ภาพที่นำมาให้ชมนี้มิใช่ภาพศิลปะแต่อย่างใด หากเป็นผลพวงจากภัยแล้งในจีน อากาศร้อนมหากาฬได้เผาผลาญสูบน้ำในทะเลสาบผัวหยาง (Poyang Lake/鄱阳湖) ลดลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จนเผยให้เห็นพื้นที่ราบที่น้ำขึ้นถึง (tidal-flat) ในบริเวณทะเลสาบช่วงเมืองจิ้นเสียน เป็นรูปต้นไม้ดังในภาพ (ถ้าเป็นคนคงผอมจนเห็นซี่โครงโผล่จนน่าตกใจ)
ขณะนี้พื้นที่ราวครึ่งค่อนประเทศจีนกำลังเผชิญสภาพอากาศร้อนสุดๆ โดยอุณหภูมิพุ่งสูงในรอบ 60 ปี และเกิดภัยแล้งครั้งประวัติการณ์ ส่งผลกระทบต่อประชาชนถึง 900 ล้านคน
มาดูกรณีดรามาของภัยแล้งที่ทะเลสาบผัวหยัง ซึ่งจัดเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่สุดของประเทศจีน อยู่ในมณฑลเจียงซีทางภาคตะวันออกจีน ภัยแล้งครั้งมหากาฬนี้ทำให้ผืนน้ำในทะเลสาบลดลงเหลือแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ของขนาดปกติ เจ้าหน้าที่คนงานต้องขุดคลองเพื่อให้น้ำไหลเข้าไปหล่อเลี้ยงเรือกสวนไร่นา โดยภูมิภาครอบทะเลสาบนี้เป็นแหล่งปลูกข้าวหลักแห่งหนึ่งของจีน
คนงานขุดร่อง หรือคลองส่งน้ำโดยใช้รถขุด ยังต้องทำงานเมื่อฟ้ามืดแล้ว เนื่องจากช่วงกลางวันนั้นร้อนสุดทนทาน
ในช่วงน้ำหลาก ทะเลสาบผัวหยัง มีขนาดใหญ่เฉลี่ย 3,500 ตารางกิโลเมตร แต่สภาพอากาศที่แห้งแล้งเมื่อไม่นานมานี้ทำให้ขนาดผืนน้ำหดลงเหลือพื้นที่แค่ 737 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น
นอกจากเป็นแหล่งน้ำหล่อเลี้ยงพืชผลข้าวธัญพืชในอาณาบริเวณแล้ว ทะเสาบผัวหยังยังเป็นแหล่งที่พักพิงของพวกนกอพยพที่หลบหนาวมายังแดนใต้
คลื่นความร้อนยังแผ่ลามไปถึงภาคใต้จีน ถึงขนาดบริเวณภูเขาในเขตตะวันตกเฉียงใต้ เกิดไฟไหม้ป่าจากอุณหภูมิความร้อนที่สูงมาก ต้องอพยพประชาชนราว 1,500 คน ออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ โรงงานต่างๆ ยังถูกสั่งให้หยุดการผลิต เหตุเพราะภัยแล้งทำให้โรงงานผลิตไฟฟ้าพลังน้ำลดผลผลิต
ความร้อนรุนแรงทำลายพืชผลในหลายพื้นที่ การจราจรของเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำสายยาวสุดในเอเชียอย่างแยงซีเกียง มีอันต้องหยุดชะงัก
หลายวันมานี้ภูมิภาคตะวันตก และตอนกลางของจีนมีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส โดยคลื่นความร้อนนี้อุบัติขึ้นเร็วกว่าปกติและนานกว่าปกติ
สำหรับเมืองที่โดนความร้อนเล่นงานอย่างสาหัส ได้แก่ นครฉงชิ่ง ห้างสรรพสินค้าบางแห่งได้รับคำสั่งให้เปิดบริการเฉพาะช่วง 16.00-21.00 น. เพื่อสงวนพลังงาน ผู้อาศัยในเมืองต่างออกไปหาแห่งที่เย็นๆ อย่างเช่นหลุมหลบภัยระเบิดที่สร้างในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าความร้อนมหากาฬนี้น่าจะเชื่อมโยงกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากมนุษย์ทำ
ที่มาข้อมูลและภาพ
Its largest lake is so dry, China digs deep to water crops (AP news agency)
ยลลวดลาย ‘ต้นไม้ยักษ์’ ปรากฏกลางทะเลสาบโผหยาง