xs
xsm
sm
md
lg

จีนใช้แร่หายากสร้างทางรถไฟแม่เหล็ก “สายรุ้ง” นำทางด้วยดาวเทียมเป่ยโต่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


(แฟ้มภาพซินหัว : ระบบขนส่งแมกเลฟของจีนในนครชิงเต่า มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน วันที่ 20 ก.ค.2021)
เมื่อวันอังคาร (9 ส.ค.) จีนเสร็จสิ้นการก่อสร้างทางรถไฟสายทดลองที่พัฒนาขึ้นอย่างอิสระสายแรกของประเทศ โดยใช้เทคโนโลยีแรงยกตัวของแม่เหล็กไฟฟ้าถาวร (PML) จากแร่ธาตุหายาก

ทางรถไฟพลังงานแม่เหล็กหรือแมกเลฟ (maglev) สายนี้ ได้รับการตั้งชื่อว่า “สายรุ้ง” (Rainbow) มีความยาวราว 800 เมตร ถูกสร้างขึ้นในอำเภอซิงกั๋ว มณฑลเจียงซีทางตะวันออกของจีน

ทางรถไฟสายทดลองดังกล่าว ซึ่งร่วมพัฒนาโดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเจียงซี ไชน่า เรลเวย์ ลิ่วย่วน กรุ๊ป (CRL Group) บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ไฮ-เทค อินดัสทรี จำกัด และศูนย์นวัตกรรมวัสดุแร่ธาตุหายากที่ใช้งานได้จริงแห่งชาติจีน สามารถถูกนำไปปรับใช้เพื่อรองรับรถไฟลอยฟ้าที่มีความเร็วและปริมาตรระดับปานกลางและต่ำ

ปัจจุบันระบบรางดังกล่าว ซึ่งมีความเร็วออกแบบสูงสุดที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถให้บริการรถไฟแมกเลฟ 2 ตู้ ที่บรรทุกผู้โดยสาร 88 คน โดยระบบขนส่งนี้ติดตั้งระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว (BeiDou) เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีการตรวจจับอัจฉริยะด้วย

ทางรถไฟนี้ที่มาพร้อมเทคโนโลยีแรงยกตัวของแม่เหล็กไฟฟ้าถาวรจากแร่หายาก สามารถทำให้รถไฟอยู่ในสถานะลอยตัว ซึ่งประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เฉินกั๋วต้ง ผู้จัดการทั่วไปของไชน่า เรลเวย์ ลิ่วย่วน กรุ๊ป กล่าวว่าทางรถไฟดังกล่าวเป็นรูปแบบการขนส่งทางรางที่คุ้มค่า และสามารถใช้งานได้ในหลากหลายสถานที่ อาทิ จุดชมวิว จุดเชื่อมต่อสนามบิน ศูนย์ธุรกิจ และเมืองเล็กๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น