xs
xsm
sm
md
lg

50 ปีความสัมพันธ์จีน-เยอรมนี ผู้นำเมืองเบียร์เตรียมหารือ “สีจิ้นผิง” ถึงแดนมังกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี - ภาพรอยเตอร์
ผู้นำจีนเรียกร้องเยอรมนีสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ด้านนายกรัฐมนตรีเมืองเบียร์ยอมรับว่า เยอรมนีไม่อาจแยกขาดจากจีนได้ และเตรียมไปเยือนเดือนหน้า

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน และประธานาธิบดี ฟรังค์ วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ของเยอรมนี ได้ส่งสาส์นอวยพร เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันอังคาร (11 ต.ค.) โดยประธานาธิบดีสี เรียกร้องให้เบอร์ลินมองวาระการครบรอบนี้เป็นโอกาสที่จะนำความสำเร็จร่วมกันในอดีตมาผลักดันเพื่อก้าวไปสู่อนาคตอย่างมั่นคง พร้อมกับระบุว่า จีนคือชาติคู่ค้าชั้นนำของเยอรมนี ด้านประธานาธิบดีเมืองเบียร์ย้ำว่า ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้ามีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเยอรมนี

ขณะที่นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ มีแผนการเดินทางไปเยือนจีนระหว่างวันที่ 3-4 พ.ย. ซึ่งเป็นครั้งแรกหลังจากเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2564 เขายังเป็นผู้นำในกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือจี-7 คนแรก ที่ไปเยือนจีน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

แหล่งข่าววงในระบุว่า การเยือนจีนของนายชอลซ์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนทีเดียว เนื่องเขาต้องหาจุดสมดุลให้ได้ระหว่างการปกป้องสิทธิมนุษยชนกับการรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของเยอรมนี นอกจากนั้น เขายังต้องเจรจาเพื่อถามหาจุดยืนที่ชัดเจนของจีนเกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครนอีกด้วย

บุคคลวงในชี้ว่า การมาเยือนเอเชียครั้งนี้ ซึ่งรวมทั้งเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ หรือ จี-20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เป็นการพยายามปรับยุทธศาสตร์ใหม่ของเยอรมนีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งอาจทำให้ความสัมพันธ์กับจีนตึงเครียดมากขึ้น ดังนั้น นายชอลซ์ จึงประสงค์พบหารือกับประธานาธิบดีสี ก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อหวังปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างชาติทั้งสอง ซึ่งย่ำแย่ ภายหลังยุครัฐบาลนายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล

นางแองเกลา แมร์เคิล สมัยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง - ภาพรอยเตอร์
เยอรมนีภายใต้การบริหารของอดีตนายกรัฐมนตรีแกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ และนายกรัฐมนตรีแมร์เคิล ที่ต่อเนื่องหลายทศวรรษนั้น ได้ยกให้จีนเป็นชาติคู่ค้าสำคัญที่สุดทั้งในด้านการส่งออกและนำเข้า ครั้นมาถึงยุคของนายกรัฐมนตรีชอลซ์ รัฐบาลเยอรมนีได้ปรับยุทธศาสตร์ใหม่เพื่อลดการพึ่งพาจีน และสร้างความหลากหลายด้านห่วงโซ่อุปทาน 

อย่างไรก็ตาม นายชอลซ์ได้กล่าวในประชุมภาคธุรกิจที่กรุงเบอร์ลินเมื่อวันอังคาร (11 ต.ค.) โดยปกป้องนโยบายเกี่ยวกับจีนว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับโลกาภิวัตน์ จึงไม่จำเป็นต้องแยกตัวจากชาติหนึ่งชาติใด โดยเยอรมนียังจำเป็นต้องทำธุรกิจกับจีนต่อไป การเลิกพึ่งพาจีนจะเป็นหนทาง ที่ผิดพลาด ขณะเดียวกัน เยอรมนีก็ต้องทำการค้าขายกับส่วนอื่นๆ ของโลกทั้งเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้ด้วยเช่นกัน

นโยบายของรัฐบาลเยอรมนีสอดคล้องกับนายวัลดิส โดมโบรฟสกีส รองประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป หรืออียู ซึ่งระบุว่า จีนเป็นตลาดและซัปพลายเออร์สำคัญสำหรับบริษัทยุโรป

ทั้งนี้ รัฐบาลเยอรมนีชุดปัจจุบันมีนโยบายเอนเอียงไปทางสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรมากขึ้น โดยสหรัฐฯ และอียู กล่าวหาจีนว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในฮ่องกง และซินเจียง นอกจากนั้น ยังได้เข้ามาแทรกแซงกิจการในไต้หวันและทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างสิทธิครอบครองอีกด้วย


จากข้อมูลของสถาบันวิจัยโรเดียมกรุ๊ป การลงทุนของอียูในจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากบริษัทบีเอ็มดับเบิ้ลยู เข้าซื้อหุ้นในโครงการร่วมลงทุนผลิตรถยนต์กับจีน นอกจากนั้น ที่ผ่านมาบริษัทรายใหญ่ของยุโรป เช่น ค่ายรถอาวดี้ บริษัทแอร์บัส และบริษัทเคมี BASF SE ของเยอรมนี ต่างก็ไปสร้างโรงงานผลิตเป็นเงินหลายพันล้านดอลลาร์ จนยากจะถอนตัวจากแดนมังกรไปได้


ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก/ เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์



กำลังโหลดความคิดเห็น