นักการเมืองยุโรปไม่สนเสียงเตือนจากพญามังกร เดินหน้าเยือนไต้หวัน เจริญรอยตามประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ
หลังจากการเยือนไต้หวัน เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับรัฐบาลไทเป ของนาง แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งถูกจีนศอกกลับด้วยการจัดซ้อมรบครั้งใหญ่ด้วยกระสุนจริงสุดระทึกรอบเกาะไต้หวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น ล่าสุดสมาชิกหลายคนในรัฐสภายุโรป ซึ่งเป็นสถาบันรัฐสภาของสหภาพยุโรป หรืออียู ประกาศไม่ล้มเลิกแผนการเยือนแดนมังกรน้อย
นาง “มารี-ปิแอร์ เว็ดเรนน์” สมาชิกรัฐสภายุโรปจากฝรั่งเศส ระบุว่า การตอบโต้ของจีนกรณีนางเพโลซี ไม่กระทบต่อแผนการเยือนไต้หวันของคณะกรรมาธิการด้านการค้าของรัฐสภายุโรปในเดือน ธ.ค.2565 แต่อย่างใด
ขณะที่กลุ่มสมาชิกรัฐสภายุโรปจากเยอรมนียืนยันจะไปเยือนในเดือน ต.ค.
ด้านลิทัวเนียในสัปดาห์นี้ได้ส่งคณะตัวแทน นำโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและการสื่อสาร ไปเจรจาสร้างสายสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างเมืองเกาสง กับเมืองไคลเพดา (Klaipeda) ซึ่งครั้งหนึ่งเล็งเข้าร่วมในโครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของปักกิ่ง
นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน ประณามลิทัวเนีย จงใจละเมิดอธิปไตยและเข้ามายุ่มย่ามกิจการภายในของจีนเห็นอยู่โต้งๆ พร้อมกับเตือนว่า อย่าทำตัวเป็นเครื่องมือให้ไต้หวัน ซึ่งเป็นมณฑลหนึ่งของจีน นำมาใช้เรียกร้องเอกราช อันเป็นการก้าวเดินบนเส้นทางที่ผิดพลาด
รัฐบาลลิทัวเนียมีแผนเปิดสำนักงานการค้าในกรุงไทเปเดือนหน้า แต่ปากก็ยืนยันว่า นี่มิได้เป็นการละทิ้งนโยบายประเทศจีนเดียวของอียู ซึ่งยอมรับปักกิ่งเป็นรัฐบาลอันชอบด้วยกฎหมายของประเทศจีนแต่เพียงผู้เดียว
นักการเมืองยุโรปแห่ไปเยือนไต้หวันกันอย่างเกรียวกราว ทั้งที่สถานเอกอัครราชทูตจีนในชาติแถบยุโรปเตือนนักเตือนหนาว่า เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศแดนมังกร ปรามนักการเมืองจากชาติอื่นๆ เมื่อวันพฤหัสฯ (11 ส.ค.) ว่า อย่าเจริญรอยตาม “การดำเนินงานทางการเมือง” ของนางเพโลซี เพราะมันจะบ่อนทำลายรากฐานการมีส่วนร่วมกับจีน
ทั้งนี้ แม้นายโจเซฟ บอร์เรลล์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายการต่างประเทศของอียู แสดงความวิตกเรื่องที่จีนยิงขีปนาวุธไปตกในน่านน้ำ ซึ่งญี่ปุ่นอ้างว่า เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (EEZ) ของตน และคำพูดของนายบอร์เรล คือกระจกเงาสะท้อนแถลงการณ์ของชาติจี-7
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้อียู ตลอดจนรัฐบาลชาติสมาชิกยังคงนิ่งเงียบ ไม่ปริปากแสดงความเห็นกรณีนางเพโลซี และการซ้อมรบของจีน
เจ้าหน้าที่อียูในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียมหลายคนให้ความเห็นส่วนตัว โดยยอมรับว่า มองไม่เห็นข้อดีสักเท่าใดที่จะโดดร่วมวงโต้แย้งในประเด็นอ่อนไหวมากๆ
สถานการณ์ซึ่งไม่มีทางออกระหว่างสหรัฐฯ กับจีนขณะนี้ มองกันทั่วไปว่า เป็นเรื่องของชาติทั้งสอง คนอื่นไม่เกี่ยว ซึ่งอียูยังไม่มีการประกาศใดๆ นอกจากจับตามองผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน
จุดยืนของอียูแตกต่างจากอังกฤษ ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศหญิง ลิซ ทรัสส์ ได้เรียกเอกอัครราชทูตจีนมาชี้แจงการกระทำของปักกิ่ง
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นระหว่างจีนกับสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า อียูต้องเตรียมตัวสำหรับเรื่องช็อกต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นวันข้างหน้าในภูมิภาคแห่งนั้น นอกจากนั้น จำเป็นต้องหาวิธีการทำงานร่วมกับไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรมในด้านภาคประชาสังคม โดยหลีกเลี่ยงการยัดไส้ประเด็นการเมือง ซึ่งมีความอ่อนไหวเสีย
ข้อมูลจากเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์