เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ - การซ้อมรบของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนรอบเกาะไต้หวัน สั่งสอนกรณีนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เยือนไทเป ได้ส่งแรงกระเพื่อมถึงธุรกิจข้ามชาติบนแดนมังกรน้อยแล้ว
นักวิเคราะห์ระบุว่า แม้จนถึงขณะนี้ยังไม่มีบริษัทใดคิดจะอพยพออกจากไต้หวัน แต่การซ้อมรบของจีนก็ทำให้บางบริษัทเริ่มวางแผนฉุกเฉิน หรือปัดฝุ่นแผนการที่มีอยู่เดิม ในการรักษาความปลอดภัยให้ทีมงานและการปกป้องทรัพย์สิน หากเกิดสงครามเปรี้ยงปร้างขึ้นมา หรือไต้หวันถูกปิดล้อมทางทหาร
นายรูเพิร์ต แฮมมอนด์-แชมเบอร์ส ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-ไต้หวันชี้ว่า ความไม่แน่ใจเกี่ยวกับสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน และการขาดทางเลือกที่ดี หากห่วงโซ่อุปทานของบริษัทถูกตัดขาด ทำให้สถานการณ์ในสายตาบริษัทต่างชาติยิ่งทวีความตึงเครียด บริษัทต่างชาติกำลังติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมหาทางหนีทีไล่
บริษัท 7 รายในกลุ่มบริษัทชั้นนำ 500 ราย ซึ่งจัดอันดับโดยนิตยสารฟอร์จูน ได้ขอให้โกลบอลการ์เดียน (Global Guardian) บริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคงทางธุรกิจของสหรัฐฯ ร่างแผนคร่าวๆ ว่ามีชนวนสาเหตุอะไรได้บ้างที่บริษัทควรตัดสินใจถอนบุคลากร ระบบพื้นฐาน และทรัพย์สินของบริษัทออกมา จากการเปิดเผยของ นายเดล บักเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโกลบอลการ์เดียน เขาบอกว่า บางบริษัทจริงจังกับเรื่องนี้มาก เพราะไม่อยากสูญทรัพย์สินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ แบบเดียวกับที่เพิ่งเจอมาในรัสเซีย
บริษัทวิจัยการตลาด สตาติสตา ( Statista) ระบุว่า บริษัทข้ามชาติอย่างน้อย 37 ราย ตั้งแต่บริษัทด้านพลังงาน ไปจนถึงธนาคาร และผู้จำหน่ายรถยนต์ สูญเงินไปบริษัทละประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ-24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากผลพวงการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน
แน่นอนว่า การซ้อมรบของจีนทำให้บริษัทต่างชาติเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น และการปะทะระหว่างจีนกับไต้หวันก็มีโอกาสเกิดมากขึ้นไม่ว่าจะด้วยตั้งใจ หรือด้วยอุบัติเหตุ
อย่างไรก็ตาม คาดว่าบริษัทต่างชาติจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับธุรกิจการลงทุนในไต้หวันในระยะเวลาอันใกล้ ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ-ไต้หวันระบุว่า ยังไม่มีบริษัทที่เป็นสมาชิกของสภารายใด กำลังพิจารณาอย่างจริงจังเกี่ยวกับการย้ายออกจากไต้หวัน
เขามองว่า การลงทุนในไต้หวันจะดำเนินต่อไปด้วยปัจจัยเอื้ออำนวยหลายอย่าง เช่น การให้ความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างดีเลิศของไต้หวัน หรือการมีพันธกรณีด้านการวิจัยและพัฒนา
ในมุมมองของนายจอห์น อีสต์วูด ซึ่งเป็นหุ้นส่วนของบริษัทด้านกฎหมาย ไอเกอร์ (Eiger) ในกรุงไทเป มีการประเมินของบริษัทต่างชาติว่า จีนยังไม่พร้อมบุกไต้หวันตอนนี้ การบุกข้ามทะเล ซึ่งห่างกันประมาณ 145 กิโลเมตร จำเป็นต้องเตรียมการด้านโลจิสติกส์กันสักหน่อย ซึ่งบริษัทต่างชาติน่าจะทราบความเคลื่อนไหวล่วงหน้าได้จากดาวเทียม หรือเทคโนโลยีอื่นๆ ของบริษัท และจากนั้นพวกชาวต่างชาติจะหอบครอบครัวกลับประเทศด้วยเที่ยวบินพาณิชย์ โดยไม่รอให้การยิงต่อสู้เริ่มขึ้น สงคราม หรือการปิดล้อมทางทหารจะทำให้บริษัทสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีการเจรจาสัญญาการลงทุนกันใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงข้อผูกมัด และเพื่อให้สัญญามีความครอบคลุมต้นทุนด้านการขนส่งและการประกันภัยที่เพิ่มขึ้น
นายอีสต์วูด ชี้ว่า บริษัทของสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งจัดส่งเครื่องจักรและอุปกรณ์ป้อนภาคอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดในโลก ด้วยมูลค่า 115,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น อาจเดือดร้อนบ้างเล็กน้อย หลังจากย้ายทรัพย์สินและบุคลากรออกไป
ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนคิดว่า ถ้าจีนยึดไต้หวันจริง บริษัทต่างชาติก็ไม่เห็นจำเป็นจะต้องย้ายออกจากไต้หวัน และทางการจีนไม่น่าจะยึดทรัพย์สินของบริษัทต่างชาติ เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้จีนถูกตอบโต้ด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่รุนแรงได้
ทั้งนี้ ความล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีของไต้หวันดึงให้บริษัทต่างชาติ เช่น ไมโครซอฟท์ และกูเกิล เข้ามาพึ่งพามากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนบริษัทแอปเปิลเองก็อาศัยบริษัทมังกรน้อยผลิตชิ้นส่วนและการประกอบเครื่องไอโฟน
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ไต้หวันนั้น ช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ปี 2565 มีต่างชาติเข้ามาลงทุน 729 โครงการ มีมูลค่ารวมกัน 3,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 2 เท่า
นอกจากนั้น ข้อมูลในเว็บไซต์ “เทรดดิง อีโคโนมิกส์” ต่างชาติมีการเข้ามาลงทุนโดยตรงเฉลี่ย 569,950 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงปี 2539-2565
ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นได้ว่าเกาะไต้หวันเป็นแหล่งลงทุนที่มีความสำคัญสำหรับบริษัทต่างชาติมากเพียงใด