xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights&:เจาะลึก “Street Snap Economy” ดักถ่ายรูปสาวยังไงให้รวย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


หญิงสาวกำลังเดินผ่านกลุ่มช่างภาพในย่านการค้าไท่กู๋หลี่
โดย วิธวินห์ โตเกียรติรุ่งเรือง

ตอนมาถึงนครเฉิงตูใหม่ๆ ผมรู้สึกประหลาดใจเมื่อได้เห็นกลุ่มชายฉกรรจ์นับสิบวิ่งไล่ตามถ่ายภาพสาวๆ ในย่านการค้าไท่กู๋หลี่ (แหล่งวัยรุ่นคล้ายกับสยามสแควร์บ้านเรา) อย่างบ้าคลั่ง ราวกับช่างภาพไล่ตามถ่ายภาพพริตตี้ในงานมอเตอร์โชว์ ส่วนสาวเจ้าก็ดูยินดีที่มีคนมาถ่ายภาพ เดินเชิดราวกับกำลังเดินอยู่บนแคตวอล์ก บางคนมากับแฟนหนุ่ม พ่อหนุ่มก็ดูไม่มีท่าทีจะไล่ตากล้องที่มาถ่ายภาพคนรักของตนแต่อย่างใด กลับเดินยืดอกอย่างภาคภูมิใจ

ผมเดาว่าถ้าเป็นที่ไทย ช่างภาพที่ไปตามถ่ายภาพคนแปลกหน้าแบบโต้งๆ คงจะโดนไล่ตะเพิดไปแต่เริ่มยกกล้องแล้ว อันที่จริง ในนครเฉิงตูเองนอกจากย่านไท่กู๋หลี่แล้ว ผมก็ไม่ค่อยเห็นกลุ่มชายฉกรรจ์ไปไล่ถ่ายภาพสาวแบบอุกอาจแบบนี้ ไม่แน่ว่าถ้าไปถ่ายรูปสาวแบบนี้ที่อื่นก็อาจจะโดนไล่เตะเอาก็เป็นได้

การถ่ายภาพแบบนี้ที่จีนเรียกว่า “เจียพาย” (街拍/Jiepai) คือการถ่ายภาพบุคคลตามท้องถนน (Street Snap) ซึ่งมีต้นกำเนิดจากแถวยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในช่วงแรกๆ นิตยสารบางฉบับถ่ายภาพแฟชั่นตามท้องถนนเพื่อถ่ายทอดการเดินชมเมืองอย่างเป็นธรรมชาติ พร้อมไปกับนำเสนอการจับคู่เสื้อผ้าของนายแบบนางแบบ

ต่อมา การถ่ายภาพแบบนี้ก็แพร่หลายเข้ามาในจีน โดยสถานที่ยอดฮิตสำหรับการถ่ายภาพแนวนี้ ได้แก่ “ย่านการค้าซันหลี่ถุน” ในกรุงปักกิ่ง “ถนนอันฝู” ในนครเซี่ยงไฮ้ “ย่านการค้าไท่กู๋หลี่” ในนครเฉิงตู และ “ห้างหูปินอิ่นไท่” ริมทะเลสาบซีหูในนครหังโจว

Street Snap Economy สร้างเงินสร้างอาชีพ

ปัจจุบัน การถ่ายภาพ เจียพาย ได้รับความนิยมอย่างมากในจีน โดยมีภาพและคลิปการถ่ายในลักษณะนี้จำนวนมากใน “โต่วอิน” (TikTok เวอร์ชันจีน) และเวยปั๋ว และแน่นอนว่าความนิยมของประชาชนย่อมนำมาซึ่งเงินและผลตอบแทน จนมีคนเรียกระบบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายภาพแบบนี้ว่าเป็น “Street Snap Economy” หรือ “Jiepai Economy” ซึ่งสร้างผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำให้คนหลายกลุ่ม โดยมีคนที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 4 กลุ่ม

1.นางแบบ/นายแบบ

แม้ภาพหรือคลิป เจียพาย จะมีนายแบบอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการถ่ายนางแบบเสียมากกว่า ซึ่งนางแบบที่เห็นตามคลิปตามต่างๆ สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

(1) นางแบบที่ได้รับค่าจ้าง ส่วนใหญ่เป็นเน็ตไอดอล หรือที่เรียกว่า “หว่างหง (网红/Wanghong)” ซึ่งได้รับค่าจ้างจากช่างภาพที่ต้องการนางแบบสวยๆ มาเพิ่มยอดผู้ติดตาม (Follower) ให้บัญชีของตัวเอง หรือได้รับค่าพรีเซ็นเตอร์จากแบรนด์เสื้อผ้ารองเท้ากระเป๋าสำหรับการโปรโมตแบรนด์ โดยทั่วไปแล้ว นางแบบเหล่านี้มีอัตราค่าจ้างเฉลี่ย 500-1,000 หยวน (ราว 2,500-5,000 บาท) ถ้าเป็นนางแบบที่มีผู้ติดตามในโลกโซเชียลเยอะจะมีราคาสูงขึ้นไปอีก เคยมีข่าวว่านางแบบบางคนมีรายได้สูงถึงเดือนละ 50,000 หยวน (ราว 250,000 บาท)

