xs
xsm
sm
md
lg

‘ภารกิจขนย้ายสมบัติพระราชวังกู้กงลงใต้’ สู่สมบัติชาติจีนแห่งสองนคร : ปักกิ่ง-ไทเป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กล่องบรรจุสมบัติโบราณวัตถุจากวังกู้กง นครปักกิ่ง ที่จัดเตรียมเพื่อขนย้ายไปไว้ในที่ปลอดภัยในเมืองทางใต้ของจีนในเดือน ก.พ. ปี 1933 (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)
ช่วงราว 20 ปีก่อนที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะสงครามกลางเมือง ในช่วงนั้นเป็นยุคสาธารณรัฐจีน (1912-1949) ภายใต้การปกครองของ พรรคจีนคณะชาติ หรือก๊กมินตั๋ง (国民党 ) แผ่นดินจีนตกอยู่ในสภาพวุ่นวายจากสงครามสู้รบไม่หยุดหย่อน ทั้งสงครามกลางเมืองระหว่างกองทัพของก๊กมินตั๋ง และกองทัพแดงของ พรรคคอมมิวนิสต์ อีกทั้งศึกรุกรานจากกองทัพญี่ปุ่นที่ทำให้คู่ปฏิปักษ์การเมืองที่กำลังรบรากันอยู่นั้นหันมาจับมือกันชั่วคราวเพื่อสู้ศึกขับไล่กองทัพแดนอาทิตย์อุทัย...ปกป้องมาตุภูมิจีน

ในยุคสงครามลุกโหมบนแผ่นดินจีนช่วงนี้ นอกจากภารกิจการสู้รบเพื่อปกป้องอธิปไตยประเทศชาติแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญในการรักษาสมบัติชาติคือ “ภารกิจขนย้ายสมบัติพระราชวังกู้กงลงใต้” ที่ในภาษาจีนเรียกว่า 故宫文物南迁  คือการขนย้ายสมบัติล้ำค่าของชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นโบราณวัตถุในพระราชวังกู้กง แห่งนครปักกิ่ง ไปยังเมืองทางใต้ของประเทศ

สำหรับ พระราชวังกู้กง (故宫) ก็คือพระราชวังต้องห้ามในกรุงปักกิ่ง เป็นที่ประทับของพระจักรพรรดิจีนสมัยราชวงศ์หมิง (จากรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ) และราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้าย ปัจจุบันเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า ‘กู้กง’ และเป็นพิพิธภัณฑ์พระราชวัง (จากปี 1925)  ต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้านวัฒนธรรมของโดยยูเนสโกเมื่อปี ค.ศ.1987

ลังบรรจุโบราณวัตถุจากวังกู้กงนครปักกิ่งที่จัดเตรียมเพื่อขนย้ายไปไว้ในที่ปลอดภัยในเมืองทางใต้ของจีนในเดือน ก.พ. ปี 1933  (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)
'คนไปถึงที่ไหน สมบัติชาติอยู่ที่นั่น'

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดครองดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนในปี ค.ศ.1931 ที่เรียกว่า ‘เหตุการณ์วันที่ 18 กันยายน’ (九一八事变)หรือ อุบัติการณ์มุกเดน (Mukden Incident) แผ่นดินจีนตกอยู่ในความวุ่นวายระส่ำระสายอย่างหนัก บรรดาผู้ทรงความคิดมองการณ์ไกลต่างวิตกกังวลกันว่าสมบัติล้ำค่าของชาติในปักกิ่งซึ่งอยู่ทางภาคเหนือจะถูกศัตรูต่างชาติที่เข้ามารุกรานแผ่นดินปล้นสะดมเอาไป หรือไม่ก็มอดไหม้สูญไปในไฟสงคราม จึงวางแผนขนย้ายสมบัติชาติออกจากปักกิ่งไปไว้ยังที่ปลอดภัยในเมืองทางใต้

