xs
xsm
sm
md
lg

New China Insights : “มือถือ” กระบี่พิชิตการแพร่โควิดภายใต้นโยบาย “Zero-COVID” ของจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักท่องเที่ยวใช้มือถือสแกน QR Code ก่อนเข้าพระราชวังต้องห้าม (ภาพเอเอฟพี)
โดย วิธวินห์ โตเกียรติรุ่งเรือง


“เมื่อไรจะได้ไปเที่ยวจีนสักที” เป็นคำถามที่มักได้ยินคนไทยและคนจากหลายประเทศถามกันอยู่เป็นประจำ

ตอนปี 2564 นักวิเคราะห์หลายเจ้าคาดว่า จีนจะเริ่มเปิดประเทศหลังจบมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่ง ซึ่งจัดไปเมื่อเดือน ก.พ.2565 อย่างไรก็ดี บัดนี้เวลาล่วงเลยมาร่วมครึ่งปีแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าจีนจะเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง หลายคนคาดว่าอาจต้องรอไปถึงหลังเดือน ต.ค.2565 ซึ่งจีนจะจัดการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 และการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 20 ครั้งที่ 1

อย่างไรก็ดี ถ้าดูจากการเลื่อนการจัดกิจกรรมนานาชาติขนาดใหญ่ในจีน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ณ นครหังโจว (เลื่อนจากเดือน ก.ย.2565 ไปเป็นปี 2566) การแข่งขัน World University Games ครั้งที่ 31 ณ นครเฉิงตู (เลื่อนจากเดือน มิ.ย.2565 ไปเป็นปี 2566) และการยกเลิกการแข่งขัน 3rd Asian Youth Games ณ เมืองซ่านโถว มณฑลกวางตุ้ง (กำหนดจัดเดือน ธ.ค.2565) แล้ว ก็เชื่อได้ว่าจีนน่าจะยังไม่อยากต้อนรับคณะทัวร์ต่างชาติในช่วงนี้

เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ว่า ความจริงจังของรัฐบาลกลางจีนที่มีต่อนโยบายปลอดเชื้อโควิดอย่างมีพลวัต (Dynamic Zero-COVID) ทำให้ผู้บริหารเมืองและมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศต่างหวาดกลัวการระบาดของโควิด-19 เพราะการระบาดของประชาชนแม้จำนวนเพียง “หลักหน่วย” อาจนำมาสู่การปิดหมู่บ้าน ปิดธุรกิจบางประเภท หรือแม้กระทั่งปิดเมือง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายระดับ “หลักหลายพันล้าน” ยังไม่รวมถึงตัวเจ้าเมืองหรือเจ้ามณฑลเองที่อาจต้องถูกฟันไม่เลี้ยง ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการระบาดขึ้นมา

ความกลัวนี้เองทำให้รัฐบาลในแต่ละระดับตั้งแต่ระดับมณฑล เมือง อำเภอ ต่าง “แสดงออก” ว่าตนได้พยายามถึงขั้นสุดแล้วในการป้องกันไวรัสมฤตยู แต่ละที่ต่างก็ขนมาตรการต่างๆ ออกมาใช้อย่างเต็มที่ โดยมีแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่สำคัญ

“QR Health Code” บัตรผ่านประตูทุกหนแห่ง

หากท่านผู้อ่านอยู่ในจีนในตอนนี้ ท่านจะไม่สามารถเดินทางไปทำอะไรที่ไหนได้เลยหากไม่มีโทรศัพท์มือถือ เพราะการจะเดินทางเข้าระบบขนส่งสาธารณะหรือสถานที่ต่างๆ จะต้องผ่านด่านตรวจ “เจี้ยนคังหม่า” (健康吗) หรือ QR Health Code ในแอปพลิเคชันสุขภาพ (ซึ่งแต่ละมณฑลมักมีแอปของตัวเอง) โดยจะต้องแสดง QR Health Code สีเขียว (หมายความว่าเป็นผู้ไม่มีความเสี่ยง) และหลังจากนั้นจะต้องใช้แอปเดียวกันนี้สแกน QR Code ของแต่สถานที่เพื่อเช็กอิน

