xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมจีนต้องกำราบ “ละครวาย?” ฟังคำตอบจากผู้คุมกฎ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จีนปิดทาง “ละครวาย” พระเอกหน้าสวย เพราะขัดต่อค่านิยมเรื่องครอบครัว ไม่สนับสนุนทั้งผลงานที่ผลิตโดยจีนและนำเข้าจากต่างชาติ ถึงแม้จะประสบความสำเร็จมีแฟนคลับล้นหลามก็ตาม

ละครจีนเรื่อง “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” 陈情令 ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามทั้งในจีนและต่างประเทศ สร้างกระแสให้มีผลงานแนวเดียวกันออกมามากมายทั้งนิยายและซีรีส์ หลังจากนั้น ผู้ผลิตละครในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ก็เดินตามรอยผลิตผลงานในรูปแบบเดียวกัน

ผลงานที่เรียกกันว่า “สายวาย” พระเอกจะแต่งหน้าสวยหวานคล้ายผู้หญิง และมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครชาย ผลงานที่ผลิตโดยฝ่ายจีนความสัมพันธ์จะเป็นเชิง “มิตรภาพลูกผู้ชาย” แต่ผลงานหลายชิ้นก็ก้าวไปอีกขั้นสู่บริบทของความรักเพศเดียวกัน


ถึงแม้ละครวายจะประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่หน่วยงานกำกับดูแลของทางการจีนได้มีนโยบายไม่สนับสนุนผลงานแนวนี้ ทำให้ในช่วง 1-2 ปีนี้ผู้ผลิตละครในจีนไม่ผลิตผลงานแนวนี้ออกมาอีก ขณะเดียวกัน ละครวายจากประเทศไทยก็แทบจะ “ปิดประตู” ที่จะออกอากาศในประเทศจีน

บุคลิกของตัวละครที่นุ่มนิ่ม ไม่สมเป็นชายชาตรี ในภาษาจีนเรียกว่า “เหนียงเพ้า” 娘炮 ส่วนเนื้อเรื่องแนววายในภาษาจีนเรียกว่า “ตานเหม่ย” 耽美 คาดว่าบุคลิกและการแต่งหน้าแบบนี้ได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่น หลังจากนั้นผู้ผลิตละครของจีนได้นำมาผสมผสานให้เป็นเนื้อเรื่องแบบจีน

บุคลิกเช่นนี้ไม่เพียง “ขัดหูขัดตา” ชาวจีนจำนวนไม่น้อย ทางการจีนมองว่า ละครวายนำเสนอภาพลักษณ์ “รักเพศเดียวกัน” ขัดต่อค่านิยมเรื่องครอบครัว และอัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งในจีนยังอนุรักษนิยมอยู่มาก


ผู้บริหารของฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานบริหารวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศจีน (National Radio and Television Administration) ระบุว่า “ทุกประเทศมีข้อกำหนดในการควบคุมเนื้อหาสื่อ ในประเทศจีนห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน เรื่องทางเพศ และวัฒนธรรมที่ไม่เหมาะสม”

ละครวายเป็นตัวอย่างล่าสุดที่ผู้คุมกฎสื่อของจีนไม่สนับสนุน ก่อนหน้านี้ละครแนวผีวิญญาณ ข้ามภพข้ามชาติ และความเชื่องมงายก็เคยถูกสั่งแบนมาแล้ว ถึงแม้ละครวายหลายเรื่องจะผสมผสานวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม ทั้งฉาก เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย บทกวีและเพลง จนสามารถเป็น Soft power หรือพลังทางวัฒนธรรมแนวใหม่ให้จีนได้ แต่เมื่อแนวทางเนื้อหาขัดต่อภาพลักษณ์ที่จีนต้องการนำเสนอต่อสายตาชาวโลก ผู้คุมกฎก็ไม่ลังเลที่จะปิดทางไม่ให้กระแสเช่นนี้แพร่ออกไป

สำนักงานบริหารวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศจีน มีหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหารายการที่จะออกอากาศทางสื่อมวลชน และแม้ว่าละครแนวนี้หลายเรื่องจะออกอากาศทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ก็ต้องขออนุญาตและใช้ข้อกำหนดเดียวกันกับละครโทรทัศน์

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทางการจีนต้องกำราบละครแนวนี้ คือ แฟนคลับที่เป็นเยาวชนและวัยรุ่นจำนวนมากติดตามทั้งเนื้อหาและตัวนักแสดง จนเกิดเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมากมาย ผู้บริหารของหน่วยงานควบคุมสื่อจีนระบุว่า ไม่สนับสนุนให้สื่อสร้างความบันเทิงและพาณิชย์เกินควร ในประเทศจีนจึงแทบไม่มีกลุ่มคนที่เรียกได้ว่าเป็น “ไอดอล” ไม่ว่านักร้องประกวด หรือดารา นักแสดง ที่ทำมาหากินกับความหลงใหลของแฟนคลับ


ละครไทยต้องสร้างสรรค์เนื้อหา ถ้าต้องการบุกตลาดจีน

จีนมีนโยบายสนับสนุนสื่อและผู้ผลิตในประเทศจีน โดยละครและภาพยนตร์ต่างชาติที่จะเข้ามาฉายในประเทศจีนจะถูกจำกัดจำนวนโดย “โควตา” แต่ว่าการฉายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ทำให้ข้อจำกัดนี้ลดความสำคัญลง และเปิดทางให้ละครไทยบุกตลาดจีนได้มากขึ้น ผู้ผลิตละครของไทยหลายรายได้มีความร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน นำละครไทยมาฉายในจีนหลายเรื่อง ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น สงครามนางฟ้า, วนิดา, นาคี, บุพเพสันนิวาส เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าละครไทยที่ได้รับความนิยมในจีนเป็นแนวย้อนยุค แสดงวัฒนธรรมไทยผ่านเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และฉากสถานที่แบบโบราณ ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกตาสำหรับผู้ชมชาวจีน และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทยได้ด้วย แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตละครไทยกลับนำเสนอละครแนวความขัดแย้งในครอบครัว รวมทั้งละครวาย ซึ่งทางการของจีนไม่สนับสนุน จึงทำให้โควตาละครของไทยที่ได้ออกอากาศในประเทศจีนถูกตัดลดลง

ผู้บริหารสำนักงานบริหารวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศจีน ยอมรับว่า ผู้ผลิตผลงานบันเทิงจากไทยมีฝีมือมาก ละครไทยได้รับความสนใจจากผู้ชมชาวจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็คาดหวังว่า ละครไทยจะมีความหลากหลายมากขึ้น และนำเสนอภาพลักษณ์และค่านิยมที่สอดคล้องกับที่ฝ่ายจีนพึงประสงค์


ด้านชาวจีนที่ติดตามละครไทยให้ความเห็นว่า ละครไทยดูสนุก แต่เป็นความบันเทิงที่ฉาบฉวย ตัวละครชอบกรีดร้องเสียงดัง
และมีฉากทะเลาะตบตีมาก เนื้อหาซ้ำไปซ้ำมา ไม่หลากหลาย ชาวจีนติดตามละครไทยเพราะความแปลกใหม่ นักแสดงสวยหล่อ และได้เห็นสถานที่ท่องเที่ยวของไทย แต่หากจะยืนระยะในตลาดจีน ละครไทยต้องสร้างสรรค์เนื้อหาให้มากขึ้น

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ให้ความสำคัญกับ Soft power หรือ พลังทางวัฒนธรรมอย่างมาก โดยกล่าวว่า ให้สื่อและประชาชนช่วยกันสร้างภาพลักษณ์ของจีนที่ “น่ารัก น่าเชื่อถือ น่าเคารพ”  นี่คือแนวนโยบายในแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมของจีน ไม่ว่าจะเป็นการนำผลงานจากจีนไปเผยแพร่ในประเทศไทย หรือนำผลงานของไทยมาทำตลาดในจีน.


กำลังโหลดความคิดเห็น