ด้วยจีนมีประวัติศาสตร์อารยธรรมยิ่งใหญ่ยาวนานถึงราว 3 พันปี (ประมาณจากโบราณวัตถุที่ขุดค้นพบ) สมบัติโบราณวัตถุย่อมมหาศาลน่าตื่นตะลึง... จีนใช้เวลานานราว 1 ปีจากปี 1932 คัดเลือกและจัดสมบัติชาติบรรจุในลังไม้ โบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์ในปักกิ่งที่ถูกจัดเก็บลงลังไม้มีจำนวนถึง 19,557 ลัง ในจำนวนนี้เป็นโบราณวัตถุจาก พระราชวังกู้กง มากกว่า 13,000 ลัง นอกนั้นเป็นโบราณวัตถุจากพระราชวังฤดูร้อน (อี๋เหอหยวน/颐和园) และ พิพิธภัณฑ์กั๋วจื่อเจียน (国子监) จนกระทั่งในปี 1933 ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมก็ทยอยขนย้ายสมบัติชาติลงใต้ไปเก็บรักษาไว้ที่นครเซี่ยงไฮ้ หลังจากที่ห้องเก็บสมบัติใน วังเฉาเทียนที่หนันจิง (南京朝天宫)สร้างเสร็จในปลายปี 1936 โบราณวัตถุเหล่านี้ถูกขนย้ายไปไว้ที่นครหนันจิง ซึ่งเป็นนครหลวงของสาธารณรัฐจีนในช่วงนั้น

โบราณวัตถุจากวังกู้กงนครปักกิ่งที่จัดเตรียมเพื่อขนย้ายไปไว้ในที่ปลอดภัยในเมืองทางใต้ของจีนในเดือน ก.พ. ปี 1933  (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)
เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกลงใต้มาถึงนครเซี่ยงไฮ้ในปี 1937 ผู้นำสาธารณรัฐจีน เจียงไคเช็ก (蒋介石) ก็สั่งการขนย้ายสมบัติชาติออกจากหนันจิงโดยด่วนขณะที่ไฟสงครามกำลังลุกลามเข้ามายังหนันจิง การขนย้ายสมบัติครั้งนี้ได้จัดแบ่งลังสมบัติแยกกันเดินทางไปใน 3 เส้นทาง ไปยังมณฑลเสฉวนซึ่งอยู่ในภาคตะวันตก เมื่อถึงเสฉวนก็นำสมบัติเหล่านี้ไปเก็บไว้ตามเมืองต่างๆ เช่น ปาเสี้ยน 80 ลัง เอ่อเหม่ยเสี้ยน 7,287 ลัง เล่อซันเสี้ยน 9,331 ลัง และบางส่วนถูกนำไปไว้ที่นครฉงชิ่ง ซึ่งเป็นเมืองหลวงอีกแห่งของสาธารณรัฐจีนในช่วงสงครามญี่ปุ่น (ปี 1937-1945)

หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 1945 ต่อมาในปี 1947 สมบัติชาติจีนก็ถูกขนกลับมาเก็บไว้ที่นครหนันจิง ถือเป็นการสิ้นสุดของ “การเดินทางไกลลงใต้นับหมื่นลี้ของสมบัติชาติจีน”

