จีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนโรงงานเหล็กเป็นสนามกีฬาโอลิมปิก เปลี่ยนคลองโบราณเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทันสมัย
กรุงปักกิ่งเมื่อหลายปีก่อนเผชิญกับปัญหามลพิษอย่างหนัก อากาศเต็มไปด้วยฝุ่นละออง ท้องฟ้าสีหม่นเกือบทั้งปี ในบางวันประชาชนต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านเพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษ แต่หลังจากจีนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก รัฐบาลได้ใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อแก้ปัญหามลพิษ ขณะนี้ท้องฟ้าในเมืองหลวงของจีนเป็นสีฟ้าสดใส คุณภาพอากาศดีเยี่ยม คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างมาก นี่คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่กว่าการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก
ในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง เมื่อต้นปีนี้ สนามแข่งขันสโนว์บอร์ดที่มีเอกลักษณ์เป็นหอขนาดใหญ่อยู่เบื้องหลัง คือ อดีตโรงงานเหล็กของกลุ่มบริษัท “โส่วกัง” (首钢)
กลุ่มบริษัท “โส่วกัง” ก่อตั้งขึ้นในปี 1919 เป็นฐานการผลิตเหล็กและโลหะในเมืองหลวงของจีน มีส่วนสำคัญยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีน แต่เพื่อสนับสนุนหลังจากการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2008 กลุ่มบริษัท “โส่วกัง” ได้เริ่มย้ายการผลิตทั้งหมดตั้งแต่ 2003 ไปยังมณฑลเหอเป่ย พื้นที่โรงงานถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ และสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ ที่มีเอกลักษณ์ทางภูมิทัศน์
เมื่อกรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 พื้นที่อดีตโรงงานเหล็กของ “โส่วกัง” ถูกใช้เป็นสำนักงานของคณะกรรมการโอลิมปิก และยังได้รับการรับรองให้เป็นสนามแข่งขันสโนว์บอร์ด
ลานสกี และแท่นกระโดดขนาดใหญ่ถูกสร้างขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากภาพนางอัปสรา ในถ้ำตุนหวง แหล่งมรดกโลกที่มณฑลกันซู่ โดยมีฉากหลังคือ หอหล่อเย็นของโรงงานเหล็กในอดีต เป็นภาพสนามกีฬาที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก ปัจจุบัน หอหล่อเย็นนี้ได้ถูกปรับปรุงเป็นสถานที่จัดกิจกรรมที่มีเอกลักษณ์
นอกจากนี้ เตาหลอมหมายเลข 3 ของ “โส่วกัง” ที่สร้างขึ้นกว่า 60 ปีก่อน และเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น จะถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์และสถานที่จัดนิทรรศการ ภายในเตาหลอมเป็นภาพที่คนทั่วไปไม่เคยได้พบเห็นมาก่อน แปลกตาและน่าตื่นตะลึง
เส้นทางที่ใช้เคยลำเลียงเหล็กภายในโรงงานได้ถูกเปลี่ยนเป็นทางเดินลอยฟ้า ระยะทาง 3.2 กิโลเมตรสำหรับออกกำลังกาย บ่อน้ำที่เคยใช้หล่อเย็นในโรงงานถูกเปลี่ยนเป็นทะเลสาบกลางสวนสาธารณะ ภายในโรงงานที่เคยร้อนอบอ้าวด้วยเปลวไฟ วันนี้เย็นสบายด้วยแมกไม้เขียวชอุ่ม
ประชาชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง บอกว่า บริเวณโรงงานที่กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ทำให้มีพื้นที่เดินเล่นและออกกำลังกาย และช่วยให้สิ่งแวดล้อมในพื้นที่สดชื่นขึ้นอย่างมาก ในอนาคต “โส่วกัง” จะพัฒนาพื้นที่ให้มีศูนย์การค้า สำนักงาน ร้านอาหาร และพื้นที่จัดนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ
