เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - การพัฒนาด้านโภชนาการของจีนส่งผลให้เด็กๆ ในท้องถิ่นชนบทร่างกายเจริญเติบโต มีส่วนสูงและน้ำหนักเพิ่มขึ้นกว่าเด็กในสมัยเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างมาก
ผลการศึกษา ซึ่งเผยแพร่ในเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการของจีนเมื่อวันศุกร์ (14 ต.ค.) ระบุว่า ปัจจุบันเด็กในชนบทจีน ช่วงอายุระหว่าง 6-15 ปี มีส่วนสูงและน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอย่างน้อย 3 ซม. และ 1 กก. จากเมื่อ 10 ปีก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กชายอายุ 13 ปีนั้น มีพัฒนาการเจริญเติบโตของร่างกายมากที่สุด ด้วยส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 7.5 ซม. และน้ำหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6.6 กก.
ส่วนเด็กหญิงที่มีส่วนสูงและน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ในกลุ่มวัย 12 ปี โดยเฉลี่ย 6.3 ซม. และ 5.8 กก. นอกจากนั้น ภาวะการเติบโตที่แคระแกร็นก็พบในเด็กน้อยลงร้อยละ 5.7 จากเมื่อ 10 ปีก่อน โดยในสิ้นปี 2564 พบเพียงร้อยละ 2.3 จากผลสำรวจเด็กนักเรียนในพื้นที่ชนบทราว 700 อำเภอทั่วประเทศระหว่างปี 2555-2564
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กมีร่างกายเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วคือโครงการพัฒนาปรับปรุงด้านโภชนาการ ซึ่งรัฐบาลจีนเริ่มดำเนินการในปี 2555 โดยมุ่งเป้าหมายไปที่เด็กชนบทฐานะยากจน
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการดังกล่าวจะทำให้เด็กในครอบครัวรายได้น้อยมีอาหารการกินดีขึ้น แต่พบว่า ไม่ถึง 1 ใน 3 ของเด็กเหล่านี้ได้บริโภคนมและผลไม้ครบทุกวัน นอกจากนั้น ยังพบเด็กมีภาวะโลหิตจางอยู่อีกไม่น้อย ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะทุพโภชนาการ
ร่างกายที่สูงและอ้วนท้วนขึ้นของเด็กๆ ในชนบทสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาความยากจน หลังจากจีนเริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2521 และปัจจุบันชาวจีนหลายร้อยล้านคนหลุดพ้นจากภาวะยากจนข้นแค้นตามเกณฑ์มาตรฐานของรัฐบาลจีน
ในรายงานผลการวิจัยระหว่างประเทศเกี่ยวกับพัฒนาการความสูงของร่างกายโดยเฉลี่ยในปี 2563 ซึ่งเผยแพร่ในวารสารการแพทย์เดอะแลนซิต ระบุว่า ในบรรดา 200 ประเทศและดินแดน ผู้ชายจีนมีส่วนสูงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงระหว่างปี 2528-2562 โดยชายจีนวัย 19 ปี มีส่วนสูงเพิ่มขึ้นเกือบ 9 ซม. ส่วนผู้หญิงจีนวัยเดียวกันมีส่วนสูงเพิ่มขึ้น 6 ซม. หรือเพิ่มขึ้นมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ในโลก