xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : จีนจัดให้การศึกษาสายอาชีพช่วยพัฒนาชาติอย่างไร?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักศึกษาโรงเรียนการรถไฟซีอานในขณะฝึกภาคปฏิบัติ (ภาพจากโซเชียลมีเดียจีน เวยปั๋ว/ Weibo)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล นักวิชาการอิสระ


ผู้เขียนยังติดตามข่าวทางไทยอยู่สม่ำเสมอและเห็นข่าวที่น่าตกใจอยู่หน้าข่าวบ่อยๆ คือเรื่องการยกพวกตีกันของกลุ่มนักเรียนอาชีวะ และปัญหานี้เป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานาน มีอยู่ตลอดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามหาแนวทางแก้ไขมาตลอด แต่ดูเหมือนว่าการยกพวกตีกันของกลุ่มนักเรียนอาชีวะยังมีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เช่น มีการใช้ปืนเข้ามาเป็นอาวุธในการทำร้ายกัน

ความรุนแรงของกลุ่มเด็กนักเรียนอาชีวะที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมไทยติดภาพในทางลบไปโดยปริยาย แต่ผู้เขียนยังเชื่อว่านักเรียนอาชีวะไทยน้ำดียังมีอยู่มาก และต้องการการสนับสนุนในด้านกิจกรรมและการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์

ผู้เขียนในฐานะที่ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ในจีนมา 10 กว่าปี ไม่เคยได้เห็นข่าวนักเรียนอาชีวะจีนมีการตั้งสถาบันคู่อริกันเอาเองและยกพวกตีกันเลยสักนิด หากว่าจะเป็นอริกันก็จะเป็นเรื่องของการแข่งขันงานประดิษฐ์ ทำวิจัย หรือการแข่งขันกันเรื่องการศึกษา

จีนให้ความสำคัญกับการเรียนการศึกษาสายอาชีพในประเทศเป็นอย่างมาก นักเรียนนักศึกษาที่เรียนจบมาจากโรงเรียนเทคนิคสายอาชีพต่างๆ ในช่วงเกือบๆ 10 ปีที่ผ่านมานี้ หางานทำได้ง่ายกว่านักศึกษาจบใหม่ปริญญาตรีด้วยซ้ำ เพราะจีนมีโรงงานมากมายในภาคการผลิตที่ต้องการบุคลากรที่จบมาเฉพาะด้าน ทำให้กลุ่มเด็กที่เรียนจบในสายอาชีพเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการจำนวนมาก ส่วนในเรื่องของรายได้ก็ไม่ได้น้อยหน้าปริญญาตรีจบใหม่ ในบางสายงานที่ใช้ทักษะสูงตั้งอัตราเงินเดือนเริ่มต้นสูงกว่า 10,000 หยวน หรือประมาณ 50,000 บาทเลยด้วยซ้ำ

จีนกับการก้าวไปสู่ประเทศที่มีเทคโนโลยีการผลิตก้าวหน้า บรรลุเป้าหมาย ‘Made in China 2025’  อุตสาหกรรมการผลิตเกิดใหม่จำนวนมากต้องการบุคลากรที่จบมาเฉพาะด้าน อย่างในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในโรงงานของจีนทั่วประเทศ บุคลากร 70% จบมาจากโรงเรียนสายอาชีพ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงในปี 2019 ยังเคยกล่าวถึงการเรียนการศึกษาสายอาชีพเอาไว้ว่า “การศึกษาสายอาชีพมีความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจีน เพราะความรู้ที่เรียนมาด้านการฝึกปฏิบัติเฉพาะด้าน สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจและสังคมพัฒนาต่อไปได้ ดังนั้น การศึกษาในส่วนนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง”


แล้วโดยทั่วไปคนจีนคิดกันอย่างไรถ้าลูกหลานจะเลือกไปเรียนในสายอาชีพ?  จากการที่ผู้เขียนอ่านบทความมาพอสมควรเกี่ยวกับทัศนคติของผู้ปกครองทั่วไป รวมถึงการสอบถามสำรวจความคิดของคนรอบข้างในจีน ปัจจุบันคนจีนยังมีทัศนคติด้านลบอยู่บ้างในกลุ่มนักเรียนที่เรียนจบการศึกษาระดับมัธยมต้นและออกไปเรียนต่อในสายอาชีพ โดยจะมองว่าเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนไม่ค่อยดีนัก และไม่มีทางเลือกจึงต้องไปเรียนสายอาชีพ มีอาจารย์โรงเรียนมัธยมศึกษาในจีนท่านหนึ่งได้อธิบายไว้ว่า “การเรียนจบมัธยมต้นและจะขึ้นไปชั้นมัธยมปลายต้องมีการสอบแข่งขัน นักเรียนที่ผลคะแนนสอบไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด อาจารย์ประจำชั้นที่ดูแลนักเรียนส่วนใหญ่จะแจ้งผู้ปกครอง แนะนำนักเรียนให้เลือกเรียนในสายอาชีพแทน เพราะถ้าการเรียนมัธยมต้นยังไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ครั้นจะเรียนต่อไปจนจบมัธยมปลายเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยน่าจะเป็นไปได้ยากที่จะสอบติด”