การปรับปรุงสถานที่ทางอุตสาหกรรมให้เป็นพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่เช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ โครงการแปลงโฉมโรงงานของ “โส่วกัง” จะเป็นหมุดหมายที่สะท้อนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมของจีน และการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมหนัก ไปสู่การสร้างพื้นที่เพื่อเศรษฐกิจใหม่
“เลี่ยงหม่าเหอ” ที่อาบน้ำม้า กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม
ณ เขตเฉาหยาง กลางกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของสถานทูตนานาชาติ และศูนย์กลางธุรกิจ มีคลองแห่งหนึ่งชื่อว่า “เลี่ยงหม่าเหอ” ในสมัยของฮ่องเต้หย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง คลองแห่งนี้ถูกใช้เป็นสถานที่อาบน้ำม้าของราชสำนัก จึงได้ชื่อว่า “เลี่ยงหม่า” (亮马) ที่แปลว่า อาบน้ำม้า
เมื่อการคมนาคมพัฒนาขึ้นตามยุคสมัย เส้นทางน้ำจึงถูกทอดทิ้ง ทั้งๆ ที่พื้นที่นี้คือความชุ่มชื้นใจกลางเมืองหลวง จนกระทั่งปี 2019 เขตเฉาหยางจึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งน้ำเลี่ยงหม่าเหอ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจที่ผสมผสานวัฒนธรรม ธุรกิจ การท่องเที่ยว และเทคโนโลยี
โครงการนี้เริ่มต้นจากถนนเซียงเหอหยวน ผ่านย่านการค้าอย่าง ซันหลี่ถุน จั่วเจียจวง ม่ายจึเตี้ยน สวนเฉาหยาง สิ้นสุดที่วงแหวนที่ 4 ระยะทางรวม 5.58 กิโลเมตร มีทั้งพื้นที่น้ำและพื้นที่สีเขียวริมฝั่งน้ำ 807,600 ตารางเมตร เปิดพื้นที่เมื่อเดือนสิงหาคม 2020
ชาวปักกิ่ง และนักท่องเที่ยวหลายคนบอกว่า ที่นี่คือสถานที่ที่เหมาะที่สุดในการเดินเล่นยามเย็น มีโรงแรม ศูนย์การค้า ร้านอาหารเรียงรายริมน้ำ ในยามราตรียังการประดับไฟสีสัน และยังสามารถล่องเรือท่องลำน้ำด้วย
เส้นทางท่องเที่ยวทางเรือระยะทาง 1.8 กิโลเมตร ใช้เวลาราว 45 นาที ผ่านจุดท่องเที่ยวที่สวยงามกว่า 10 แห่ง สะพานและริมฝั่งน้ำแต่ละจุดถูกประดับประดาให้แตกต่างกันตามประวัติศาสตร์ ระหว่างเส้นทางยังมีการแสดงแสง สี เสียงกลางลำน้ำ บอกเล่าเรื่องราวของเส้นทางน้ำแห่งประเทศจีน
ในปีนี้ เขตเฉาหยางจะขยายเส้นทางโครงการพัฒนาเลี่ยงหม่าเหอ ออกไปรวม 6 กิโลเมตร ครอบคลุม “ 1 ลำน้ำ 2 ทะเลสาบ 24 สะพาน 18 ทัศนียภาพ”
เลี่ยงหม่าเหอ เส้นทางน้ำที่เคยรุ่งโรจน์ในอดีต ได้ถูกฟื้นคืนให้เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน และสร้างโอกาสทางธุรกิจอีกครั้ง สิ่งแวดล้อม ชุมชน และเศรษฐกิจเคลื่อนไหวไปพร้อมกันดุจสายน้ำที่ไหลเนื่อง
โรงงานเหล็กของกลุ่ม “โส่วกัง” และคลอง “เลี่ยงหม่าเหอ” เป็นตัวอย่างของการพัฒนาเมืองของกรุงปักกิ่ง จีนเคยต้องละทิ้งสิ่งแวดล้อมเพื่ออุตสาหกรรม แต่วันนี้ จีนได้ก้าวสู่เศรษฐกิจสีเขียว ที่ไม่เพียงสีของท้องฟ้าและสายน้ำเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน แต่วิถีชีวิตของผู้คนก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย