ความสัมพันธ์ร้าวฉานระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยากจะประสานคืนดี เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ประกาศยกระดับควบคุมการส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์ไปยังแดนมังกร
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ มีการเปิดเผยกฎระเบียบใหม่เมื่อวันศุกร์ ที่ผ่านมา (7 ต.ค.) ซี่งเป็นการจำกัดการขายเซมิคอนดักเตอร์และเครื่องมือผลิตชิปของสหรัฐฯ ให้แก่บริษัทของจีน นอกจากนั้น ยังได้เพิ่มชื่อบริษัทอีก 31 ราย ในบัญชีบริษัทที่ไม่ได้รับการรับรอง (unverified list) ทำให้บริษัทเหล่านี้แทบหมดความสามารถในการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น บริษัท แยงซีเมมโมรีเทคโนโลยีส์ (Yangtze Memory Technologies Co.) และบริษัทในเครือรายหนึ่งของ นอราเทคโนโลยีกรุ๊ป (Naura Technology Group Co.) ผู้ผลิตอุปกรณ์ชิปชั้นนำของจีน
กฎระเบียบใหม่ที่ประกาศออกมาเท่ากับเป็นการโจมตีรากฐานการสร้างอุตสาหกรรมชิป ที่จีนกำลังเพียรพยายามอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งตัดแขนตัดขาการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการทหาร นับเป็นความเคลื่อนไหวแข็งกร้าวที่สุดของรัฐบาลไบเดน ในการหยุดยั้งความสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของจีน ซึ่งสหรัฐฯ ถือเป็นภัยคุกคาม
เทีย ดี.โรซแมน เคนด์เลอร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ด้านการบริหารการส่งออก ระบุว่า จีนทุ่มเททรัพยากรในการพัฒนาความสามารถด้านซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และหาทางเป็นผู้นำโลกด้านปัญญาประดิษฐ์ภายในปี 2573 โดยจีนนำความสามารถด้านนี้มาใช้สอดส่องความเคลื่อนไหวของพลเมืองตนเอง และสร้างความทันสมัยให้กองทัพ
โฆษกกระทรวงต่างประเทศและสื่อของทางการจีนออกมาตอบโต้ในช่วงสุดสัปดาห์ว่า มาตรการล่าสุดของสหรัฐฯ เป็นการละเมิดการค้าเสรี และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง รวมทั้งต่อห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
นายดีแลน พาเทล หัวหน้านักวิเคราะห์ของเซมิอะนาลิซิส (SemiAnalysis) มองว่า ขณะนี้ชาติทั้งสองทำ “สงครามเศรษฐกิจ” กันอย่างเป็นทางการแล้ว และการจำกัดการส่งออกชิปเซมิคอนดักเตอร์ให้จีนจะทำให้ปริมาณการค้าด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีทั่วโลกลดลงหลายแสนล้านดอลลาร์
ด้านนักวิเคราะห์ของจีนคนหนึ่งมองว่า การกลับมาปรองดองกันไม่มีทางเป็นไปได้อีกแล้ว
เอ็นวิเดียคอร์ป (Nvidia Corp) เคยเตือนเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาว่า มาตรการจำกัดการส่งออกชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI chips) ไปยังจีนของรัฐบาลสหรัฐฯ อาจกระทบต่อรายได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ คำเตือนส่งผลให้หุ้นของบริษัทร่วงทันที ข่าวสหรัฐฯ ออกกฎระเบียบใหม่ยังทำให้หุ้นของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์จีนและยุโรปร่วงระนาวเมื่อวันจันทร์ (10 ต.ค.)
ขณะนี้บรรดานักวิเคราะห์กำลังประเมินผลกระทบของกฎระเบียบใหม่ รวมทั้งความหมายที่ซ่อนอยู่ในเนื้อหากฎระเบียบ ซึ่งมีความยาวกว่า 135 หน้า โดยนอกเหนือจากเซมิคอนดักเตอร์แล้ว ผลกระทบอาจขยายไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งพึ่งพาระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้า โครงการอวกาศ ไปจนถึงอุปกรณ์ง่ายๆ อย่างสมาร์ทโฟน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะสามารถบังคับใช้มาตรการได้มากน้อยเพียงใด
นอกจากนั้น ยังเกิดคำถามกันว่า กฎระเบียบใหม่ของสหรัฐฯ จะมีผลต่อบริษัทต่างชาติที่ขายสินค้าให้จีนด้วยหรือไม่ เช่น ASML ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายให้บริษัทผู้ผลิตชิปทั่วโลก ASML กำลังเผชิญปัญหาท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ขณะที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นค่อนข้างสงวนท่าทีเกี่ยวกับกฎระเบียบใหม่ของรัฐบาลไบเดน เนื่องจากมีตลาดใหญ่บนแดนมังกรนั่นเอง
ข้อมูลจาก ‘No Possibility of Reconciliation’ as US Slams China Chips ในบลูมเบิร์ก