(2) นางแบบที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หลายคนตั้งใจแต่งตัววับแวมมาให้ช่างภาพถ่าย เพราะอยากให้ภาพตัวเองปรากฏในบัญชีของช่างภาพที่มียอดผู้ติดตามจำนวนมาก ซึ่งนอกจากเป็นการสะท้อนว่าตนเองสวยแล้ว ยังอาจเป็นบันไดต่อยอดไปสู่การเป็นนางแบบอาชีพต่อไป อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จจากเส้นทางสายนี้ ผมเคยเห็นผู้หญิงหลายคนตัดพ้อลงโลกโซเชียลว่า อุตส่าห์แต่งหน้าทำผม แต่งตัวสวยมาเดินแต่ไม่มีใครสนใจถ่ายภาพเธอเลย ช่างภาพไท่กู๋หลี่ช่างใจร้ายเสียนี่กระไร

(3) นางแบบที่จ่ายค่าจ้าง สำหรับคนที่ต้องการมีภาพสวยๆ ของตัวเองไปลงในบัญชีของช่างภาพดังๆ แต่ไม่อยากเสี่ยงผิดหวังจากการรอช่างภาพมาถ่ายแบบฟรี ก็สามารถจ่ายเงินให้ช่างภาพมาถ่ายภาพตนเองได้ โดยอัตราค่าจ้างช่างภาพเฉลี่ย 3,000-5,000 หยวน (ราว 15,000-25,000 บาท)

(4) นางแบบจำเป็น มักเป็นคนที่มาเดินเล่นซื้อของโดยต้องการความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องการให้คนมาถ่ายภาพ เมื่อเห็นช่างภาพยกกล้องขึ้นจะถ่าย หลายคนพยายามหันหน้าหนี บางคนก็หยิบกระเป๋ามาบังหน้า บางคนถึงกับวิ่งหนี แต่ช่างภาพบางคนก็ยังวิ่งตามไปถ่าย

2.ช่างภาพ


ช่างภาพที่ยืนตามมุมต่างๆ ในไท่กู๋หลี่มักเป็นมืออาชีพหน้าเดิมๆ ที่มาดักถ่ายรูปสาวทุกวัน โดยมีเป้าหมายหลักคือสาวๆ ที่มาเดินเล่นซื้อของ

ช่างภาพเหล่านี้มักเป็นเจ้าของบัญชีโซเชียลมีเดียที่ได้ยอดติดตามจากการเอารูปสาวๆ ที่ถ่ายไปแชร์ เมื่อมีผู้ติดตามเยอะประมาณหนึ่งแล้วก็จะเปิดให้ธุรกิจต่างๆ มาฝากโฆษณาร้าน รวมถึงเปิดรับจ้างถ่ายภาพให้นางแบบที่อยากปรากฏตัวในบัญชีของตัวเองอีกด้วย

ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียจีนมีบัญชีลักษณะนี้เป็นจำนวนมาก และแต่ละบัญชีมีผู้ติดตามไม่น้อย บางบัญชีมีผู้ติดตามร่วม 9 ล้านคน

ช่างภาพยังมีรายได้จากการรับจ้างแบรนด์สินค้าแฟชั่น โดยการถ่ายคลิปนางแบบกำลังใช้สินค้าของแบรนด์ บางคนก็เรียกค่าตอบแทนเป็นส่วนแบ่งจากยอดขายที่สั่งซื้อผ่านบัญชีของตนเอง

ภาพคลิปเจียพายที่เผยแพร่บนเวยปั๋ว
3.แพลตฟอร์ม เจียพาย

ภาพถ่ายที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียส่วนมากเป็นภาพขนาดไม่ใหญ่ ดูได้ไม่ชัดและติดลายน้ำ หากผู้ติดตามอยากดูภาพเพิ่มเติมที่มีขนาดใหญ่และไม่ติดลายน้ำจะต้องตามไปสมัครสมาชิกในเว็บไซต์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างโดยกลุ่มช่างภาพ โดยมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือชายวัยกลางคนไปจนถึงสูงอายุ รวมถึงหนุ่มโสดที่พร้อมจ่ายเงินเพื่อชมภาพสาว

เว็บไซต์เหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วจะเรียกเก็บค่าสมาชิกเพื่อเข้าชมภาพ ตัวอย่างเว็บไซต์แห่งหนึ่งเรียกเก็บค่าสมาชิกครึ่งปี 259 หยวน (ราว 1,295 บาท) หรือปีละ 469 หยวน (ราว 2,345 บาท)





