คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกจากไต้หวันตกฮวบก่อนหน้าถูกจีนคว่ำบาตร สะท้อนถึงความไม่ไว้วางใจต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน ด้านนักวิเคราะห์แดนมังกรเชื่อ เศรษฐกิจมังกรน้อยต้องพึ่งพาตลาดจีนแผ่นดินใหญ่อยู่วันยังค่ำ การซบอกพี่กันเท่ากับฆ่าตัวตาย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานการแถลงตัวเลขทางเศรษฐกิจของไต้หวันเมื่อวันจันทร์ (22 ส.ค.) ว่า คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกจากไต้หวันประจำเดือน ก.ค.หดตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดือนเดียวกันของปี 2564 ตกต่ำอย่างมากจากที่บลูมเบิร์กสำรวจการประเมินของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งคาดกันว่า น่าจะเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 6.2 ด้วยซ้ำ
บลูมเบิร์กรายงานว่า คำสั่งซื้อที่ลดลงเหนือคาดนี้ เนื่องจาก “ความต้องการจากลูกค้าจีน (แผ่นดินใหญ่) ดิ่งลง” แม้คำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถชดเชยกันได้ โดยคำสั่งซื้อลดลงในสินค้าทุกหมวด ยกเว้นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมทั้งชิปเซมิคอนดักเตอร์ คำสั่งซื้อที่ลดลงส่งสัญญาณถึงแนวโน้มการสิ้นสุดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่โตแข็งแกร่งมานาน 2 ปีของไต้หวัน โดยทางการไต้หวันยังคาดการณ์ด้วยว่า คำสั่งซื้อในเดือน ส.ค.จะลดลงอีกราวร้อยละ 0.9 ถึงร้อยละ 3.7
บรรดานักวิเคราะห์จีนชี้ว่า แม้ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่เกิดความเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งเป็นการยั่วยุโดยตรงให้เกิดบรรยากาศความเป็นปรปักษ์กันในช่องแคบไต้หวัน ดังเช่นกรณีการเยือนกรุงไทเปของนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือน ส.ค. และจีนยังไม่คว่ำบาตรการนำเข้าสินค้านับพันรายการจากไต้หวัน แต่คำสั่งซื้อที่ลดลงนี้สะท้อนว่า นักธุรกิจต่างพยากรณ์เหตุการณ์กันไปในแง่ลบ
นายฉาง ย่า-ชุง ประธานของซุนยัตเซ็นสกูล และสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในไต้หวันระบุว่า ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในช่องแคบไต้หวันทำให้ผู้คนในแวดวงธุรกิจบนเกาะมังกรน้อยหลายคนวิตกกังวลจริงๆ ว่า “อาจมีบางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้น” ในอนาคต
ด้านนายหลี่ เฟย อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยด้านไต้หวันของมหาวิทยาลัยเซี่ยเหมินระบุว่า เศรษฐกิจไต้หวันไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากการพึ่งพาตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ได้ เพราะมีการพึ่งพากันอย่างหยั่งรากลึก ทั้งด้านการนำเข้าและส่งออก ตั้งแต่สินค้าเกษตรไปจนถึงอุตสาหกรรมไฮเทค แต่โชคร้ายที่รัฐบาลไต้หวันจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) เชิดชูนโยบายประกาศเอกราชจากจีน และต้องการให้สหรัฐฯ สนับสนุนปณิธานนี้ จึงพยายามตัดขาดไต้หวันจากตลาดจีน และหันมาเข้าร่วมในกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ด้วยสถานภาพ “กึ่งสมาชิก” เพื่อหวังเอาใจฝ่ายนั้น การแยกตัวจากตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่สุดของไต้หวัน จึงเท่ากับเป็นการฆ่าตัวตายอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจไต้หวันเอง
นักวิเคราะห์ของจีนกล่าวว่า การส่งออกชิปไปยังจีนแผ่นดินใหญ่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไต้หวันสามารถรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 แพร่ระบาดได้
นอกจากนั้น ยังอาจมองได้เช่นกันว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของไต้หวันตกลง เป็นเพราะสินค้าของไต้หวันไม่สามารถแข่งขันในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ได้เหมือนแต่ก่อน ซึ่งจีนอาจหาซื้อสินค้าจากที่อื่นมาทดแทนได้
ทั้งนี้ การที่ไต้หวันเข้าร่วมในกลุ่มพันธมิตรชิป 4 (Chip 4 alliance) กับสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เพื่อร่วมมือกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทานชิปเซมิคอนดักเตอร์ โดยที่ไม่มีจีนมาเกี่ยวข้องอีกต่อไปนั้น นักวิเคราะห์จีนมองว่า เป็นการคบคิดระหว่างสหรัฐฯ กับไต้หวัน เพื่อสกัดกั้นการพัฒนาชิปเซมิคอนดักเตอร์ของจีน แต่นักวิเคราะห์ก็เตือนว่า ไต้หวันกำลังทำให้ชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นเสาหลักอุตสาหกรรมของมังกรน้อยตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะสหรัฐฯ ย่อมจะหาทางทำให้บริษัทของไต้หวันยินยอมเปิดเผยหัวใจเทคโนโลยีล้ำหน้า ที่พยายามเก็บงำเป็นความลับมานาน ให้ฝ่ายสหรัฐฯ ล่วงรู้อย่างแน่นอน
ในทางตรงกันข้าม นโยบายปรปักษ์ของไต้หวัน ตลอดจนความไม่แน่นอน ซึ่งเกิดจากสหรัฐฯ เข้ามาแทรกแซงนโยบายจีนเดียวนั้น มีแต่จะทำให้จีนเร่งการพัฒนา เพื่อลดการพึ่งพาสินค้าที่ไต้หวันได้เปรียบจีน เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจีนแผ่นดินใหญ่จะสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
จากโกลบอลไทมส์