xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์จีนพบข้อมูล ‘ลาวาภูเขาไฟ 4 ชั้น’ บริเวณจุดลงจอดยานฉางเอ๋อ-5

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพซินหัว) - ตัวอย่างที่ยานสำรวจฉางเอ๋อ-5 ของจีนเก็บได้จากดวงจันทร์ ถูกนำกลับมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจีน ในกรุงปักกิ่ง วันที่ 27 ก.พ.2021)
ศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติจีน (NSSC) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) เผยว่า ทีมวิจัยจากจีนได้ค้นพบหลักฐานทางธรณีวิทยาของลาวาภูเขาไฟซึ่งเคยไหลท่วมบริเวณพื้นที่ที่ยานฉางเอ๋อ-5 ในภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของจีนลงจอด เป็นจำนวนอย่างน้อยสี่ชั้น

เมื่อปลายปี 2020 ภารกิจฉางเอ๋อ-5 ของจีนเคยนำตัวอย่างดวงจันทร์รวม 1,731 กรัมกลับมาสู่โลก โดยคาดว่าบริเวณที่ยานฉางเอ๋อ-5 ลงจอด อันได้แก่ แอ่งที่ราบขนาดใหญ่ทางตะวันตกของดวงจันทร์ “โอซีเอนัส พรอสซาเลรัม” (Oceanus Procellarum) หรือที่เรียกกันว่า “มหาสมุทรแห่งพายุ” นั้นเป็นหนึ่งในพื้นที่หินบะซอลต์ที่มีอายุน้อยที่สุดบนพื้นผิวดวงจันทร์

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พื้นที่บริเวณนี้อุดมไปด้วยธาตุให้ความร้อน เช่น ยูเรเนียม ทอเรียม และโพแทสเซียม เชื่อกันว่าธาตุเหล่านี้เป็นตัวทำให้ปรากฏการณ์ต่างๆ ของภูเขาไฟบนดวงจันทร์ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน

ตู้จวิน ผู้นำโครงการวิจัยกล่าวว่า การศึกษาความหนาของหินบะซอลต์และอัตราการปะทุของหินบะซอลต์ในพื้นที่ลงจอดของยานฉางเอ๋อ-5 จะช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ของภูเขาไฟบนดวงจันทร์และวิวัฒนาการของความร้อนภายในดวงจันทร์

นักวิจัยจากศูนย์ฯ และสถาบันอื่นๆ ในจีนได้ประเมินความหนาของหินบะซอลต์บริเวณพื้นผิวที่ราบกว้างใหญ่บนดวงจันทร์ที่ยานฉางเอ๋อ-5 ลงจอด ซึ่งผลการศึกษาของพวกเขาพบว่า มีการปะทุของแมกมาอย่างน้อย 4 ครั้งในพื้นที่ลงจอดดังกล่าว โดยแต่ละครั้งมีค่าเฉลี่ยของความหนาที่ 230 เมตร 70 เมตร 4 เมตร และ 36 เมตร ตามลำดับ

นอกจากนี้ การศึกษายังพบว่าอัตราการปะทุของหินบะซอลต์พื้นผิวที่ราบบริเวณพื้นที่ลงจอดฉางเอ๋อ-5 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อประมาณ 2 พันล้านปีก่อน ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างแบบจำลองเชิงตัวเลขที่สามารถอธิบายระยะเวลา และขนาดของปรากฏการณ์ทางภูเขาไฟบนดวงจันทร์ได้

อนึ่ง ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิจัยธรณีฟิสิกส์ : ดาวเคราะห์ (the Journal of Geophysical Research : Planets) เมื่อไม่นานนี้




กำลังโหลดความคิดเห็น