โดย ร่มฉัตร จันทรานุกูล นักวิชาการอิสระ
ในบทความนี้ผู้เขียนอยากบอกเล่าสู่กันฟังถึงคลื่นความเปลี่ยนแปลงใหม่ของคนจีนยุคใหม่ที่เริ่มไม่ได้พิศมัยที่จะทำงานและลงหลักปักฐานอยู่ในเมืองชั้นหนึ่งอย่างปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเซินเจิ้นอีกต่อไป ตรงนี้ผู้เขียนเองมองว่าในช่วง 3 ปีกว่าของการระบาดโควิด-19 แนวคิดต่างๆ ของคนในสังคมจีนเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะในกลุ่มหนุ่มสาวช่วงอายุราว 22 ปีถึง 30 ปีปลายๆ กลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่ และกลุ่มที่กำลังจะเรียนจบ จากที่ผู้เขียนได้สัมผัสและสอบถามคนกลุ่มนี้ ทัศนคติในการหางานและการใช้ชีวิตของคนจีนรุ่นใหม่นี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป หลายคนเริ่มมองหางานในเมืองอื่นที่ความกดดันในการใช้ชีวิตไม่มาก บางคนเริ่มมองหางานในบ้านเกิดตัวเอง ทั้งคนที่กลับไปสมัครงานในหน่วยงานรัฐในท้องถิ่น หรือไม่ก็วางแผนทำธุรกิจเล็กๆ
อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เขียนสังเกตเห็นได้ชัดเจนเลยว่ากลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่เป็นคนต่างถิ่น แต่ยังอยู่ทำงานในปักกิ่งมีปริมาณน้อยลง ยกตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าสายต่างๆ ในปักกิ่งช่วงเวลาเร่งด่วนปกติคนจะเยอะและแน่นสุดๆ โดยเฉพาะสถานีในย่านที่เป็นศูนย์รวมของกลุ่มบริษัทไอทีอย่างสถานีซีเอ้อฉี จนเคยมีการไปทำข่าวและรายงานปริมาณผู้โดยสารในเวลาเร่งด่วนที่ สถานีซีเอ้อฉี ว่าเป็นสถานีปราบเซียนเพราะคนมหาศาลเบียดเสียดแย่งกันจนน่ากลัว มีข่าวหลายครั้งที่การเบียดเสียดแย่งกันขึ้นลงจนรองเท้าหายไปข้างหนึ่งหรือถูกเบียดจนกล่องข้าวที่พกเอาไปกินที่ทำงานเสียหายบิดเบี้ยว เป็นต้น แต่ในช่วงนี้สถานีซีเอ้อฉีไม่เห็นภาพการเบียดเสียดกันที่มีผู้คนมากมายอีกต่อไป เพื่อนคนจีนของผู้เขียนหลายคนก็บอกเหมือนกันว่าช่วงนี้ขึ้นรถไม่ต้องเบียดเสียดแย่งกันขึ้นลงรถเหมือนเมื่อหลายปีก่อน และคนต่างเมืองที่ทำงานในปักกิ่งมีปริมาณน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดจริงๆ
การทำงานของกลุ่มคนที่จบการศึกษาใหม่เป็นเรื่องสำคัญที่สังคมและรัฐบาลจับตาติดตาม จากสถิติของกระทรวงศึกษาจีนรายงานว่า ในปี 2022 นี้จะมีนักศึกษาจบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัยมากกว่า 10 ล้านคน มากกว่าปีที่แล้ว 1.67 ล้านคน ถือเป็นสถิติใหม่ของประเทศจีน และภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจชะลอการเติบโตอยู่นี้ การพยายามผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อให้ระดับการจ้างงานอยู่ในระดับสูงและมีเสถียรภาพ ถือเป็นภารกิจสำคัญและเป็นงานท้าท้ายของทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศ
สำหรับตัวนักศึกษาจบใหม่คือแรงงานรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ต่างก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า“แล้วเราจะไปทำงานที่ไหนดี?” แต่ก่อนแน่นอนว่า 4 นครใหญ่อย่าง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเซินเจิ้น เป็นเมืองที่ใฝ่ฝันของเด็กจบใหม่ทั้งหลาย ที่ซึ่งพวกเขาจะมีโอกาสได้งานดีๆ ได้เงินเดือนเยอะๆ เพื่อซื้อบ้านของตัวเองตั้งหลักปักฐานอยู่ในเมืองใหญ่ แต่แนวโน้มปัจจุบันกำลังจะเปลี่ยนไป ทุกวันนี้เด็กจบใหม่หลายคนคิดที่จะกลับไปหางานทำในบ้านเกิดหรือเมืองอื่นๆ ที่ไม่ไกลบ้านเกิดตัวเองมาก