4.เจ้าของแบรนด์สินค้า

แบรนด์ธุรกิจจำนวนหนึ่งเลือกใช้รูปแบบการถ่ายภาพดังกล่าวเพิ่มยอดขาย เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูงและมีต้นทุนโฆษณาต่ำกว่าการโฆษณารูปแบบเดิมๆ นอกจากค่าจ้างช่างภาพกับนางแบบแล้วก็แทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นใด

เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้ารายหนึ่งในนครหังโจวเคยกลุ้มใจที่สินค้าในร้านขายไม่ออก เลยจ้างช่างภาพบัญชีเจียพาย 20 รายช่วยโปรโมตสินค้าเสื้อผ้าลายดอกไม้ ผลปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวถูกขายไปราว 10,000 ชิ้นภายใน 1 เดือน และสามารถเพิ่มราคาสินค้าได้อีก 25% ในเวลาต่อมา

ผลกระทบทางสังคมและการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย


แม้กระแสการถ่ายภาพเจียพายจะได้รับความนิยมในโลกโซเชียลมีเดียจีน อย่างไรก็ดี หลายคนรู้สึกว่าการโดนถ่ายภาพขณะกำลังเดินเล่นพักผ่อนเป็นการรบกวนสิทธิส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว และไม่ใช่ทุกคนที่อยากให้ภาพตนเองไปปรากฏบนโลกโซเชียล

ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลายแห่งได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการเผยแพร่ภาพที่ละเมิดความเป็นส่วนตัว บัญชีเจียพายจำนวนหนึ่งเขียนข้อความให้ผู้ถูกถ่ายภาพสามารถติดต่อเจ้าของบัญชีเพื่อลบภาพของตนออกได้


ตั้งแต่ปี 2562 ไท่กู๋หลี่ได้ประกาศห้ามการถ่ายภาพเจียพาย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังมีการถ่ายภาพดังกล่าวในไท่กู๋หลี่เป็นจำนวนมาก พนักงานไท่กู๋หลี่ก็บ่นว่าเป็นเรื่องยากที่จะเข้าห้ามปรามช่างภาพเหล่านี้

ทนายความประจำสำนักงานกฎหมาย Beijing Yinghe ให้ความเห็นว่า กฎหมายแพ่งจีนห้ามไม่ให้ผู้ใดเผยแพร่ภาพบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม ซึ่งหากไม่เข้าข้อยกเว้นในการใช้งานอย่างสมเหตุผล เช่น การรายงานข่าวแล้ว ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ทั้งนี้ กฎหมายจีนคุ้มครองทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ผู้สูงอายุหรือคนหนุ่มสาว ตราบใดที่พวกเขาไม่ได้ให้ความยินยอมแล้วย่อมเป็นการละเมิด

ด้านรองศาสตราจารย์เซี่ย ชู่ แห่งมหาวิทยาลัย China University of Political Science and Law ระบุว่า การถ่ายภาพผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม โดยทั่วไปแล้วย่อมผิดกฎหมายแพ่ง อย่างไรก็ดี หากเป็นการถ่ายภาพโดยเน้นสัดส่วนทางเพศ ก็อาจผิดกฎหมายว่าด้วยการบริหารความมั่นคงสาธารณะหรือกลายเป็นอาชญากรรมในการเผยแพร่วัตถุลามกอนาจาร

โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมและวิถีทางแห่งสังคมก็เปลี่ยนผันไปตามโลก ปัจจุบันเราอาศัยอยู่ในโลกแห่งยุคข้อมูลข่าวสาร ภาพถ่ายภาพเดียวสามารถกระจายไปทั่วโลกได้ในชั่วเวลาเพียงนิ้วคลิก แม้ว่าการถ่ายภาพเจียพายจะเป็นปรากฏการณ์ของโลกสมัยใหม่ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้คนหลายกลุ่ม และในมุมมองทางศิลปะก็อาจคิดได้ว่าเป็นการเปลี่ยนท้องถนนให้กลายเป็นแคตวอล์กประชันแฟชั่น ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้สถานที่ท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี กระแสดังกล่าวได้สร้างคำถามต่อความชอบด้วยกฎหมายของการละเมิด “สิทธิส่วนบุคคล” และ “ความเป็นส่วนตัว” ในบางกรณี รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในเชิงปฏิบัติ คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ในอนาคต จีนซึ่งเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งในการควบคุมความสงบเรียบร้อยในสังคมและโลกออนไลน์จะมีแนวทางบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการถ่ายภาพในลักษณะดังกล่าวหรือไม่อย่างไร




กำลังโหลดความคิดเห็น