บรรดาชาติกำลังพัฒนาหันมาสนับสนุนจีนมากขึ้น หลังจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตกกล่าวหาจีนไม่เลิกว่า ละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคซินเจียง
เมื่อวันจันทร์ ( 26 ก.ย.) สหรัฐฯ และกลุ่มชาติตะวันตกจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งอังกฤษ แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน ได้ยื่นร่างข้อเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็น ครั้งที่ 51 ขอให้จัดการอภิปรายวาระพิเศษเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในภูมิภาคซินเจียงของจีนในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะจัดขึ้นในต้นปี 2566
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันนั้นเอง ทางด้านผู้แทนของปากีสถานได้มีการอ่านแถลงการณ์ร่วมในนามของชาติสมาชิกยูเอ็นเกือบ 70 ชาติ บนเวทีการประชุมดังกล่าว เรียกร้องให้ชาติอื่นๆ ยุติการแทรกแซงกิจการภายในของจีน ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และในเขตปกครองตนเองทิเบต อีกทั้งคัดค้านการใช้สองมาตรฐาน การนำเรื่องสิทธิมนุษยชนมาเป็นประเด็นทางการเมือง และใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ามาก้าวก่ายกิจการภายในของจีน
นอกจากนั้น ยังมีอีกกว่า 20 ชาติที่ออกแถลงการณ์สนับสนุนจุดยืนอันชอบธรรมของจีนในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน นับรวมชาติที่แสดงความเข้าใจและสนับสนุนจีนมีมากเกือบ 100 ชาติ จากชาติสมาชิกยูเอ็นทั้งหมด 193 ชาติ
ในการให้สัมภาษณ์กับโกลบอลไทมส์ ซึ่งเป็นสื่อของทางการจีน นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การเคลื่อนไหวของชาติกำลังพัฒนาเหล่านั้นเท่ากับเป็นการจับมือกับจีน ในการปกป้องระบบพหุภาคี และต่อต้านการทำตัวเป็นเจ้าโลกของสหรัฐฯ โดยในการประชุมสมัชชาใหญ่ยูเอ็น ครั้งที่ 77 และการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ ชาติตะวันตกได้หยิบยกข้อกล่าวหาจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคซินเจียงขึ้นมาพูดบนเวทีอย่างดุเดือด แต่ชาติกำลังพัฒนามองทะลุปรุโปร่งว่า เป็นเรื่องเสแสร้ง เพื่อนำมาเป็นประเด็นการเมืองช่วงชิงความได้เปรียบให้ฝ่ายชาติตะวันตก และสักวันหนึ่งชาติของตนอาจถูกเล่นงานแบบเดียวกับจีน นอกจากนั้น มีอีกหลายชาติที่เริ่มเป็นฝ่ายตีแผ่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอื้อฉาวในสหรัฐฯ และชาติตะวันตกบ้าง
ทั้งนี้ หากร่างข้อเสนอของชาติตะวันตกผ่านการพิจารณาเห็นชอบ จะนับเป็นครั้งแรกที่ข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในจีน ถูกบรรจุในระเบียบวาระการประชุมของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนยูเอ็นอย่างเป็นทางการ โดยสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเตรียมขอให้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญของยูเอ็นเข้าไปดำเนินการสอบสวนในภูมิภาคซินเจียงอย่างครอบคลุมกว้างขวาง หลังจากรายงานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในซินเจียงของนางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น ที่เพิ่งพ้นวาระการดำรงตำแหน่ง ไม่เป็นที่พอใจของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกเท่าใดนัก
ข้อมูล : โกลบอลไทมส์