จากรายงานของเว็บไซต์เฉพาะทางด้านรับสมัครงาน Zhaopin.com ระบุว่า แรงงานยุคใหม่มีทัศนคติการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้ทำการวิจัยในกลุ่มคนที่จบปริญญาตรีในปีนี้ ผลปรากฏว่า 50.4% อยากเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือไม่ก็บริษัทที่มั่นคงซึ่งมีรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ โดยเป้าหมายเงินเดือนของเด็กจบใหม่ในปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว ลดลง 6% ส่วนใหญ่อยากได้งานในหน่วยงานองค์กรที่มั่นคง
ในกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่ที่ตัดสินใจกลับไปหางานในบ้านเกิดตัวเอง 90% มองว่าการกลับไปหางานทำที่บ้านเกิดและตั้งรกรากที่มั่นคงสร้างอนาคตของตัวเอง โดยส่วนใหญ่ตัดสินใจจากสภาพความเป็นจริงในสังคมปัจจุบัน ที่เมืองใหญ่ๆ อย่างเมืองชั้นหนึ่ง “ไม่ใช่เมืองแห่งโอกาสเสมอไป” การดิ้นรนและความกดดันในชีวิตทั้งด้านการทำงาน การใช้ชีวิต และการแต่งงาน รวมไปถึงการซื้อบ้าน ล้วนเป็นเรื่องที่ยากและเกินเอื้อมมากขึ้นทุกวัน อีกทั้งสภาพเงื่อนไขปัจจุบันที่การพัฒนาได้กระจายตัวไปยังกลุ่มเมืองต่างๆ ทั่วประเทศมากขึ้นๆ ทำให้กลุ่มเมืองเล็กหลายเมืองพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งอำนวยความสะดวกและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นความหวังใหม่ของเด็กจบใหม่ที่ตัดสินใจกลับไปทำงานในเมืองบ้านเกิดของตนเอง
ในปีนี้รัฐบาลกลางยังมีแผนขยายตำแหน่งงานในหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ โดยเฉพาะตำแหน่งงานด้านการบริการสังคม เช่น สาธารณสุข การดูแลผู้สูงอายุ การบริการสังคมทั่วไป และงานบริการช่วยเหลือด้านความปลอดภัยของชุมชน โดยแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศพยายามผลักดันตำแหน่งงานเหล่านี้ โดยมีการเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการพื้นฐานให้มากขึ้นเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาสมัครและสนใจงานประเภทบริการสังคมมากขึ้น
โดยคนจีนรุ่นใหม่ที่เลือกจะกลับไปทำงานในบ้านเกิดตนเองให้เหตุผลส่วนใหญ่คือ หนึ่งความสุขที่ได้อยู่ใกล้บ้านและครอบครัวตัวเอง สองคือจังหวะการใช้ชีวิตที่ช้าลงและความกดดันไม่มาก สามคือค่าครองชีพต่ำและราคาบ้านไม่สูง สี่คือโอกาสจากรัฐบาลกลางที่มีนโยบายสนับสนุนการสร้างตำแหน่งงานจำนวนมากในท้องถิ่นต่างๆ
การแข่งขันในตลาดงานของจีนไม่ใช่มีเพียงแค่นักศึกษาจบใหม่ที่ออกจากรั้วมหาวิทยาลัย ยังมีกลุ่มคนทำงานแล้วที่กำลังมองหางานใหม่ อีกทั้งกลุ่มเด็กจบจากต่างประเทศที่กลับมาหางานในจีน โดยตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา การแข่งขันสอบเข้าทำงานในหน่วยงานของรัฐบาลได้กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนไขว่คว้า โดยการสมัครสอบแข่งขันชิงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐวิสหกิจของกลุ่มเด็กที่เรียนจบจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 4% ในปี 2021 ขณะที่ 30% ของเด็กจบใหม่จากต่างประเทศอยากจะได้งานทำในหน่วยงานรัฐ
สาวรายหนึ่งเรียนจบจากต่างประเทศ ไม่เลือกที่จะหางานในเมืองชั้นหนึ่ง แต่เลือกที่จะหางานอยู่ในเมืองเฉิงตู บ้านเกิดของเธอเอง โดยเธอมีเหตุผลว่า “มีคนจำนวนไม่น้อยที่มุ่งมานะทำงานหาเงินในเมืองใหญ่ สุดท้ายกลับมาลงหลักปักฐานที่บ้านเกิด เพราะคุณภาพชีวิตในบ้านเกิดดีกว่า ไม่เหนื่อยและมีเวลาเป็นของตัวเองมากกว่า สามารถใช้ชีวิตในแบบที่ตนอยากเป็นได้ สามารถมีเวลาอยู่กับพ่อแม่ดูแลครอบครัวอีกด้วย” ตรงนี้เองทำให้เราเห็นถึงแนวความคิดและการใช้ชีวิตของคนจีนยุคใหม่ที่เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลง ชีวิตที่เหน็ดเหนื่อยและเบื่อหน่ายกับการแข่งขันในการใช้ชีวิตแทบทุกด้านในเมืองใหญ่ และคนจีนยุคใหม่ต้องการแสวงหาความสมดุลระหว่าง “การทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว” ที่มากขึ้น