xs
xsm
sm
md
lg

ส่องกลยุทธ์จีนใช้เรือพลเรือนสร้างแสนยานุภาพทางทะเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เรือประมงจีนแล่นใกล้เกาะยอนพยอง ของเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนข้อพิพาททางทะเลกับเกาหลีเหนือเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2552 - ภาพเอพี
เหล่านักวิเคราะห์นอกแดนมังกรชี้ จีนมีการนำเรือพลเรือนมาใช้ได้อย่างแยบยล เพื่อขยายแสนยานุภาพทางทะเล

เรือที่เห็นกันอยู่ชัดๆ ว่า เป็นเรือพลเรือนของจีน เช่น เรือวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจอดเทียบท่าในศรีลังกา เรือประมงหลายร้อยลำที่ทอดสมอคราวหนึ่งนานหลายเดือนที่หมู่เกาะสแปรตลี ในทะเลจีนใต้ หรือเรือเดินสมุทร ซึ่งต่อขึ้นมาสำหรับบรรทุกยานพาหนะหนักและผู้โดยสารได้จำนวนมาก

นักวิเคราะห์ชี้ว่า แท้ที่จริงแล้วเรือเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ของจีน ที่มีการผสมผสานระหว่างการทหารกับพลเรือน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางทะเล

เหตุผลสำคัญที่นำเรือพลเรือนมาใช้ก็เพราะมันสามารถปฏิบัติภารกิจ ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องยากในทันที หากให้เรือของทหารดำเนินการ


นายเกรกอรี โพลิง (Gregory Poling) ผู้อำนวยการ โครงการริเริ่มความโปร่งใสทางทะเลของเอเชีย ซึ่งอยู่ในสังกัดของศูนย์ยุทธศาสตร์และการศึกษานานาชาติ (CSIS) ในอินโดนีเซีย ระบุว่า จีนจ้างเรือลากอวนทอดสมอที่หมู่เกาะสแปรตลีอย่างน้อยๆ ปีละ 280 วัน โดยจ่ายค่าจ้างสูงกว่าที่ได้จากการจับปลา เพื่อเป็นการสนับสนุนการยืนยันสิทธิครอบครองเหนือหมู่เกาะ และยังเท่ากับเป็นการสร้างกองเรือกระดูกสันหลังขึ้นที่สแปรตลี ซึ่งจีนมีเรือประมงพาณิชย์อยู่ประมาณ 800-100 ลำ นอกจากนั้น ยังมีเรืออีกราว 200 ลำ ของกองกำลังอาสาพลเรือนมืออาชีพ ซึ่งผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี ภายใต้การควบคุมโดยตรงของรัฐ และในปฏิบัติการเชิงรุกจะอาศัยเรือของกองกำลังอาสา นายโพลิง อ้างจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ปรากฏในรายงานของทางการจีน ประกอบกับข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม และแหล่งข้อมูลอื่นๆ

นายเจย์ บาตองบากัล (Jay Batongbaca) หัวหน้าสถาบันกิจการทางทะเลและกฎหมายทะเลของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ระบุว่า หากเรือประมงของจีนล่วงล้ำเข้ามาในเขตอ้างสิทธิของฟิลิปปินส์ การห้ามปรามโดยกองทัพเรือย่อมทำไม่ได้ เพราะอาจถูกมองว่าเป็นการใช้กำลังกับเรือของพลเรือน และต้องการยั่วยุให้เกิดเหตุรุนแรง

ทั้งนี้ จีน เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไน และไต้หวัน ต่างอ้างสิทธิครอบครองพื้นที่ในหมู่เกาะสแปรตลี แหล่งประมงอันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งอาจมีน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาล ตลอดจนเป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญในภูมิภาคหนึ่งของโลก

นายริดซวาน ราห์มัต นักวิเคราะห์ด้านข่าวกรองทางทหารในสิงคโปร์ ระบุว่า ในพื้นที่ที่กองทัพเรือจีนไม่สามารถเข้าไปได้ จะอาศัยเรือวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ของพลเรือน การสร้างเรือวิจัยพลเรือนยังเป็นช่องทางในการหลบเลี่ยงมาตรการควบคุมของชาติตะวันตก ที่ห้ามการส่งออกเทคโนโลยี ซึ่งมีความล่อแหลมที่จีนจะนำไปใช้ด้านการทหาร เชื่อกันว่า “จู ไห่ อวิ้น” เรือวิจัยอัจฉริยะขับเคลื่อนด้วยระบบกึ่งอัตโนมัติ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นการทดสอบเดินเรือครั้งแรกเมื่อเดือน มิ.ย.2565 ก็จัดอยู่ในประเภทนี้ โดยเรือสามารถปล่อยโดรนขึ้นสู่ท้องฟ้า บนผิวน้ำ หรือใต้น้ำได้ เพื่อการวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล ตามรายงานของโกลบอลไทมส์ สื่อทางการจีน

นอกจากนั้น นายราห์มัต ระบุว่า เรือ “จู ไห่ อวิ้น” ยังสามารถทำแผนที่ทางทหารใต้ท้องทะเลจีนใต้อีกด้วย รวมถึงช่องทางเดินเรือของเรือดำน้ำที่สำคัญรอบเกาะไต้หวัน

คนงานท่าเรือฮัมบันโตตาของศรีลังกาชูธงชาติจีนต้อนรับเรือวิจัย “หยวนหวัง 5” ซึ่งขอจอดเติมน้ำมันเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 - ภาพเอพี
เรือพลเรือนแฝงภารกิจทางทหารของจีนสร้างความหวาดระแวงแก่อินเดีย ซึ่งนายราห์มัต สงสัยว่า ได้เลื่อนการทดสอบยิงขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศรุ่นใหม่ออกไปเป็นวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็เพื่อรอให้ เรือวิจัย “หยวน หวัง 5” ที่ขอจอดเติมน้ำมันที่ท่าฮัมบันโตตา ของศรีลังกา ได้แล่นออกไปในวันที่ 22 ส.ค.เสียก่อน เนื่องจากเรือลำนี้มีระบบเซ็นเซอร์ที่สามารถเก็บข้อมูลการยิงขีปนาวุธได้

จีนมิได้พยายามปิดบังเรื่องการใช้เรือโดยสารเดินสมุทรพลเรือนไปในการทหาร โดยในปี 2559 ได้กำหนดให้การต่อเรือต้องได้มาตรฐานการป้องกันทางทหาร และอนุญาตให้บรรทุกพาหนะทางทหาร เช่น รถถังได้ จากบทความที่ นายไมก์ ดาห์ม (Mike Dahm) เจ้าหน้าที่การข่าวกรองนอกราชการของกองทัพเรือสหรัฐฯ เขียนให้สถาบันการเดินเรือจีนศึกษาของวิทยาลัยการทัพเรือสหรัฐฯ

สถานีโทรทัศน์ของทางการจีนเผยแพร่วิดีโอการฝึกซ้อมการบรรทุกยานยนต์ทหาร และกำลังพลบนเรือโดยสารพลเรือน ซึ่งการฝึกซ้อมครั้งล่าสุดเสร็จสิ้นเมื่อต้นเดือนนี้ นายดาห์ม ระบุว่า อาจเป็นการข่มขวัญไต้หวัน ซึ่งจีนไม่ปฏิเสธการใช้กำลังทหารเข้าผนวกดินแดนของตน และเป็นการส่งสารของรัฐบาลจีนด้วยว่า ประชาชนก็มีส่วนช่วยในการรักษาความมั่นคงของชาติเช่นกัน

นายราห์มัต ระบุว่า ขณะนี้จีนยังไม่มียานสะเทินน้ำสะเทินบกมากพอสำหรับขนกำลังพลข้ามช่องแคบไต้หวัน ซึ่งห่างจากแผ่นดินใหญ่กว่า 160 กิโลเมตร ฉะนั้นเรือโดยสารอาจถูกนำมาใช้ทดแทน หากวิกฤตการณ์มาถึงขึ้นที่จีนต้องตัดสินใจบุกไต้หวัน


ข้อมูลจาก "China using civilian ships to enhance navy capability, reach" ของเอพี


กำลังโหลดความคิดเห็น