ถ้าภายหลังระบบพบว่าเราไปอยู่ในสถานที่และเวลาเดียวกันกับผู้ที่ติดเชื้อ ท่านจะได้รับข้อความ SMS แจ้งเตือน และ QR Health Code จะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ซึ่งหมายความว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงและห้ามเข้าสถานที่ต่างๆ จนกว่าจะไปตรวจโควิดจนได้ผลเป็นลบ QR Health Code จึงจะกลับมาเป็นสีเขียวอีกครั้ง

ฟังดูเหมือนจะคล้ายกับแอปไทยชนะหรือหมอชนะของไทยใช่ไหมครับ แต่หลังๆ มานี้ บางพื้นที่ของจีนพัฒนาไปมากกว่านั้น เช่น มณฑลเสฉวน และอีกหลายมณฑลได้เชื่อมโยงฐานข้อมูลผลการตรวจโควิดด้วยกรดนิวคลิอิกของสถานพยาบาลต่างๆ เข้ากับแอป โดยจะแสดงผลเป็นแถบสีอยู่ใต้ QR Health Code ซึ่งแถบจะเป็นสีเขียวหากมีผลตรวจเป็นลบภายใน 24 ชม. (สีน้ำเงินหากมีผลลบภายใน 48 ชม. และสีฟ้าอ่อนหากมีผลลบภายใน 72 ชม.) และยังสามารถกดเข้าไปดูประวัติการตรวจโควิด-19 ย้อนหลังได้ยาวเป็นหางว่าว

ภาพซ้าย QR Health Code/ ภาพกลาง สัญลักษณ์สีเขียวหลังจากสแกน QR Code สถานที่/ ภาพขวา ประวัติการตรวจโควิด
นอกจากนี้ ยังมีแอปตรวจสอบประวัติการเดินทาง หรือที่เรียกว่า “สิงเฉิงหม่า” (行程吗) โดยแอปนี้จะแสดงข้อมูลว่าเคยไปสถานที่เสี่ยงมาหรือไม่

หน้าจอสิงเฉิงหม่าแสดงพื้นที่ที่ได้เคยเดินทางในช่วงที่ผ่านมา
หันซ้ายแลขวามองหาความเสี่ยง

นอกจากแอปข้างต้นแล้ว ยังมีแอปอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดรอบๆ ตัว เช่น “ไป่ตู้” (Baidu)

เมื่อเสิร์ชชื่อเมืองตามด้วยคำว่า “สถานการณ์โควิด” หน้าแสดงผลของไป่ตู้จะเปลี่ยนจากหน้าผลการค้นหาธรรมดาเป็นหน้าข้อมูลเฉพาะของโควิดในเมืองนั้นๆ

ข้อมูลหลักๆ จะประกอบด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อในวันที่ผ่านมา จำนวนผู้อยู่ระหว่างรักษาตัว ยอดผู้ติดเชื้อสะสม ยอดผู้รักษาหายสะสม และยอดผู้เสียชีวิตสะสม โดยสามารถแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อเป็นกราฟรายวันและรายเดือนได้

ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการติดตามสถานการณ์ว่าเมืองที่ตัวเองอยู่มีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน นอกจากนี้ แอปยังมีแผนที่ซึ่งแสดงข้อมูลต่างๆ เช่น จุดฉีดวัคซีน จุดรับตรวจโควิด จุดที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิดและจุดที่ผู้ติดเชื้อโควิดมีประวัติการเดินทาง


การใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ

ในช่วงที่มีโควิดระบาดในพื้นที่ สถานที่ต่างๆ มักกำหนดให้ผู้เดินทางเปิดแอปเพื่อแสดงผลตรวจโควิด ร้านค้าบางแห่งต้องการผลตรวจ 72 ชม. อาคารสำนักงานต่างๆ มักขอผลตรวจ 48 ชม. ถ้าเป็นงานประชุมที่คนเยอะหรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ (ถ้าไม่ถูกปิด) ส่วนใหญ่ขอผลตรวจ 24 ชม. หรือบางทีก็ขอทั้ง 24 ชม. และ 48 ชม.

