยได้ผ่านชีวิตทำงานหนักทั้งเก็บเกี่ยวข้าว ตัดหญ้า เลี้ยงสัตว์ นานถึง 7 ปีในระหว่างยุคเหมาเจ๋อตง
ตอนที่หลี่เป็นเลขาพรรคที่เหยียนอัน เขาเขียนจดหมายถึงสี ซึ่งเพิ่งขึ้นนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคประจำเซี่ยงไฮ้ สี ตอบจดหมายของหลี่ ว่า เขาได้ทิ้งหัวใจไว้ที่หมู่บ้านเหลียงจยาเหอ ประสบการณ์ชีวิตที่นั่นได้ก่อร่างทิศทางการเมืองของเขา ใน 7 ปีต่อมา สีได้เขียนจดหมายถึงชาวบ้านที่นั่นอีก 3 ครั้ง หมู่บ้านเหลียงจยาเหอ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ที่จีนเรียกขานว่า “พันธะผูกพันกับประชาชนรากหญ้าของสี”
บ้านเกิดของหลี่ยังเป็นสะพานเชื่อมอีกแห่งระหว่างเขากับประธานาธิบดีสี หลี่เกิดที่ อำเภอเหลี่ยงตัง (两当县) ในมณฑลกันซู่ ที่ซึ่ง สี จ้งซุน (1913-2002) บิดาของสี ก่อการลุกฮือ และเข้าสู่เส้นทางการปฏิวัติ
ในปี 2013 อำเภอเหลี่ยงตังจัดงานรำลึกครบรอบวันเกิดปีที่ 100 ของสี จ้งซุน หลี่เป็นสหายอาวุโสจากเซี่ยงไฮ้กลับไปที่บ้านเกิด และเขาก็ได้กระทบไหล่คนคนหนึ่ง คือ สี หย่วนผิง (习远平) น้องชายคนเล็กของสี จิ้นผิง