xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องลึกเหตุผลที่จีนยืนหยัดนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของจีนยังไม่เปลี่ยนแปลง ถึงแม้มีการปรับให้มี “พลวัต” รัฐบาลจีนชี้มีประสิทธิผลสูงสุดด้วยค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และไม่ต้องการเสี่ยงกับผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาว

จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังคงควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด ด้วยนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” (Zero Covid) อย่างยาวนานเกือบ 3 ปี โดยหลังจากการระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาเมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ทางการจีนได้ปรับนโยบายใหม่ เรียกว่า “โควิดเป็นศูนย์แบบมีพลวัต” (Dynamic Zero Covid)

ความหมายของ “พลวัต” ก็คือ ไม่จำเป็นต้องมีผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ตลอดเวลา และไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการแบบเดียวกันในทุกพื้นที่ สามารถยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับสถานการณ์และศักยภาพของระบบสาธารณสุขในพื้นที่ จุดมุ่งหมายของนโยบายคือ ควบคุมการระบาดด้วยประสิทธิภาพสูงสุด ต้นทุนต่ำที่สุด และใช้เวลาน้อยที่สุด โดยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การผลิต และชีวิตประจำวันของประชาชน

รศ.ดร.อิ่นฮุ่ย ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข จาก ม.ปักกิ่ง ระบุว่า โรคโควิดยังมีความไม่แน่นอนและสิ่งที่ไม่รู้อีกมากมาย วิธีที่ดีที่สุดที่จะควบคุมโรคคือ “ตัดไฟแต่ต้นลม” หรือก็คือ ตัดวงจรการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด

ผู้เชี่ยวชาญบรรยายเรื่องนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติ
ทางการจีนใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ big data โดยมีเป้าหมายตามหาตัวผู้ติดเชื้อภายใน 24 ชั่วโมง และยุติวงรอบการระบาดภายใน 28 วัน ฐานข้อมูลจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และบังคับใช้ QR code รหัสสุขภาพสแกนเข้าทุกสถานที่ ทำให้สามารถติดหาตัวผู้ติดเชื้อและกลุ่มคนใกล้ชิดได้ละเอียดถึงระดับอาคารที่พัก

จีนใช้การตรวจหาเชื้อเป็นมาตรการหลัก ประชาชนทุกคนต้องไปตรวจทุก 2-3 วัน ส่วนในพื้นที่ที่มีการระบาดต้องตรวจทุกวัน และตรวจ 2-3 รอบ ทางการจีนชี้ว่า ความก้าวหน้าในการตรวจหาเชื้อด้วยเทคโนโลยีอณูชีววิทยา (Molecular biology) และการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (big data analysis) ทำให้การควบคุมโรคระบาดมีประสิทธิภาพกว่าโรคซาร์ส เมื่อปี 2546

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การตรวจหาเชื้อเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด และควบคุมการระบาดได้ดีในช่วงที่ภูมิคุ้มกันหมู่ยังเกิดขึ้นไม่มากพอในหมู่ประชาชนจีน เพราะจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดยังไม่มากเพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีน 2 เข็ม 85.6% และได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เพียง 67.8% (ข้อมูลจากคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน ส.ค.2565)


“ลองโควิด” เสี่ยงผลกระทบทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ

รศ.ดร.อิ่นฮุ่ย ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข จาก ม.ปักกิ่ง อธิบายว่า ชาวจีนมีลักษณะ “กลัวความเสี่ยงสูง” (High Risk Aversion) ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้ยาก  และนิยมระเบียบแบบแผน การใช้นโยบายควบคุมแบบเข้มงวดจึงได้ผลในประเทศจีน

ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ว่า สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือ อาการตกค้างระยะยาว หรือ Long Covid ซึ่งมีผลการวิจัยพบว่า ผู้ติดเชื้อมีผลกระทบต่อสุขภาพหลังหายป่วย ทั้งสมองและประสาท การรับรู้กลิ่นรส ระบบหัวใจและเลือด ระบบย่อยอาหาร ระบบสืบพันธุ์ หลายคนมีอาการอ่อนเพลีย ความจำสั้น หายใจไม่เต็มที่ นอนไม่หลับ ผอมลง ปวดกล้ามเนื้อ

รัฐบาลจีนไม่ต้องการให้ประชาชนต้องเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสุขภาพ และจะเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขในระยะยาวด้วย

รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญของจีน ระบุว่า นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” เป็นเพียง “นโยบายชั่วคราว” รัฐบาลประเทศต่างๆ ใช้ยุทธศาสตร์โควิด-19 ตามสถานการณ์และทรัพยากรของประเทศตน แต่ไม่ว่ายุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร เป้าหมายมีเพียงหนึ่งเดียว คือ สิ้นสุดการระบาดทั่วทั้งโลก.


กำลังโหลดความคิดเห็น