xs
xsm
sm
md
lg

เจาะเบื้องหลัง 'BYD VS Tesla' ในศึกพิชิตมงกุฎเจ้าสถิติยอดขายรถยนต์พลังใหม่อันดับ 1 ของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘BYD Qin PLUS DM-I’ รถรุ่นขายดีที่สุดของค่ายรถยนต์พลังงานใหม่สัญชาติจีน BYD ในภาพ : รถยนต์คันแรกออกจากสายการประกอบของโรงงานบีวายดี ในนครเหอเฝย เมืองเอกของมณฑลอันฮุย โดยโรงงานในเหอเฝย จะช่วยอัดฉีดความสามารถการผลิตรถให้ BYD ในครึ่งปีหลังของปี 2022 (แฟ้มภาพซินหัว)
ในสังเวียนแข่งขันของภาครถยนต์พลังงานใหม่ ค่ายรถยนต์สัญชาติจีน บีวายดี (BYD) เพิ่งประกาศเป็นผู้พิชิตมงกุฎเจ้าสถิติยอดขายรถยนต์พลังใหม่อันดับ 1 ของโลก หลังจากที่ตัวเลขยอดขายรถทั่วโลกช่วงครึ่งปีแรกของปี 2022 สูงถึง 641,400 คัน คิดเป็นอัตราเพิ่มเท่ากับ 315 เปอร์เซ็นต์ ของช่วงเวลาเดียวกัน

ขณะที่ค่าย เทสลา (Tesla) สัญชาติอเมริกัน ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘เทพแห่งรถยนต์พลังงานใหม่’ ทำยอดส่งมอบรถทั่วโลกในช่วงครึ่งปีแรกได้เท่ากับ 564,700 คัน เทียบกับยอดส่งมอบ 386,200 คัน ในครึ่งปีแรกของปี 2021 คิดเป็นอัตราเติบโตที่เพิ่มขึ้น 46 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าเป้ายอดขาย 50 เปอร์เซ็นต์ ที่ซีอีโอเทสลา อีลอน มัสก์ ตั้งไว้

กลุ่มสื่อจีนตีฆ้องร้องป่าวว่าเป็นครั้งแรกที่รถยนต์พลังงานใหม่สัญชาติจีน แซงหน้า Tesla ในด้านยอดขายรถยนต์

สำหรับยอดขายรถพลังงานใหม่ภายในปี 2022 นี้ BYD ได้ตั้งเป้าไว้ที่ระหว่าง 1.1 ล้านคัน ถึง 1.2 ล้านคัน โดยแบ่งเป็นเป้ายอดขายรถประเภทต่างๆ ได้แก่ รถ BEV (Battery Electric Vehicle) ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อนล้วนๆ เท่ากับ 600,000 คัน ส่วนรถประเภท PHEV (Plug-In Hybrid Electric Vehicle) ซึ่งเป็นรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดที่ใช้พลังงานขับเคลื่อนทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง และมอร์เตอร์ไฟฟ้า เท่ากับ 500,000 ถึง 600,000 คัน

ด้านธนาคาร CitiBank คาดการณ์ยอดขายรถพลังงานใหม่ของ BYD ปี 2022 น่าจะสูงถึง 1.3 ล้านคัน ขณะที่บางสำนักคาดการณ์สูงถึง 1.5 ล้านคัน

‘BYD Dolphin’  รถยนต์ไฟฟ้า 100%  ที่ลงตลาดในประเทศจีนเมื่อปี 2021
สำหรับปีนี้ดูเป็นปีเคราะห์ซ้ำกรรมซัดของ Tesla จากต้นปีถูกโรคระบาดโควิด-19 ในเซี่ยงไฮ้พ่นพิษเข้าอย่างจัง โดยช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย. โรงงานกิกะแฟกทอรีของเทสลาต้องหยุดการผลิตรวม 24 วัน สร้างความเสียหายให้การผลิตรถยนต์เทสลา ราว 40,000 คัน (คำนวณความสามารถการผลิตโดยเฉลี่ย 2,000 คันต่อวัน) ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งมอบรถเทสลาในครึ่งปีแรกไม่น้อย และเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ในครึ่งปีแรกนี้ BYD ทำยอดขายรถนำ Tesla เกือบ 80,000 คันอย่างลอยลำ