โบราณวัตถุกลุ่มแรกที่ถูกขนย้ายไปภาคตะวันตกของจีน ออกจากท่าเรือนครหนันจิงปี 1937 (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)
‘ภารกิจขนย้ายสมบัติพระราชวังกู้กงลงใต้’ ครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการปกป้องมรดกวัฒนธรรมแห่งมนุษยชาติ กลุ่มบุคคลที่ควรคารวะอย่างสูงส่งในความเสียสละปฏิบัติภารกิจนี้คือ กลุ่มผู้รับผิดชอบดูแลและคนงานของพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง พวกเขาทนความลำบากแสนเข็ญ แบกรับงานหนักสาหัสในการขนย้ายสมบัติชาติกว่าล้านชิ้น ฝ่าฟันไฟสงครามห่ากระสุนปืนที่บางครั้งซัดสาดราวสายฝน เดินทางไกลไปตามพื้นที่ต่างๆ ถึงครึ่งแผ่นดินใหญ่อันกว้างขวางเป็นเวลานานถึง 15 ปี เพื่อนำสมบัติชาติไปยังที่ปลอดภัย ที่น่าทึ่งก็คือ โบราณวัตถุจำนวนมหาศาลนั้นไม่ตกหล่นหายไปสักชิ้นเดียว อีกทั้งแทบไม่เกิดความเสียหายใด

“ภารกิจขนย้ายสมบัติพระราชวังกู้กงลงใต้” แสดงถึงยอดนักฝ่าฟันอุปสรรคของชาวจีนในยุคสมัยนั้น และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งบนโลก จนได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นเรื่องน่ามหัศจรรย์ในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมโลกเลยทีเดียว


‘สมบัติพระราชวังกู้กงบางส่วน’ ถูกขนย้ายอีกครั้งไปยังไต้หวัน

ในเดือนธันวาคม ปี 1948 ถึงเดือนธันวาคมปี 1949 ช่วงที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังพิชิตชัยชนะในสงครามกลางเมืองอย่างแน่นอนแล้ว ผู้นำก๊กมินตั๋งได้ขนย้ายสมบัติล้ำค่าของชาติจากเมืองต่างๆ ในจีนไปยังนครไทเป บนเกาะไต้หวัน 5 ครั้งด้วยกัน โบราณวัตถุที่ถูกขนส่งไปไทเปรวมทั้งสิ้น 5,606 ลัง ในจำนวนนี้ 3,879 ลัง ซึ่งบรรจุโบราณวัตถุรวมกันมากกว่า 250,000 ชิ้น ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง นครไทเป

สำหรับโบราณวัตถุของพระราชวังกู้กงที่ขนไปจากหนันจิง ไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กงนครไทเป มีจำนวน 2,972 ลัง ประกอบด้วยโบราณวัตถุกว่า 68,000 ชิ้น

แม้ว่าโบราณวัตถุที่ถูกขนส่งไปไต้หวัน มีไม่ถึง 1 ใน 4 ของสมบัติพระราชวังต้องห้ามที่ถูกขนย้ายลงใต้ ทว่า จำนวนไม่น้อยเป็นของหนักของล้ำค่าที่สุด มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอย่างเอกอุ

ปี 1951 โบราณวัตถุที่เหลืออยู่ในหนันจิง รวมกว่า 10,000 ลัง ก็ถูกทยอยขน ‘กลับบ้าน’ คือพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงปักกิ่ง ส่วนที่เหลืออีก 2,221 ลัง ยังเก็บไว้ที่นครหนันจิง

แผนที่แสดงเส้นทางสมบัติพระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง ถูกขนย้ายลงใต้ช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น ระหว่างปี 1933-1947 และราวปี 1949 (ปีที่ก๊กมินตั๋งแพ้สงครามกลางเมือง) สมบัติจีนส่วนหนึ่งถูกขนส่งไปไต้หวัน
'เที่ยวบินอำลาจากมาตุภูมิแผ่นดินใหญ่'

สุดท้าย ขอแถมเรื่องราว 2 เที่ยวบินสุดท้ายที่นำกลุ่มผู้นำสาธารณรัฐจีน (ก๊กมินตั๋ง) เดินทางออกจากมาตุภูมิแผ่นดินใหญ่

