xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : จีนกับการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน ยังเข้มข้นไม่เลิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“การรับเงินใต้โต๊ะ” หนึ่งในปัญหาการทุจริตที่ปรากฏในทุกยุคสมัย (ภาพจากโซเชียลมีเดียจีนเวยปั๋ว)
โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล นักวิชาการอิสระ

ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะมาบอกเล่าสู่กันฟังถึงเรื่องการต่อต้านการทุจริตในจีนที่ยังคงมีความเข้มข้นอยู่ไม่ลดละ ข่าวของการจับกุมและลงโทษ ไปจนถึงการประหารเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการกระทำผิดยังมีให้เห็นในข่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง ในบทความก่อนหน้านี้ผู้เขียนเคยเขียนแนะนำไปเรื่องความเข้มข้นของการกำจัดการทุจริตคอร์รัปชันที่รัฐบาลจีนชุดนี้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่รัฐระดับมณฑลอยู่หลายท่านถูกจับกุมและถูกเปิดโปงพฤติกรรมการทุจริตอย่างละเอียด และกลายเป็นข่าวฮือฮาในสังคมจีน


เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ออกแถลงการณ์ “จีนกับ 10 ปีที่ผ่านมา” เนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งในแถลงการณ์นี้คือ ผลการดำเนินการจับกุมและลงดาบคดีการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้คดีการทุจริตทั้งหมดมี 4.38 ล้านคดี ในจำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่รัฐ 4.7 ล้านคนที่เกี่ยวข้องและถูกตรวจสอบ และมีเจ้าหน้าที่รัฐ 74,000 คนที่เข้ามาสารภาพผิดด้วยตนเอง

จากการเปิดเผยล่าสุดของคณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์ ในช่วงไตรมาสแรกของปี (2022)นี้ มีจำนวนคดีเกี่ยวกับการทุจริตถึง 143,000 คดี จำนวนคดีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2020 และ 2021 แสดงให้เห็นว่าการขยายโครงข่ายการตรวจสอบจับกุมเจ้าหน้าที่ที่ทำการทุจริตนับวันยิ่งจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยช่วงหลังพบการทุจริตมากในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสายการเงินและการธนาคาร

“ไม่กล้าทุจริต ไม่สามารถทุจริตและไม่อยากทุจริต” เป็นสโลแกนของการต่อต้านการทุจริตของจีนในปัจจุบัน โดยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการต่อต้านการทุจริตแห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีปักกิ่ง นายซ่งเหว่ย (宋伟) ได้ให้ความเห็นว่า ความมุ่งมั่นของพรรคในการกำจัดและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการทุจริต กำลังเข้มข้นอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวงการที่จะเกิดการทุจริตได้ง่าย อย่างหน่วยงานหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การธนาคาร การลงทุนต่างๆ ได้เพิ่มการตรวจสอบมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐเกิดความกลัวต่อการทุจริต

นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งที่เดินเข้าไปหาหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตและสารภาพความผิดของตนเอง โดยกลุ่มคนพวกนี้จะมองว่ายอมไปสารภาพก่อนและยื่นหลักฐานก่อนจะดีกว่ามาถูกจับหรือถูกเปิดโปงทีหลัง เจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตและเดินไปสารภาพความผิดเอง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีแสดงว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตคอร์รัปชันออกมายอมรับผิดเอง แสดงว่ามาตรการที่ใช้อยู่ในขณะนี้นั้นได้ผล

ในด้านของงานบริหารการป้องกันการทุจริตของจีนนั้น นอกจากงานการตรวจสอบและจัดการกับผู้กระทำผิดแล้ว ยังต้องมีส่วนที่ให้ความรู้และตักเตือนด้วย โดยพรรคมีขั้นตอนของการจัดระเบียบพฤติกรรมด้านทุจริตออกได้เป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้คือ

- การเตือนสติและปรับปรุง อย่างเช่น การจัดประชุมวิจารณ์ในหน่วยงานเป็นกิจวัตร ทั้งวิจารณ์ตนเองและวิจารณ์สมาชิกพรรคคนอื่นๆ ในที่ประชุมเพื่อการเตือนสติและปรับปรุงตนเอง

- การลงโทษทางวินัยทั่วไป หนักเบาแล้วแต่พฤติกรรมที่ละเมิดและการจัดการของหน่วยงาน

- การลงโทษทางวินัยอย่างหนักและปรับหรือโยกย้ายตำแหน่ง

- การลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงและโยงถึงการกระทำผิดทางกฎหมาย มีการดำเนินคดี

นายสีว์เชาฝาน ผู้ต้องสงสัยทุจริตด้านการเงินที่หลบหนีออกนอกประเทศไปนานถึง 17 ปี ถูกส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีที่จีนในปี 2018 สีว์เชาฝาน เคยเป็นหัวหน้าสาขาแห่งหนึ่งของธนาคารแห่งประเทศจีน (Bank of China) ทุจริตเงิน 4
โดยหน่วยงานตรวจสอบการทุจริตของจีนใช้ 4 ขั้นตอนนี้ในการบริหารและจัดการกับความประพฤติมิชอบที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต โดยจากสถิติจนถึงครึ่งปีนี้ หน่วยงานตรวจสอบการทุจริตของจีนทั่วประเทศได้ปฏิบัติและใช้ขั้นตอนที่หนึ่ง 61.3% ใช้ขั้นตอนที่สอง 29.4% ใช้ขั้นตอนที่สาม 5% และใช้ขั้นตอนที่สี่ หรือขั้นตอนสุดท้ายที่มีการลงโทษสูงสุด 4.3% จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการดำเนินการในขั้นตอนที่หนึ่งและที่สองคือการตักเตือนและการลงโทษทางวินัยทั่วไปยังคงเป็นสัดส่วนที่สูงกว่า 90% สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นจากแง่มุมหนึ่งว่าการตรวจสอบและกำกับดูแลวินัย นอกจากการตรวจสอบและลงโทษหนักแล้ว ยังพยายามควบคุมดูแลแบบค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือการเริ่มต้นให้ความรู้และเตือนล่วงหน้า ให้มีการประชุมวิจารณ์กันบ่อยๆ ในหน่วยงานและสมาชิกพรรคด้วยกันเพื่อเตือนสติ