มองจากตัวเลขส่งมอบรถ ยอดส่งมอบรถ Tesla ทั่วโลกโดยเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกลดลง 18 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ส่วนต่าง 4 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายส่งมอบรถ 50 เปอร์เซ็นต์ ของเทสลา หมายถึงว่าในครึ่งปีหลังนี้ความกดดันในการส่งมอบรถของเจ้ารถยนต์ไฟฟ้าอเมริกันรายนี้ยิ่งมีมาก

Colin Langan นักวิเคราะห์ประจำ Wells Fargo & Company กล่าวว่า “ผมมองว่าการบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ 50 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นไปได้ยาก สถานการณ์ในครึ่งปีหลังนี้ยากลำบากมาก ขณะที่ Morgan Stanley ชี้ว่า การขยายโรงงานที่เบอร์ลินมีปัญหาน่าห่วง โรงงานเทสลาในเยอรมนีอาจมีปัญหาซับซ้อนมากกว่าที่ใครๆ คาดคิด

เบื้องหลังของการขยายปริมาณยอดขายคือการปล่อยความสามารถการผลิตอย่างเต็มที่ ก่อนหน้านี้บริษัทรถยนต์ต้องเผชิญปัญหาจากมาตรการควบคุมโรคระบาด และห่วงโซ่อุปทาน

ซีอีโอเทสลา อีลอน มัสก์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ว่า อุปสรรคใหญ่สุดในการเติบโตของเทสลา คือ ข้อจำกัดของซัปพลาย ไม่ใช่การแข่งขันจากคู่แข่ง


อีลอน มัสก์ ซีอีโอของเทสลากล่าวสุนทรพจน์ในพิธีส่งมอบรถเทสลา โมเดล 3 ที่ผลิตในจีน พร้อมเปิดตัวโครงการผลิตรถโมเดล วาย ณ มหานครเซี่ยงไฮ้  ภาพเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2020 (แฟ้มภาพซินหัว)
เทสลา พยายามลดแรงกดดันห่วงโซ่อุปทาน โดยโรงงานกิกะแฟกทอรีในเซี่ยงไฮ้ได้ใช้ระบบควบคุมแบบปิด หลังจากที่เซี่ยงไฮ้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ในช่วง 10 วันแรกของเดือน มิ.ย. อัตราการใช้ความสามารถการผลิตได้ฟื้นขึ้นมาถึง 100 เปอร์เซ็นต์ และเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาก็เป็นเดือนที่มีการใช้ความสามารถการผลิตสูงสุดในประวัติศาสตร์เทสลา นอกจากนี้ เทสลายังมีแผนที่เพิ่มความสามารถการผลิตในจีน ผู้บริหารในเทสลา เปิดเผยว่า ในปี 2021 ครึ่งค่อนของจำนวนรถยนต์ที่ส่งมอบให้ลูกค้าทั่วโลกมาจากโรงงานในจีน

ด้วยภาวะขาดแคลนแบตเตอรี่และปัญหาข้อจำกัดซัปพลายเครื่องมืออุปกรณ์การผลิตแบตเตอรี่ ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์คันใหม่ในสหรัฐฯ และเยอรมนี เผชิญอุปสรรคในการเพิ่มการผลิตรถจนขาดทุนย่อยยับถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ มัสก์ กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ว่า “การหยุดชะงักของห่วงโซ่ซัปพลายใน 2 ปีที่ผ่านมานี้เป็นฝันร้าย ปัญหาประเดประดังเข้ามาไม่หยุด ขณะนี้เรายังตกอยู่ในสภาพลำบาก”

ขณะที่เทสลาต้องพึ่งพิงโรงงานกิกะแฟกทอรีในเซี่ยงไฮ้ ในช่วงครึ่งปีแรกนี้โรงานหลายแห่งของ BYD ทุ่มเทการผลิตแบบไม่หยุดหย่อน ในเดือน มี.ค.ทั้งยอดขายและการผลิต เพิ่มกระฉูด 100,000 คัน

