xs
xsm
sm
md
lg

นักศึกษาจีนในสหรัฐฯ ลดจำนวนลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ : ศูนย์จีนและโลกาภิวัตน์ (Center for China and Globalization - CCG)
โกลบอลไทมส์ - ความขัดแย้งและความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอย อาจทำให้นักศึกษาแดนมังกรเลือกไปเรียนที่ยุโรปและเอเชีย แทนสหรัฐฯ และออสเตรเลียในอนาคต

รายงานประจำปีของศูนย์จีนและโลกาภิวัตน์ (Center for China and Globalization - CCG) ซึ่งเป็นสถาบันคลังความคิดในกรุงปักกิ่ง เผยแพร่เมื่อวันพุธ (28 ก.ย.) ระบุว่า ประเทศ 5 อันดับแรกที่นักศึกษาจีนต้องการไปศึกษายังคงมีสหรัฐฯ และออสเตรเลียรวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ และออสเตรเลีย จากความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และการค้า ส่งผลกระทบให้จำนวนนักศึกษาแดนมังกรในชาติทั้งสองพลอยลดลงตามไปด้วย

ในปีการศึกษา 2563-2564 จำนวนนักศึกษาจีนในสหรัฐฯ ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยลดลงร้อยละ 14.6 จากปีการศึกษา 2562-2563 ขณะที่นักศึกษาจีนในออสเตรเลียมีจำนวนลดลงมา 2 ปีแล้ว โดยลดลงร้อยละ 11.9 ในปี 2564 และลดลงร้อยละ 9.9 ในปี 2563

รายงานระบุว่า ในอนาคตนักศึกษาจีนอาจหันไปเรียนในประเทศแถบยุโรป และเอเชีย เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เนื่องจากมีนโยบายที่อำนวยความสะดวกในด้านการศึกษาและการออกวีซ่ามากกว่า อีกทั้งชาติในเอเชียเหล่านี้มีความใกล้ชิดด้านภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม

รายงานฉบับนี้ก็ยังเตือนด้วยว่า นักศึกษาจีน ที่ไปเรียนต่างประเทศนิยมเรียนสะเต็ม (STEM) ซึ่งเป็นการสอนแบบบูรณาการระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่บางประเทศใน 5 ชาตินั้นอาจจำกัดการสอนเทคโนโลยีบางวิชาที่มีความสำคัญมากๆ ก็เป็นได้

ทั้งนี้ วุฒิสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายนวัตกรรมและการแข่งขัน (Innovation and Competition Act) เมื่อเดือน มิ.ย.2564 เพื่อเพิ่มอำนาจการตรวจสอบโครงการต่างๆ ที่จีนเข้าร่วมในด้านปัญญาประดิษฐ์ เซมิคอนดักเตอร์ คอมพิวเตอร์ควอนตัม และอื่นๆ โดยอีก 5 เดือนต่อมา ออสเตรเลียได้เสนอแผนปฏิบัติการสำหรับเทคโนโลยีที่มีความสำคัญยิ่ง เพื่อเพิ่มการปกป้องเทคโนโลยีสำคัญ 63 รายการ

นอกจากความเป็นไปได้ในการจำกัดโอกาสของนักศึกษาจีนเข้าศึกษาสาขาวิชาที่มีความอ่อนไหวแล้ว ผู้เชี่ยวชาญของจีนยังชี้ว่า บางประเทศ เช่น สหรัฐฯ มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษากับจีนน้อยลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

รายงานของ CCG ระบุด้วยว่า อัตราการเดินทางกลับมาตุภูมิของนักศึกษาจีน ภายหลังสำเร็จการศึกษาในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน โดยในปี 2562 เพิ่มถึงร้อยละ 82.5 จากร้อยละ 38.5 ในปี 2551 อันเป็นผลจากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีน และนโยบายที่ดึงดูดใจผู้มีความรู้ความสามารถ นอกจากนั้น ความซับซ้อนของสถานการณ์ระหว่างประเทศ ซึ่งรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงนโยบายวีซ่าของต่างชาติมีส่วนกระตุ้นให้อัตราการเดินทางกลับแดนมังกรเพิ่มสูงขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น