แม้ฟังดูยุ่งยาก แต่ยังดีที่แต่ละพื้นที่ในเมืองมักมีจุดตรวจโควิดกระจายอยู่ทั่วไปหมด (นอกเหนือจากโรงพยาบาล) ซึ่งการหาจุดตรวจใกล้บ้านดูได้จากแผนที่ในแอปได้เลย ค่าตรวจก็แสนถูกเพียง 3.5 หยวน (ราว 17.5 บาท) รอ 5-6 ชม. ก็รู้ผลได้ผ่านแอป ยิ่งช่วงที่มีโควิดระบาดในเมืองยิ่งมีจุดตรวจเยอะและตรวจให้ฟรี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง

ที่ยุ่งยากคือบางเมืองไม่ยอมรับผลตรวจโควิดที่ตรวจมาจากต่างเมือง โดยจะยอมรับเฉพาะผลตรวจจากในพื้นที่ของตนเท่านั้น

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่เดินทางข้ามเมืองไปเข้าร่วมการประชุมที่ต้องการผลตรวจโควิดทั้ง 24 ชม. และ 48 ชม. จะต้องเดินทางไปล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วันเพื่อตรวจโควิด 2 ครั้ง และบางเมืองห้ามเดินทางออกจากโรงแรมก่อนที่ผลตรวจครั้งที่ 2 จะออก เท่ากับว่าต้องกักตัวในโรงแรม 2 วันเพื่อเข้าร่วมการประชุมเพียง 2 ชั่วโมง!

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2565 รัฐบาลจีนต้องออกมาปรามมาตรการที่เข้มเกินพอดีด้วยการออกประกาศบังคับให้เมืองต่างๆ ยอมรับผลการตรวจโควิดจากสถานพยาบาลทั่วประเทศ (แต่ในทางปฏิบัติ บางพื้นที่ยังคงดื้อกับประกาศของรัฐบาลกลางอยู่ดี)

การเดินทางข้ามเมืองมักจะพบเจ้าหน้าที่หลายสิบคนประจำด่านตรวจผลตรวจโควิดของคนในรถ หรือในบางอำเภอยังมีการตั้งด่านตรวจเมื่อจะมีการเดินทางข้ามอำเภอทำให้รถติดยาวเหยียด

แม้ว่าจีนจะมีมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดและเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการป้องกันการแพร่ระบาด อย่างไรก็ดี จีนยังปรากฏเคสโควิดในพื้นที่ต่างๆ ขึ้นมาเป็นระยะ ซึ่งเทคโนโลยีและมาตรการที่เข้มข้นเหล่านี้มีส่วนช่วยให้ประชาชนรู้ตัวว่าติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว และสามารถป้องกันการแพร่กระจายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายพื้นที่จึงสามารถสยบโควิด-19 ได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่วัน

แต่ไม่ต้องบอกพอจะเดาได้ว่า มาตรการเหล่านี้ทำให้รัฐบาลทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นต้องใช้บุคลากรและแบกรับค่าใช้จ่ายมหาศาล และมาตรการหลายอย่าง เช่น การล็อกดาวน์ การปิดพื้นที่ การปิดกิจการบางประเภทชั่วคราวทำให้กิจการบางส่วนล้มหายตายจากไปแล้วจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่นและจีนในภาพรวม

ความบอบช้ำทางเศรษฐกิจจากมาตรการโควิดมายังถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ ผสมโรงด้วยน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ และภัยแล้งซึ่งส่งผลให้น้ำในเขื่อนต่างๆ ลดลงจนกระทบต่อกำลังการผลิตไฟฟ้า ทำให้มณฑลเสฉวนต้องจำกัดการใช้ไฟฟ้าตามบ้านเรือน อาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้า ท้องถนนยามค่ำคืนที่เคยสว่างไสวไปด้วยไฟโฆษณาต่างๆ กลับกลายเป็นความมืดมิด โรงงานหลายแห่งถูกปิดชั่วคราว ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปสงค์อุปทานทางเศรษฐกิจ

จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองต่อไปว่า จีนจะดำรงนโยบายปลอดเชื้อโควิดได้ต่อไปอีกนานแค่ไหนเมื่อจีนกำลังทำในสิ่งที่เคยเป็น “New Normal” ในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เป็น “Normal” ของโลกในปัจจุบัน จีนจะก้าวผ่านอุปสรรคทางเศรษฐกิจต่างๆ ไปได้หรือไม่ ในขณะที่จีนก็ดูเหมือนจะค่อยๆ ผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการต่างๆ ลง เพื่อให้เศรษฐกิจยังไปต่อได้ ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเพิ่งประกาศรับวีซ่านักเรียนไทยแล้ว ผู้คนจากทุกมุมโลกต่างหวังจะได้กลับไปชื่นชมความสวยงามของประเทศจีนอีกครั้งในเร็ววัน




กำลังโหลดความคิดเห็น