ปลายเดือน มี.ค. ผู้สื่อข่าวอ้างอิงข้อมูลจากการประชุมผู้ร่วมลงทุนใน BYD เผยว่าปริมาณออดอร์รถที่ยังไม่ส่งมอบมียอดสะสมมากถึง 4 แสนคัน และยังเพิ่มขึ้นๆ ในเดือนต่อมา จนในวันที่ 3 เม.ย. BYD ประกาศหยุดการผลิตรถพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งหมายความว่า BYD ได้หันมาทุ่มเทให้การผลิตรถพลังงานใหม่แทน

โรงงานเซี่ยงไฮ้ กิกะแฟกทอรีของเทสลา นครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน ภาพเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2020 (แฟ้มภาพซินหัว)
เมื่อสถานการณ์โรคระบาดในประเทศจีนดีขึ้น ยอดขายรถ BYDในเดือน มิ.ย.สูงถึง 134,000 คัน ทุบสถิติประวัติศาสตร์ยอดขายรถของบริษัท ในวันที่ 30 มิ.ย. รถยนต์ที่ประกอบเสร็จทั้งคันคันแรกของฐานผลิตรถยนต์ BYD ในเมืองเหอเฝยก็ลงจากสายการผลิต รถที่ผลิตในฐานการผลิตที่เมืองเหอเฝยคือรถรุ่นขายดีที่สุด Qin PLUS DM-I และที่นี่จะช่วยอัดฉีดความสามารถการผลิตของ BYD ในครึ่งปีหลัง

แม้ยอดขายรถพลังงานใหม่ของ BYD ไล่กวดทันเทสลา แต่ผลกำไรยังไปไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าหงายหน้าอ้าปากได้ กิจการรถยนต์ของ BYD มีอัตรากำไรขั้นต้น จากปี 2020 ซึ่งเท่ากับ 25.2 เปอร์เซ็นต์ ลดลงมาที่ 17.39 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2021 ขณะที่รายงานการเงินของเทสลา ระบุว่าในปี 2021 อัตรากำไรขั้นต้นของเทสลาเท่ากับ 29.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2020 คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 3.7 เปอร์เซ็นต์

รายงานสำรวจของตลาดหลักทรัพย์ เผยสาเหตุหลักที่อัตรากำไรขั้นต้นของ BYD ลดลงเป็นเพราะราคาวัตถุดิบสูงขึ้น BYD ได้บูรณาการการผลิตรถทั้งคันและชิ้นส่วนสำคัญเข้าด้วยกัน ทำให้เมื่อราคาวัตถุดิบแพงขึ้นก็เพิ่มแรงกดให้ค่าใช้จ่ายการจัดซื้อจัดจ้าง ขณะที่เทสลามีพลังในการต่อรองราคาในห่วงโซ่ซัปพลายที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ บางบริษัทห่วงโซ่ซัปพลายได้ใช้นโยบาย “ล็อกราคา 3 ปี” จึงสามารถได้ราคาที่ต่ำ


เกี่ยวกับ BYD

BYD (ย่อมาจาก Build Your Dreams) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น มีฐานประกอบการในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 ผู้ก่อตั้งคือ นายหวังฉวนฝู ทำธุรกิจในภาครถยนต์ รถระบบราง พลังงานใหม่ และอิเล็กทรอนิกส์

ปี 2003 BYD กลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟใหม่ได้รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ใน ม.ค. ปีเดียวกันนี้ได้ก่อตั้ง BYD Auto โดยมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองซีอัน มณฑลส่านซี อนึ่ง Tesla ก่อตั้งใน 2003 (เดือน ก.ค.) เช่นกัน หรือเมื่อ 19 ปีที่แล้ว

ขณะนี้ BYD กลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ใหญ่สุดในโลก ด้วยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า EV เท่ากับ 641,000 คัน ในไตรมาสแรกของปี 2022 และเป็นผู้ผลิตรถยนต์ BEV and PHEV รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก โดยครองส่วนแบ่งตลาดโลกที่ 9.1 เปอร์เซ็นต์ and 7 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ในปี 2021 มีตลาดขายรถหลักๆ ในแผ่นดินใหญ่ ต่อมาสยายปีกอย่างรวดเร็วสู่ตลาดโลก ด้วยยอดขายกว่า 100,000 คันต่อเดือนในเดือนมี.ค.2022


กำลังโหลดความคิดเห็น