ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จะเดินทางออกนอกประเทศจีนเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 3 ปี โดยจะพบกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน คาดว่าจะหารือกันเรื่องสงครามในยูเครน ที่รัสเซียต้องการการสนับสนุนจากจีน
ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง จะเดินทางไปเยือนคาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน ในวันที่ 14-16 กันยายน เพื่อการประชุมสุดยอดองค์กรความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (SCO) และจะได้พบกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย
นี่เป็นการเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกของผู้นำจีนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เดินทางเยือนพม่า หลังจากนั้นได้เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จีนได้ปิดประเทศ และใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์”
ก่อนหน้าที่ 2 ผู้นำจะพบกัน นายลี่จ้านซู ประธานสภาประชาชนจีน ได้เดินทางเยือนรัสเซียเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพบกันของ 2 ผู้นำ เขาได้ยืนยันกับฝ่ายรัสเซียถึงคำกล่าวของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ที่ว่า “ความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศไม่มีข้อจำกัด”
ปูตินหวัง “สัญญาต้องเป็นสัญญา” จีนกลืนไม่เข้า คายไม่ออก
ถึงแม้สีจิ้นผิงจะแนบแน่นกับปูตินอย่างยิ่ง แต่รัฐบาลจีนไม่เคยสนับสนุนอาวุธหรือความช่วยเหลือโดยตรงในสงครามยูเครน เมื่อศึกยูเครนเริ่มต้นขึ้น ภายในประเทศจีนมีการประเมินว่ารัสเซียจะชนะศึกยูเครนได้อย่างรวดเร็ว แต่จนถึงวันนี้ ศึกยูเครนยืดเยื้อมากกว่า 200 วันแล้ว ซ้ำฝ่ายรัสเซียก็ต้องล่าถอยในหลายพื้นที่ ประธานาธิบดีปูตินจึงคาดหวังอย่างยิ่งกับคำสัญญาของผู้นำจีน
รัสเซียได้เสริมกำลังอาวุธโดยซื้อเครื่องบินไร้คนขับจากอิหร่าน และซื้ออาวุธจากเกาหลีเหนือ ส่วนจีนถึงแม้ว่าจะมีความร่วมมือด้านการพัฒนาอาวุธกับรัสเซีย แต่ยังไม่เคยสนับสนุนยุทโธปกรณ์ให้รัสเซีย
จีนรักษาจุดยืนในศึกรัสเซีย-ยูเครนได้เป็นอย่างดี นายดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ระบุว่า “ไม่พบว่าจีนกำลังช่วยเหลือรัสเซีย” และคาดหวังจะหารืออย่างจริงจังกับจีน
ผู้นำรัสเซียและผู้นำจีนเหมือน “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” ท่ามกลางการรวมกลุ่มของบรรดาชาติตะวันตก พันธมิตรจีน-รัสเซียจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อสีจิ้นผิง กำลังจะต่ออายุเป็นผู้นำประเทศในการประชุมใหญ่ “สมัชชา 20” เดือนตุลาคม ย่อมต้องการการสนับสนุนในเวทีระหว่างประเทศ ขณะที่ฝ่ายประธานาธิบดีปูติน ต้องการการสนับสนุน “ที่เป็นรูปธรรม” จากจีนเช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า หากสถานการณ์ศึกยูเครนย่ำแย่ลง จีนจะอยู่ในสภาพ “ยากจะลงจากหลังเสือ” เพราะหากจีนให้การสนับสนุนรัสเซียก็จะเผชิญการคว่ำบาตรจากบรรดาชาติตะวันตก แต่หากรัสเซียต้องล่าถอยจากยูเครนก็จะไม่เป็นผลดีต่อจีนเช่นกัน เพราะความอ่อนแอของรัสเซียย่อมหมายถึงพันธมิตรสหรัฐ-นาโต้ที่เข้มแข็งขึ้น
นอกจากนี้ หากเกิดความวุ่นวายในรัสเซียจากความไม่พอใจเรื่องสงครามยูเครน ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นพันธมิตรของทั้งสองชาติ
สงครามที่ยืดเยื้อไม่เป็นผลดีกับรัสเซีย และยิ่งไม่เป็นผลดีกับจีน เพราะรัสเซียจะยิ่งเรียกร้องการสนับสนุนจากจีน การพบกันของ 2 ผู้นำครั้งนี้ หากประธานาธิบดีสีจิ้นผิงไม่มี “ของขวัญ” มอบให้ผู้นำรัสเซียเลย ก็อาจกระทบความสัมพันธ์ที่เคยประกาศว่า “ไม่มีข้อจำกัด”