จากข้อมูลสารคดีประวัติศาสตร์ ‘สมบัติล้ำค่าของชาติถูกขนย้ายไปไทเป’ (台北故宫01.国宝迁台_4) จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์แห่งชาติจีน ระบุว่า ในวันที่ 9 ธันวาคม ปี ค.ศ.1949 ที่สนามบินในซินจิน (新津机场)ในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน เครื่องบินลำหนึ่งกำลังสตาร์ทเครื่องเตรียมขึ้นบินเพื่อพาผู้นำรัฐบาลสาธารณรัฐจีน 5 คนไปยังนครไทเป โดยผู้นำทั้ง 5 คนนี้คือ เหยียนซีซัน (闫锡山) นายกรัฐมตรี จูจยาฮว่า(朱家骅)รองนายกรัฐมนตรี เฉินลี่ฟู (陈立夫)สมาชิกสภานิติบัญญัติ จย่าจิ่งเต๋อ (贾景德)เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหังลี่อู่ ( 杭立武)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา (*หมายเหตุ ตำแหน่งในขณะนั้น)

ทุกคนถือกระเป๋าหรือหีบที่บรรจุสมบัติทุกชิ้นของครอบครัว เช่น เหยียนซีซัน มาพร้อมกับทองคำ 2 ลัง

ขณะที่เครื่องบินจวนขึ้นบิน รถยนต์เล็กคันหนึ่งก็แล่นพุ่งตัวเข้ามาจอด ผู้ก้าวลงจากรถคือ จางต้าเชียน (张大千) ผู้มาพร้อมกับภาพเลียนแบบภาพเขียนบนผนังถ้ำพุทธศิลป์เมืองตุนหวง (敦煌临摹壁画)จำนวน 78 ภาพ ศิลปินเครายาวจางต้าเชียน ขอร้องโดยสารเครื่องบินไปไทเปด้วย แต่ทว่า เครื่องบินบรรทุกน้ำหนักเกินไปอย่างมากแล้ว ไม่สามารถขนอะไรไปได้อีก ไม่สามารถรับน้ำหนักคนหนึ่งคนกับภาพเขียน 78 ภาพ ขณะที่ทุกคนกำลังสิ้นหวัง หังลี่อู่ก็ขนกระเป๋า 3 ใบของตัวเองออกมาบอกว่าเขาจะโยนสมบัติในกระเป๋า 3 ใบนี้ทิ้ง และเอามาใส่ภาพเขียน

ศิลปินเครายาวชาวจีน จางต้าเชียน ขณะกำลังเขียนภาพเลียนแบบภาพจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำหินแกะสลักภาพพุทธศิลป์ที่เมืองตุนหวง มณฑลกันซู่ (แฟ้มภาพอินเทอร์เน็ตจีน)
“นี่คือสมบัติที่ครอบครัวผมสะสมมาทั้งชีวิต ผมจะโยนมันทิ้ง และจะนำกระเป๋ามาใส่ภาพเขียนขึ้นเครื่องไปด้วย แต่ก่อนอื่น ผมขอสัญญาเงื่อนไขข้อหนึ่ง เมื่อไปถึงไทเป ภาพเขียนเหล่านี้ไม่ใช่สมบัติของคุณเพียงคนเดียว แต่ต้องบริจาคให้พิพิธภัณฑ์กู้กงด้วย”

จางต้าเชียน ไตร่ตรองอยู่พักหนึ่งก็ตอบตกลง พร้อมกับหยิบนามบัตรออกมาเขียนข้อความสัญญาบริจาคภาพให้พิพิธภัณฑ์กู้กงนครไทเป ...ภาพเขียน 78 ภาพที่ประมาณค่ามิได้จึงได้ขึ้นเครื่องไปไทเปด้วย ส่วนสมบัติทั้งหมดของหังลี่อู่ ที่รวมทั้งทองคำจำนวนมากก็ถูกทิ้งไว้ที่สนามบิน ...

ไม่กี่วันต่อมา เที่ยวบินที่พาผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐจีนผู้พ่ายแพ้สงครามคือ เจียงไคเช็ก ก็ทะยานขึ้นจากสนามบินในเฉิงตู เหินฟ้าไปยังไทเป นั่นคือเที่ยวบินสุดท้ายของผู้นำสาธารณรัฐจีนที่อำลามาตุภูมิไปชั่วนิรันดร....