ในเวลาเดียวกัน ปัญหาของการกำจัดมาเฟียที่ส่วนใหญ่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ให้การปกป้องคุ้มกัน เสมือนกับ “ร่มคุ้มครอง” โดยจนถึงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีการจับกุมและลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ให้การคุ้มครองมาเฟียมีมากถึง 1 แสนเคส มีเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกว่า 92,000 คน ซึ่งตัวเลขจริงอาจจะมีมากกว่านี้ และทางการจีนกำลังกวาดล้างและตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น อย่างเคสที่ผ่านมาไม่นานของเมืองถังซาน ที่มีการล่วงละเมิดหญิงสาวในร้านอาหาร กลุ่มผู้ก่อเหตุถูกจับและสืบประวัติพบว่ามีประวัติการกระทำผิดที่โชกโชนและดูเหมือนว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องด้วยในด้านการให้การคุ้มกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ตอนนี้จีนนอกจากจะจับกุมและลงดาบ ‘กลุ่มเสือใหญ่’ คือเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ทุจริตเงินจำนวนมหาศาลแล้ว ยังมุ่งปราบปรามพฤติกรรมทุจริตเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 25-35 ปี โดยเริ่มพบการทุจริตในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐรุ่นใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทุจริตยักยอกเงินไปใช้จ่ายส่วนตัว อย่างเช่น เพื่อเล่นการพนันออนไลน์ เพื่อการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย และใช้จ่ายอื่นๆ เป็นต้น โดยถึงแม้ว่าจะทุจริตเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่หากไม่จัดการตัดไฟแต่ต้นลม ในอนาคตอาจจะกลายเป็นเงินจำนวนมหาศาลได้ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐกลุ่มนี้ส่วนมากยังอยู่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ปฏอบัติการ และส่วนใหญ่อยู่ในตำแหน่งที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เช่นทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านศุลกากร ประกันสังคม และฝ่ายการเบิกจ่ายเงิน เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น เคสการทุจริตหนึ่งในเมืองซีอาน เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิต อายุ 28 ปี เพิ่งเริ่มเข้าทำงานในปี 2016-2017 ถูกพบว่าใช้ช่องว่างในการประสานงานกับบริษัทเอกชนที่เข้ามาลงทะเบียนเปิดบริษัทใหม่กับหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รายนี้ได้รับเงินใต้โต๊ะจากบริษัทที่มาดำเนินการลงทะเบียนและให้สัญญาว่าจะช่วยให้การลงทะเบียนเปิดบริษัทดำเนินการได้ไวขึ้น เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตรายนี้ได้รับเงินไปทั้งหมด 270,000 กว่าหยวนหรือเกือบ 1.5 ล้านบาท สุดท้ายเรื่องรับสินบนถูกตรวจสอบและถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี หมดอนาคตในการทำงาน

อีกเคสหนึ่งมีการทุจริตเงินกว่า 5 ล้านหยวนหรือ 25 ล้านบาท เป็นเจ้าหน้าที่รัฐอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น โดยมีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในเสฉวน แต่งตัวเลขบัญชีการเงินของโรงพยาบาล แล้วเอาเงินส่วนเกินของโรงพยาบาลโยกโอนเข้าบัญชีตัวเอง โดยเงินทุจริตจำนวน 5 ล้านกว่าหยวน หรือประมาณ 25 ล้านบาท เงินทุจริตนี้ใช้เวลาไม่ถึง 2 ปีในการดำเนินการ สุดท้ายเจ้าหน้าที่รัฐรายนี้ต้องชดใช้ ถูกตัดสินจำคุก และหมดอนาคตเช่นกัน

คณะกรรมาธิการตรวจสอบวินัยของพรรคคอมมิวนิสต์ให้ความสำคัญกับการทุจริตในกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐยุคใหม่เป็นอย่างมาก โดยเห็นว่า “กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐยุคหลังๆ นี้ พฤติกรรมการทุจริตเปลี่ยนไปไม่ค่อยเหมือนกับแต่ก่อนเพราะความเชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเทคนิคด้านไอทีต่างๆ ทำให้การติดตามหาหลักฐานอาจจะมีความยากมากขึ้น” ความต้องการเงินใช้จ่ายส่วนตัว เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตจำนวนหนึ่งเห็นการบริหารงานของหน่วยงานที่ตนเองทำงานอยู่มีความหละหลวม มีช่องว่างที่จะทุจริตได้ อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เพราะเห็นว่าหัวหน้าของตนเองในหน่วยงานเดียวกันมีพฤติกรรมการทุจริตเช่นกันเลยเอาบ้างเพราะเห็นแบบอย่างมา

สรุปคือ ประเด็นการตรวจสอบและกวาดล้างการทุจริตของจีนยังคงดำเนินอย่างเข้มข้นในหลายมิติ ในขณะเดียวกัน การประชาสัมพันธ์และให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่รัฐยุคใหม่ก็เป็นหน้าที่สำคัญของรัฐบาลจีนในสถานการณ์ปัจจุบันเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น