xs
xsm
sm
md
lg

‘สถานีอวกาศจีน’ มีศักยภาพผลิต ‘น้ำดื่ม’ ผ่านรีไซเคิลทะลุ 90% แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพซินหัว : ภาพหน้าจอจากศูนย์ควบคุมการบินและอวกาศปักกิ่ง แสดงภาพทีมนักบินอวกาศจีนประจำภารกิจเสินโจว-14 ได้แก่ เฉินตง (กลาง) หลิวหยาง (ขวา) และไช่ซวี่เจ๋อ ภายในโมดูลห้องปฏิบัติการเวิ่นเทียน วันที่ 25 ก.ค.2022)
องค์การอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมแห่งประเทศจีน เปิดเผยว่าสถานีอวกาศของจีน ซึ่งมีลูกเรือภารกิจเสินโจว-14 ปฏิบัติงานในวงโคจร มีขีดความสามารถผลิตน้ำดื่มผ่านกระบวนการรีไซเคิลมากกว่าร้อยละ 90 แล้ว และพึ่งพาน้ำดื่มที่จัดส่งจากภาคพื้นดินน้อยกว่าร้อยละ 10

การรีไซเคิลเกิดขึ้นจากระบบควบคุมสิ่งแวดล้อมและระบบสนับสนุนการดำรงชีวิตที่ติดตั้งในสถานีอวกาศ ซึ่งประกอบด้วย 6 ระบบย่อย ได้แก่ การผลิตออกซิเจนด้วยการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า หรืออิเล็กโทรไลซิส (water electrolysis) การกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ การกำจัดก๊าซที่เป็นอันตราย การบำบัดปัสสาวะ การบำบัดน้ำ รวมถึงการผลิตน้ำด้วยคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจน

ระบบทั้งสองข้างต้นจะควบคุมความดันอากาศ ปริมาณออกซิเจน ความเร็วลม อุณหภูมิและความชื้น และปัจจัยอื่นๆ ภายในยานอวกาศ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เหมือนโลก ทั้งลดเสียงรบกวนในห้องโดยสารด้วยแผ่นดูดซับเสียง แผงฉนวนกันเสียง อุปกรณ์ลดการสั่นสะเทือน และแผ่นกันกระแทก

ระบบควบคุมสิ่งแวดล้อมและระบบสนับสนุนการดำรงชีวิตยังเก็บเหงื่อและปัสสาวะของทีมนักบินอวกาศเพื่อนำมากรองเป็นน้ำดื่มและผลิตออกซิเจนด้วยการแยกน้ำที่รีไซเคิลแล้วด้วยไฟฟ้า

ส่วนระบบย่อยสำหรับผลิตน้ำด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ขับออกมาผ่านลมหายใจและก๊าซไฮโดรเจนที่ได้จากการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ได้ถูกติดตั้งในสถานีอวกาศและทดสอบโดยลูกเรือภารกิจเสินโจว-14 ด้วยความช่วยเหลือจากภาคพื้นดิน ซึ่งสามารถรีไซเคิลน้ำเพิ่ม 1 กิโลกรัมต่อวัน และเพิ่มสัดส่วนน้ำดื่มจากการรีไซเคิลจากร้อยละ 80 เป็นมากกว่าร้อยละ 90

องค์การฯ เผยว่าระบบทั้งสองข้างต้นเป็นเทคโนโลยีสำคัญอันจำเป็นต่อภารกิจอวกาศที่มีมนุษย์ควบคุมของจีน ซึ่งมีบทบาทรับรองความปลอดภัยของนักบินอวกาศในวงโคจร และช่วยสร้างสถานีอวกาศที่น่าอยู่และสะดวกสบาย

ปัจจุบันเหล่านักวิจัยยังคงเดินหน้าทำงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสร้างใหม่ต่างๆ (regeneration technologies) เช่น การสร้างอาหารใหม่ เพื่อส่งเสริมการนำวัสดุสถานีอวกาศกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ที่มา/ภาพ สำนักข่าวซินหัว




กำลังโหลดความคิดเห็น