นี่คือเรื่องราวที่น่าสะเทือนใจของคนพลัดพรากมาตุภูมิ สมบัติชาติพลัดพรากมาตุภูมิ..เป็นอนิจจังชีวิต และอนิจจังของยุคสมัย


故宫文物南迁

国宝逃难记:世界文物史上最伟大的一场远行

故宫文物南迁记 :曾有争议 2972箱被运至台湾




พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง (บน) และพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครไทเป (ล่าง)  (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)
สมบัติชาติจีนแห่งสองนคร : ปักกิ่ง-ไทเป

พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง ซึ่งมีชื่อสากล คือ The Palace Museum และ พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครไทเป ซึ่งมีชื่อสากล คือ National Palace Museum  พิพิธภัณฑ์ 2 แห่งนี้เก็บรักษาสมบัติล้ำค่าของชาติจีน โดยต่างมีความโดดเด่นระดับไร้เทียมทานในใต้หล้า แต่ต่างก็ไม่สมบูรณ์ พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงนครปักกิ่ง มีสมบัติล้ำค่ากว่า 1.8 ล้านชิ้น ส่วนพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงนครไทเป มีสมบัติล้ำค่า 700,000 ชิ้น

ไม่ว่าจะเป็นสมบัติล้ำค่าที่เก็บรักษาไว้ในจีนฝั่งไหน ทุกๆ ชิ้นล้วนแฝงจิตวิญญาณบรรพบุรุษจีนเดียวกัน


มาชมตัวอย่างสมบัติชาติจีนชิ้นโดดเด่นในพิพิธภัณฑ์พระราชวังในสองนคร : ปักกิ่ง-ไทเป

เครื่องสำริดสำหรับบรรจุเหล้า ยุคปลายราชวงศ์ซัง (1600-1046 ก่อนคริสต์ศักราช) ชิ้นหนึ่งซึ่งมีสภาพสมบูรณ์ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กงนครปักกิ่ง (อีกชิ้นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กู้กงนครไทเป) (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

เครื่องสำริด : กานกกระเรียน (????) ยุคชุนชิว (770-473 ก่อนคริสต์ศักราช) เป็นอุปกรณ์คู่ ชิ้นหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง (อีกชิ้นอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในเหอหนัน)

‘ภาพวัว 5 ตัว’ (???) ราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618-907) เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

ภาพวาดโบราณชื่อดัง ‘ชิงหมิงซั่งเหอถู’ (ภาพวาดริมฝั่งแม่น้ำในเทศกาลเช็งเม้ง) ราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ.960-1127) เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

ภาพลายสือศิลป์ (?????) ผลงานของศิลปินเขียนลายมือพู่กันจีน หวังเสี้ยนจือ (??? /มีชีวิตช่วงปี ค.ศ.344-386) ยุคราชวงศ์จิ้น เป็นภาพลายสือศิลป์อีกชิ้นที่จักรพรรดิเชียนหลง ราชวงศ์ชิง ทรงโปรดปรานมาก เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

ถ้วยทองประดับมุกและอัญมณีของจักรพรรดิเชียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

‘นาฬิการูปทรงตำหนักทอง’ มีประตูเปิดออกอัตโนมัติพร้อมเซียนออกมาอวยพร สร้างในรัชสมัยเชียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1912) เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

รูปปั้น ‘เขาหยกแกะสลักเรื่องราวกษัตริย์อี่ว์ผันน้ำ’ (??????) ยุคราชวงศ์ชิง เป็นผลงานศิลปะแกะสลักหยกที่ใหญ่สุดในโลก ใช้วัสดุถึง 1 ตันในการแกะสลัก เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

