มหาวิทยาลัยซีหนาน (SWU) ในนครฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เปิดเผยว่าทีมวิจัยของจีนได้วิเคราะห์แหล่งทรัพยากรเชื้อพันธุ์พืชไหมขนานใหญ่ และจัดทำแผนที่พันธุกรรมรวมพิเศษ (super pan-genome) ของไหมฉบับแรกของโลก
ไต้ฟางอิ๋น ผู้นำทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย กล่าวว่า พันธุกรรมรวม หรือแพน-จีโนม (pan-genome) เป็นการสรุปรวมข้อมูลทางพันธุกรรมทั้งหมดของสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งครอบคลุมความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่าพันธุกรรมอ้างอิงเดี่ยว
ไหมจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการผลิตเส้นไหม แต่ข้อมูลพันธุกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันยังคงจำกัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุกรรม รวมถึงการค้นพบอัลลีล (allele) อันมีมูลค่าต่อการเพาะพันธุ์
คณะนักวิจัยได้รื้อการจัดลำดับพันธุกรรมไหม 1,078 รายการ และประกอบข้อมูลพันธุกรรมฉบับละเอียด 545 รายการ ทั้งยังสร้างชุดข้อมูลพันธุกรรมรวมความละเอียดสูงที่นำเสนอเนื้อหาพันธุกรรมเกือบทั้งหมดของไหมด้วย
เซี่ยงจ้งหวย นักวิชาการสังกัดสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์จีน ระบุว่า การวิจัยนี้ซึ่งเผยแพร่ผ่านวารสารเนเจอร์ คอมมูนิเคชันส์ (Nature Communications) มีนัยสำคัญยิ่งยวดต่อการแก้ไขปัญหาคอขวดของการเพาะพันธุ์ไหม และการส่งเสริมนวัตกรรมแหล่งทรัพยากรเชื้อพันธุ์พืชไหม