xs
xsm
sm
md
lg

จีนปลุกกองทัพ “ยักษ์เล็ก” สู้ศึกเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มีผู้มาเยี่ยมชมภายในบริเวณจัดแสดงสินค้าของบริษัทในเครือ Kofon Motion Group ซึ่งเป็น “ยักษ์เล็ก” มีสำนักงานใหญ่ในเมืองหวงกัง มณฑลหูเป่ย  ในงานแสดงสินค้าที่นครเซี่ยงไฮ้ - ภาพ : ไชน่าเดลี
เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ - ท่ามกลางสงครามเทคโนโลยีอันร้อนระอุกับสหรัฐฯ จีนงัดกลยุทธ์มาต่อกรด้วยการคัดเลือกบริษัทอนาคตไกล ซึ่งเรียกกันว่า “ยักษ์เล็ก” (little giants) มาช่วยกันขับเคลื่อน เพื่อให้มังกรผงาดเป็นชาติทรงอำนาจด้านเทคโนโลยี

รัฐบาลปักกิ่งประกาศรายชื่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำนวน 8,997 ราย ซึ่งได้รับเลือกให้เป็น “ยักษ์เล็ก”
มีการเปิดเผยเรื่องนี้ระหว่างการประชุมสุดยอดบริษัทยักษ์เล็กแห่งชาติในเมืองหนันจิง มณฑลเจียงซู เมื่อวันพฤหัสฯ (8 ก.ย.2565) โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ฝากความหวังไว้ในสารซึ่งส่งตรงถึงที่ประชุมว่า บริษัทเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสร้างเสถียรภาพให้ห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของจีน


บริษัทที่ได้รับเลือกให้เป็นยักษ์เล็กเหล่านี้ มีผลกำไรเฉลี่ย 40 ล้านหยวนในปี 2564 สูงกว่า 3 เท่า ของผลกำไรของบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีรายได้ต่อปีอย่างน้อย 20 ล้านหยวน

เมื่อดูจากแบบฟอร์มใบสมัครของกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIIT) บริษัทยักษ์เล็กต้องมีคุณสมบัติได้แก่ มีการประกอบอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ เช่น ชอฟต์แวร์ และปัญญาประดิษฐ์ รวมทั้งมีความสามารถในการ “แก้ไขจุดอ่อน” ของห่วงโซ่อุปทานในประเทศได้


อีโคโนมิกเดลี่ สื่อของทางการจีน ระบุว่า ยักษ์เล็กเป็นบริษัทขนาดย่อมมีความเชี่ยวชาญในภาคธุรกิจ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ของชาติ แต่เป็นที่รู้จักกันน้อย เช่น เซมิคอนดักเตอร์ การผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ,ฝฝ พลังงาน และแร่ที่มีความสำคัญอย่างมาก


 นอกจากนั้น เมื่อดูสัดส่วนลูกจ้างของบริษัทยักษ์เล็ก จะเห็นว่า มีลูกจ้างในสายงานการวิจัยและพัฒนาเฉลี่ยร้อยละ 28.7 ซึ่งสอดคล้องกับเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนในกระดาน STAR ของตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Stock Exchange's Science and Technology Innovation Board) ซึ่งเน้นการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมเทคโนโลยี โดยบริษัทที่เข้าจดทะเบียนต้องมีลูกจ้างในสายงานการวิจัยและพัฒนาในอัตราร้อยละ 30

จีนเริ่มดำเนินโครงการคัดเลือกบริษัทยักษ์เล็กมาตั้งแต่ปี 2562 และตั้งเป้าหมายคัดเลือกให้ได้ 1 หมื่นบริษัทภายในปี 2568  ทว่าภายในเวลาเพียง 3 ปี จีนสามารถค้นหายักษ์เล็ก ซึ่งอาจซุกซ่อนตัวอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งบนแดนมังกรได้แล้วถึงร้อยละ 90 ด้วยตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ หลังจากถูกสหรัฐฯ จำกัดการขายสินค้าเทคโนโลยีบางรายการให้จีน เช่น วงจรรวม (integrated circuits - ICs )

 
บริษัทยักษ์เล็กจะได้รับการปฏิบัติอย่างดีเป็นพิเศษจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น เช่น การลดภาษี การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โดยรัฐบาลกลางเตรียมจัดสรรงบประมาณสนับสนุนยักษ์เล็กกันอย่างเต็มที่


กำลังโหลดความคิดเห็น