“เหมากงติ่ง” สันนิษฐานว่าเป็นติ่งในยุคโจวเซวียนหวัง แห่งราชวงศ์โจว ภายในติ่งยังมีคำจารึก 500 ตัว นับเป็นเครื่องสำริดในยุคซัง-โจวชิ้นเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการขุดพบ เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครไทเป (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

“ส่านซื่อผาน” ยุคราชวงศ์โจวตะวันตก (ศตวรรษที่ 11 ก่อน ค.ศ.-771 ปี ก่อน ค.ศ.) มีคำจารึก 357 ตัวอักษร เกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงข้อพิพาทดินแดนระหว่างแคว้นหลิน และแคว้นส่าน เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง ไทเป (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

เครื่องสำริด ภาชนะใส่อาหาร ยุคปลายราชวงศ์ซัง และต้นราชวงศ์โจวตะวันตก เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง ไทเป (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

ผักกาดขาวแกะสลักจากหยกเขียว สูง 18.7 ซม. กว้าง 9.1 ซม. สุดยอดงานแกะสลักหยกยุคราชวงศ์ชิง เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง นครไทเป (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

หยกสีแดง แกะสลักเป็นรูปทรงก้อนเนื้อหมูสามชั้น สุดยอดงานแกะสลักหยกยุคราชวงศ์ชิง เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง ไทเป (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

ปิ่นโตจีนสี่ชั้น แกะสลักจากงาช้างเป็นเรื่องราว 8 เซียนข้ามทะเล รูปนกดอกไม้และคน ที่น่าอัศจรรย์ใจคือเป็นปิ่นโตกึ่งโปร่งใส โดยช่างได้ใช้ชิ้นงาช้างบางเฉียบจนมองทะลุได้ปะติดระหว่างลวดลายได้อย่างเนียนมาก และแทบจะไม่อยากเชื่อเลยว่า มาจากงาช้างใหญ่ทั้งชิ้น! เป็นงานแกะสลักในยุคราชวงศ์ชิง เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง ไทเป (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

ภาพขยายส่วนหนึ่งของความวิจิตรของลวดลายแกะสลักหูจับปิ่นโตจีนแกะสลักจากงาช้างไทเป (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

(ภาพซ้าย) เครื่องห้อยงาช้างสลักยุคราชวงศ์ชิง สูง 54.8 ซม. ลูกบอลมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 11.7 ซม. (ภาพขวา) เจดีย์เก้าชั้นยุคราชวงศ์ชิง แกะสลักจากงาช้าง สูง 67 ซม. กว้าง 21.6 ซม. เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง ไทเป (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

ส่วนหนึ่งของสารานุกรมหย่งเล่อ (????) จัดทำในรัชสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (ครองราชย์ ค.ศ.1402-1424) ยุคราชวงศ์หมิง เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง ไทเป (อีกส่วนหนึ่งที่สมบูรณ์ที่สุดเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครปักกิ่ง)

ส่วนหนึ่งของภาพเลียนแบบภาพเขียนบนผนังถ้ำพุทธศิลป์เมืองตุนหวงโดยศิลปินชาวจีน จางต้าเชียน เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์กู้กง ไทเป (แฟ้มภาพจากอินเทอร์เน็ตจีน)

ส่วนหนึ่งของภาพเลียนแบบจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำหินแกะสลักภาพพุทธศิลป์ที่เมืองตุนหวง ของจางต้าเชียน ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครไทเป (แฟ้มภาพ จากอินเทอร์เน็ต)

ส่วนหนึ่งของภาพเลียนแบบจิตรกรรมฝาผนังในถ้ำหินแกะสลักภาพพุทธศิลป์ที่เมืองตุนหวง ของจางต้าเชียน ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์พระราชวังกู้กง นครไทเป (แฟ้มภาพ จากอินเทอร์เน็ต)


กำลังโหลดความคิดเห็น