xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ ออกกฎเข้ม แต่ซอฟต์แวร์ยังเล็ดลอดให้จีนสร้างอาวุธไฮเปอร์โซนิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้เยี่ยมชมนิทรรศการกำลังถ่ายภาพบริเวณหน้าโซนการแสดงขีปนาวุธทิ้งตัวข้ามทวีป รุ่น DF-41 และขีปนาวุธเหนือเสียง DF-17 ซึ่งถูกนำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “เดินหน้าสู่ยุคใหม่” (Forging Ahead in the New Era) ในกรุงปักกิ่ง ภาพเมื่อวันที่ 12 ต.ค.2022 (แฟ้มภาพรอยเตอร์)
ซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯ กำลังช่วยให้จีนเป็นฝ่ายได้เปรียบในการแข่งขันอาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือไฮเปอร์โซนิก

รายงานของวอชิงตันโพสต์ในสัปดาห์นี้ระบุว่า กลุ่มวิจัยด้านการทหารของจีน ซึ่งถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ ได้ซื้อเครื่องมือซอฟต์แวร์ต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่ใช้เพื่อการจำลองการทดสอบอาวุธความเร็วเหนือเสียงด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยพบว่า นับตั้งแต่ปี 2562 มีบริษัทมะกันเกือบ 50 ราย ขายผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ขั้นสูงให้แก่กลุ่มวิจัยของจีน ในโครงการพัฒนาขีปนาวุธแล้ว 300 ครั้ง

การจำลองการทดสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Computer simulation) มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการออกแบบอาวุธไฮเปอร์โซนิก เพราะจะช่วยชี้ให้เห็นจุดผิดพลาดของการออกแบบ ก่อนจะมีการทดสอบในอุโมงค์ลม และทดสอบการยิงจริง ส่งผลให้โครงการอาวุธความเร็วเหนือเสียงของพญามังกรก้าวรุดหน้า

วอชิงตันโพสต์อ้างว่า สถาบันศึกษาอากาศพลศาสตร์การบินของจีน (Chinese Academy of Aerospace Aerodynamics - CAAA ) อาศัยซอฟต์แวร์ของสหรัฐฯ จนนำไปสู่การทดสอบยานร่อนความเร็วเหนือเสียง (HGV) เมื่อเดือน ส.ค.2564  ยานร่อนได้บินวนรอบโลก ก่อนพุ่งชนเป้าหมาย สร้างความประหลาดใจให้ พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมของสหรัฐฯ ที่ไม่นึกฝันว่า จีนจะพัฒนาเทคโนโลยีรุดหน้าขนาดนี้ จนถึงกับออกปากว่า เป็น “สปุตนิกโมเมนต์” หรือช่วงเวลาที่ดาวเทียมสปุตนิกของรัสเซียขึ้นสู่วงโคจรโลกได้สำเร็จเป็นชาติแรกในโลก

นอกจากนั้น มีซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งของสหรัฐฯ ที่อาจเคยช่วยให้จีนสามารถออกแบบไมโครชิปขั้นสูงมาแล้ว ไมโครชิปขั้นสูงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ที่ใช้ในการจำลองการทดสอบอาวุธไฮเปอร์โซนิก นั่นก็คือ ซอฟต์แวร์ EDA ซึ่งเป็นหัวใจของกระบวนการออกแบบนี้ โดยสหรัฐฯ เกือบเป็นชาติผูกขาดซอฟต์แวร์ตัวนี้แต่ผู้เดียว ด้วยส่วนแบ่งในตลาดโลกถึงร้อยละ 70 แต่ “ไพเทียมเทคโนโลยีส์” บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ก็สามารถนำซอฟต์แวร์ EDA ของสหรัฐฯ มาใช้ในการออกแบบที่ว่านี้จนได้ จากรายงานของวอชิงตันโพสต์เมื่อปี 2564


ในเดือน ส.ค.2565 รัฐบาลสหรัฐฯ จึงออกมาเคลื่อนไหวประกาศห้ามการส่งออกซอฟต์แวร์ EDA ให้แก่จีน เพื่อสกัดไม่ให้จีนสามารถสร้างไมโครชิปรุ่นใหม่ๆ และสร้างซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีความสามารถในการประมวลผลมหาศาล นางจีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุว่า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์คือหัวใจในการพัฒนาเกือบจะทุกอย่างทั้งอาวุธทันสมัย และระบบรักษาความมั่นคงของชาติ


บริษัทของสหรัฐฯ เหล่านี้ได้รับเงินทุนหลายล้านดอลลาร์จากเพนตากอน แต่ก็ยังหลบเลี่ยงกฎข้อบังคับควบคุมการส่งออก ขายซอฟต์แวร์ให้พ่อค้าคนกลางของจีน โดยทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ว่า พ่อค้าคนกลางจะขายต่อให้กลุ่มต้องห้ามหรือไม่ ทั้งๆ ที่เป็นความรับผิดชอบของบริษัทผู้ส่งออก ตามแนวทางปฏิบัติของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ก็ตาม ซึ่งนายแมตทิว บอร์แมน ผู้ช่วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ฝ่ายการบริหารการส่งออก กล่าวว่า ทางกระทรวงได้บอกกับบริษัทเหล่านี้เสมอว่า จะแสร้งทำเป็นไม่เห็นนั้นไม่ได้


วอชิงตันโพสต์ระบุว่า เครื่องมือซอฟต์แวร์เหล่านี้ถือเป็นความลับด้านเทคโนโลยีของชาติ แต่เล็ดลอดไปถึงมือพญามังกรได้ ทั้งที่สหรัฐฯ มีการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีดังกล่าวอย่างเข้มงวด เนื่องจากบริษัทซอฟต์แวร์มะกันมุ่งเอาผลกำไรของบริษัท นำหน้าความมั่นคงของประเทศนั่นเอง


ข้อมูลจาก “US software gives China its hypersonic edge” ใน asiatimes.com



กำลังโหลดความคิดเห็น