นายโจวถังหลิน ตัวอย่างนักเรียนสายอาชีพด้านเครื่องกลไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จ (แฟ้มภาพจาก ไป๋ตู้ บล็อก/ Baidu Blog)
แต่กลุ่มผู้ปกครองส่วนใหญ่มักยืนหยัดให้ลูกตัวเองเรียนชั้นมัธยมปลายต่อไป ไม่ยอมให้ลูกเปลี่ยนไปเลือกเรียนในสายอาชีพ เพราะเชื่อว่าการเรียนไปจนจบมัธยมปลายและเอ็นทรานซ์ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีดีกว่าเลือกเรียนสายอาชีพ เหตุนี้เองทำให้แต่ละปีมีนักเรียนจำนวนน้อยมากที่เรียนจบมัธยมต้นแล้วเลือกไปเรียนต่อในสายอาชีพ เพราะนักเรียนที่เลือกเรียนในสายอาชีพน้อย ทำให้หลายโรงเรียนสายอาชีพประสบปัญหาขาดแคลนนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการจีนจึงประกาศให้แต่ละโรงเรียนตั้งโควตาการรับเด็กเข้ามัธยมปลาย ทำให้การแข่งขันและคะแนนการสอบเข้ามัธยมปลายสูงขึ้น ผู้ปกครองจำนวนหนึ่งที่ลูกหลานมีผลการเรียนในชั้นมัธยมต้นไม่ผ่านเกณฑ์จึงยอมให้ลูกหลานเลือกไปเรียนในสายอาชีพโดยปริยาย

การสนับสนุนการศึกษาสายอาชีพของรัฐบาลจีน อีกนัยหนึ่งคือต้องการให้โอกาสและผลักดันให้แรงงานในชนบทมีทางเลือกในการศึกษาเพื่อฝึกทักษะเฉพาะด้าน ที่จะมีประโยชน์กับการพัฒนาตนเองและยกระดับคุณภาพชีวิต จีนเห็นว่าการพัฒนาการศึกษาสายอาชีพสามารถปรับปรุงคุณภาพโดยรวมของแรงงานชนบท เพิ่มทางเลือก และสุดท้ายคือการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ


ในขณะเดียวกัน ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาสายอาชีพและการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการจีน กล่าวว่า “ในอนาคตจะมุ่งเน้นให้นักเรียนในชนบทได้ฝึกฝนทักษะความรู้มากขึ้นในด้านเฉพาะทางที่แต่ละบุคคลสนใจ ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและตอบสนองความต้องการของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ต้องเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินและค่าเล่าเรียนฟรีสำหรับนักเรียนในชนบทด้วย ในด้านการจัดหางานและตำแหน่งงานหลังเรียนจบออกมา ต้องสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้มากขึ้น”

มีนักเรียนสายอาชีพตัวอย่างหนึ่งชื่อว่านายโจวถังหลิน ที่ใช้เวลาเพียง 5 ปีในการเล่าเรียนศาสตร์วิชาเทคนิคหุ่นยนต์ จนประสบความสำเร็จ เป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมหุ่นยนต์เครื่องกลไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานและได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายจากรัฐบาลท้องถิ่นมณฑลเจียงซู ปัจจุบันทำงานอยู่ในโรงงานแห่งหนึ่งที่เมืองซูโจว ในตำแหน่งวิศวกรไฟฟ้า

นายโจวถังหลิน เกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน เมื่อเรียนจบในระดับมัธยมต้นก็ตั้งใจแน่วแน่ที่จะเรียนต่อสายอาชีพด้านเครื่องกลไฟฟ้า เพื่อสร้างทักษะติดตัวทำมาหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวได้ไวขึ้น นายโจวถังหลิน จึงตั้งใจเรียนและฝึกฝนลงมือปฏิบัติบ่อยๆ ในขณะที่เพื่อนทุกคนเลิกเรียนเขายังอยู่ในห้องปฏิบัติการ ฝึกฝนตัวเองซ่อมบำรุงรักษาหุ่นยนต์และประดิษฐ์เครื่องกลวันละ 4-5 ชั่วโมงทุกวัน ตัวเขาเองได้ใช้ความรู้ทางทฤษฎีควบรวมกับภาคปฏิบัติ และทำได้เป็นอย่างดี จนสุดท้ายเขามีผลการเรียนดีเยี่ยม มีผลงานการประดิษฐ์ และเป็นที่ยอมรับจากเพื่อนในชั้นเรียนและอาจารย์ผู้สอน

นายโจวถังหลิน ได้เคยกล่าวให้กำลังใจเด็กที่เลือกเรียนในสายอาชีพไว้ว่า “ผมเองจบจากสถาบันไม่โด่งดังนัก เพียงแต่ขยันและมุ่งมั่นในสิ่งที่เรียน ไม่มีอะไรที่จะยากเกินความพยายาม เพียงแค่ตั้งใจจริงและพร้อมสู้ทุกสถานการณ์ก็จะหาเส้นทางของตัวเองเจอได้ในสักวัน”

จากตัวอย่างนี้เอง ผู้เขียนอยากจะสนับสนุนให้กำลังใจนักเรียนนักศึกษาสายอาชีพไทยทุกคน ให้ขยันศึกษาหาความรู้ต่อไปเพื่อพัฒนาตนเองและประเทศชาติของเราอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น