การขับเคี่ยวขยายอิทธิพลเหนือหมู่เกาะโซโลมอนระหว่างชาติตะวันตกกับจีนยังคงดุเด็ดเผ็ดมัน โดยล่าสุด พญามังกรออกโรงตอบโต้ข้อกล่าวหาบิดเบือนข้อมูลให้ร้ายชาติตะวันตกของสถาบันคลังสมองออสเตรเลีย ด้านโซโลมอนหมู่เกาะเนื้อหอมประกาศไม่ยอมถูกตะวันตกขืนใจให้ต้องเลือกข้าง
สถาบันนโยบายยุทธศาสตร์แห่งออสเตรเลีย (ASPI) เผยแพร่บทวิเคราะห์ชิ้นใหม่ กล่าวหารัฐบาลจีนว่า ระดมปล่อยข้อมูลที่ถูกบิดเบือนอย่างแนบเนียน เพื่อทำให้เข้าใจกันไปว่าสามเกลอคือออสเตรเลีย สหรัฐฯ และไต้หวัน คือผู้ปลุกระดมให้เกิดการจลาจลเขย่ากรุงโฮนีอารา เมืองหลวงของหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งเป็นชาติในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้เมื่อปีที่แล้ว
สถานทูตจีนบนหมู่เกาะโซโลมอนออกแถลงการณ์ปฏิเสธเมื่อวันพุธ (5 ต.ค.) ด้วยความมั่นใจว่า ความจริงย่อมเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ พร้อมกับเรียกร้องให้ชาติตะวันตกบางชาติละทิ้งอคติด้านอุดมการณ์ หยุดเสกสรรปั้นแต่งข่าวลือและการเล่าเรื่องเท็จให้ร้ายจีน แต่ควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้คนในประเทศเกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิกให้มากขึ้น นอกจากนั้น ยังแสดงความชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับหมู่เกาะโซโลมอน ที่พัฒนาไปอย่างลึกซึ้งบนหลักการของมิตรภาพและการไว้เนื้อเชื่อใจกัน หลังจากได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อ 3 ปีก่อน โดยจีนให้การช่วยเหลือหมู่เกาะโซโลมอนในด้านต่างๆ อย่างเต็มที่ เช่น การต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
จากรายงานของเอบีซี ซึ่งเป็นสื่อออสซี่ บทวิเคราะห์ชิ้นนี้ยังอ้างด้วยว่า อิทธิพลของจีนทำให้การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับจีนในแง่ลบถูกปัดทิ้งไป เหลือแต่แง่บวกแง่ที่ดีๆ
ในท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชาติตะวันตกกับจีนนั้น ในตอนแรกหมู่เกาะโซโลมอนไม่ยอมลงนามรับรองข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนสหรัฐฯ-แปซิฟิก แม้ว่า บรรดาผู้นำชาติเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกกว่า 12 ชาติได้ลงนามที่กรุงวอชิงตันไปเมื่อสัปดาห์ก่อนแล้วก็ตาม จนกระทั่งได้มีการตัดข้อความที่อ้างอิงถึงจีนอย่างอ้อมๆ ออกไป กลายเป็นข้อตกลงที่มุ่งเน้นประเด็นหลัก เช่น ภาวะโลกร้อน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และภัยพิบัติธรรมชาติเท่านั้น หมู่เกาะโซโลมอนจึงได้ยอมลงนาม
นายเจเรเมียห์ มาเนเล รัฐมนตรีต่างประเทศของหมู่เกาะโซโลมอน กล่าวระหว่างเยือนนิวซีแลนด์เมื่อวันอังคาร (4 ต.ค.) ว่า การอ้างอิงดังกล่าวเท่ากับบีบให้หมู่เกาะโซโลมอนต้องเลือกข้าง แต่หมู่เกาะโซโลมอนไม่ต้องการเช่นนั้น เพราะเห็นว่า แปซิฟิกควรเป็นภูมิภาคแห่งสันติสุขและความร่วมมือจึงจะเหมาะสมกว่า
ข้อมูล - โกลบอลไทมส์/เอพี