xs
xsm
sm
md
lg

จีนเตรียมยกเครื่องทีมเศรษฐกิจครั้งใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สี จิ้นผิง (ขวา) กับหลี่ เค่อเฉียง โดยหลี่ เค่อเฉียง ได้รับแต่งตั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อเดือน มี.ค.2556 ส่วนสี จิ้นผิง ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในเดือนพฤศจิกายน 2555 และได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีในเดือนมีนาคม พ.ศ.2556 เช่นกัน - ภาพซินหัว
รอยเตอร์ - นักวิเคราะห์และแหล่งข่าววงในคาดการประชุมใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในเดือน ต.ค.นี้ จะเป็นการปูทางไปสู่การยกเครื่องทีมเศรษฐกิจครั้งใหญ่สุดในรอบหนึ่งทศวรรษ ซึ่งทีมเศรษฐกิจหัวปฏิรูปชุดปัจจุบัน คงก้าวลงจากตำแหน่งทั้งหมด ท่ามกลางแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจแดนมังกรที่ย่ำแย่

การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 16 ตุลาคมนี้ จะมีการคัดเลือกคณะผู้นำสูงสุดของประเทศชุดใหม่ตามวาระ อย่างไรก็ตาม คาดว่าประธานาธิบดี สี จิ้นผิง วัย 69 ปี จะยังคงดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีต่อเป็นสมัยที่ 3 หลังจากสภาประชาชนจีนได้มีการแก้ไขยกเลิกข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ผู้นำจีนสามารถอยู่ในตำแหน่งได้เกิน 2 วาระ โดยวาระหนึ่งมีระยะเวลา 5 ปี

สำหรับนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ ในรัฐบาลจะยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนถึงการประชุมสภาประชาชนจีนในปีหน้า ซึ่งตามปกติจัดขึ้นในเดือน มี.ค.

ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และแหล่งข่าววงใน ทีมเศรษฐกิจรุ่นใหม่อาจถูกครอบงำโดยบรรดาผู้จงรักภักดีต่อประธานาธิบดีสี ซึ่งเป็นพวกที่ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างประเทศอย่างลึกซึ้ง และขาดความเป็นตัวของตัวเอง แตกต่างจากทีมเศรษฐกิจที่กำลังจะหมดวาระ โดยคาดว่า นายหลิว เหอ รองนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจ หรือซาร์แห่งเศรษฐกิจจีน วัย 70 ปี และนายกัว ซู่ชิง ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารของจีน วัย 66 ปี จะลงจากตำแหน่งในต้นปีหน้าด้วยเช่นกัน โดยการเกษียณอายุของผู้นำระดับสูงของจีนตามปกติคือราว 68 ปี หรือเมื่อดำรงตำแหน่งครบ 2 สมัย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของจีนเป็นตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่คนทั่วไปมองกันว่า อำนาจของนายหลี่ ถูกจำกัดภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีสี แม้ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัยก็ตาม ขณะที่นักลงทุนมองว่า นายหลี่มีความประนีประนอมและทำให้รู้สึกสบายใจ  ในท่ามกลางกระแสการปรับเปลี่ยนของประธานาธิบดีสี ที่ต้องการให้รัฐเป็นตัวขับเคลื่อนการบริหารจัดการเศรษฐกิจ 

สำหรับผู้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น บุคคลวงในด้านนโยบายของจีนคนหนึ่ง ซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะเรื่องที่พูดเป็นประเด็นอ่อนไหว ระบุว่า อาจมาจากสายผู้จงรักภักดีต่อประธานาธิบดีสี และอาจมีอำนาจและบทบาทอ่อนแอยิ่งกว่านายหลี่

“ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองที่เป็นอยู่ ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่แตกต่างกันมากนัก” บุคคลวงในผู้นี้กล่าว

นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง วัย 67 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว

รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ นักเศรษฐศาสตร์ผู้ผ่านการฝึกฝนอบรมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รับความไว้วางใจจากประธานาธิบดีสี ให้ทำหน้าที่หัวหน้าการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ และมองกันว่า เขาคือมันสมองเบื้องหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการบริหารประเทศภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี รวมทั้งอยู่เบื้องหลังการดำเนินความพยายาม เพื่อลดกำลังการผลิตที่ล้นเกินของโรงงานในจีน และลดความเสี่ยงในภาคการเงิน ซึ่งถือเป็นการดำเนินความพยายามที่สร้างความเจ็บปวด

ตัวเต็ง 2 คน ที่อาจได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็คือนายหวัง หยาง วัย 67 ปี ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน (CPPCC) และรองนายกรัฐมนตรี หู ชุนหวา วัย 59 ปี แม้บุคคลทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งสนับสนุนการปฏิรูปและเป็นนักปฏิบัติ แต่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มากนัก เนื่องจากรูปแบบการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ซึ่งมีรัฐเป็นผู้สั่งการมากขึ้น

รองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ ของจีน ระหว่างการประชุมร่วมกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตันเมื่อเดือน ต.ค.2562 - ภาพเอพี
ส่วนตัวเต็งที่จะมาทำหน้าที่แทนรองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ คือนายเหอ ลี่เฟิง หัวหน้าคณะกรรมการปฏิรูปและการพัฒนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประธานาธิบดีสี

นายเบิร์ต ฮอฟมัน ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกของโรงเรียนนโยบายสาธารณะลีกวนยู ในสิงคโปร์ ระบุว่า ถ้าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและเน้นเชิงปฏิบัติจริงๆ เราก็จะได้เห็นแผนการปฏิรูป ที่ประธานาธิบสี เคยประกาศไว้เมื่อปี 2556 สมัยขึ้นเป็นผู้นำประเทศหมาดๆ ถูกขับเคลื่อนอีกครั้ง เช่น การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงไป ซึ่งจะจุดประกายความหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตอีกครั้ง แต่ถ้าทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เป็นพวกเน้นแนวทางสถิติมากกว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจะยังถูกฉุดลากยาวต่อไป

นอกจากนั้น ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ยังต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาท้าทายต่อจากทีมชุดก่อน ตั้งแต่ปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งสั่นคลอนเสถียรภาพทางการเงิน และปัญหาความขัดแย้งตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

โอกาสที่จีนจะผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ในเร็ววัน ปรากฏให้เห็นเล็กน้อย ทำให้นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้จะโตเพียงร้อยละ 3 ซึ่งชะลอตัวที่สุดในรอบ 46 ปี

ขณะที่หอการค้าสหภาพยุโรปในจีนเชื่อว่า การกลับไปสู่เส้นทางการปฏิรูปและการเปิดเสรีตลาดคือวิธีดีที่สุด ที่จะทำให้จีนมีศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างเต็มเปี่ยมอีกครั้ง



กำลังโหลดความคิดเห็น